xs
xsm
sm
md
lg

คำถามพ่วงสปท.ขัดหลักการ มีชัยเตือนสนช.รอบคอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"มีชัย" งง คำถามพ่วงประชามติของ สปท. เรื่องให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ชี้ขัดแย้งหลักการ ร่าง รธน. เตือน สนช.พิจารณาให้รอบคอบ ก่อนตัดสินใจ หวั่นทำสับสน หากร่างผ่านประชามติ แต่ต้องมาแก้ตามคำถามพ่วง "พีระศักดิ์" ค้านตั้งคำถามพ่วง ขณะที่ "พรเพชร" ชมคำถามตรงประเด็น แต่ สนช.จะถามหรือไม่ 7 เม.ย.นี้รู้ผล

วานนี้ (3เม.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) มีมติส่งคำถามพ่วงประชามติ ร่างรธน. ประเด็น ให้ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าต้องการให้แก้ไขในบทเฉพาะกาล หรือแก้ข้างในรธน. จึงตอบไม่ได้ อีกทั้งเมื่อ สปท. มีมติแล้วในเรื่องนี้แล้ว ยังต้องส่งให้สนช.พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่า จะมีการตั้งคำถามพ่วงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบัญญัติในรธน. ก็ต้องกลับมาแก้ เพราะในรธน.ชั่วคราว ให้เวลาไว้ 30 วัน หากแก้เฉพาะบทเฉพาะกาล ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าแก้เนื้อหาข้างใน อาจเป็นปัญหาได้ว่า ประชาชนลงประชามติร่าง ดังกล่าวแล้ว แต่จะเอาอันนี้ด้วย ตกลงจะเอาอย่างไร จึงต้องทำให้ชัดเจนก่อนไปลงประชามติ ซึ่งคนตั้งคำถาม ต้องคิดให้ละเอียด

"หากผลสรุปประชามติออกมาอย่างไร กรธ.ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะขัดขืนอะไรได้ แต่ขั้นตอนประชามติ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เสียงข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศแบบไหนก็ไม่มีใครควบคุมได้ เนื่องจากลงคะแนนโดยอิสระเสรี และเป็นความลับ จึงไม่มีใครควบคุมได้ ซึ่งขณะนี้ก็มีการรณรงค์ให้คว่ำรธน.แล้ว ส่วนที่คนในรัฐบาลออกมาเตือนว่า อาจขัดกฎหมาย ก็คงเป็นแค่คำเตือนเฉยๆ แต่ต้องดูกฎหมายประชามติให้ดีๆ ว่าเป็นอย่างไร" นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ยังไม่หนักใจว่า จะต้องแก้ไขร่างรธน. ขัดหลักการที่วางไว้หรือไม่ เพราะเรื่องยังไม่เกิด โดยขั้นตอนต่อไป ในการทำกฎหมายลูก จะไม่เกินกรอบที่กำหนดตามโรดแมป เพราะเขียนในรธน.แล้วว่า ดำเนินการเลือกตั้งได้ เมื่อกม.ประกอบรธน. 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องเสร็จ กรธ.ก็ต้องเริ่มต้นทำ 4 ฉบับนี้ก่อน ค่อยไปทำอย่างอื่น จึงไม่น่าจะเลยเวลาที่กำหนด ซึ่งในขณะนี้กำลังหารือว่า จะมีหนังสือถึงองค์กรอิสระ กับศาลรธน. ให้ร่างกฎหมายสอดคล้องกับร่างรธน. เมื่อผ่านประชามติ จะได้ลงมือทำได้เลย เพราะจะมีเวลาอยู่ 3-4 เดือน เมื่อส่งให้ กรธ.ก็จะพิจารณาได้ง่ายขึ้น

โดยเราจะเอาของเขามาเป็นฐาน จะเปลี่ยนแปลงเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องให้สอดคล้องกับรธน. เท่านั้น โดยขั้นตอนต่อจากนี้ กรธ.จะสรุปร่างรธน. ส่งให้ กกต. ก่อนวันที่ 13 เม.ย.นี้ ทั้งนี้ กรธ.จะทำหน้าที่ในการเผยแพร่ร่างรธน.ด้วย เพราะเป็นผู้ยกร่าง ซึ่งจากผลสำรวจความเห็นประชาชน พบว่า กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ทราบว่าร่างรธน. เสร็จแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูบทสรุปของกม.ประชามติก่อน ว่าออกมาอย่างไร โดยอยากให้ทุกฝ่ายบอกข้อมูลที่แท้จริง อย่าเอาข้อมูลไปผสมกับความเห็น เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ใช้ดุลพินิจตัดสิน เพราะ กรธ. ก็ไม่ได้ให้โหวตรับ บอกแค่ว่า ประชาชนได้อะไรจากร่าง รธน.นี้

นายมีชัย ยังกล่าวถึง ร่างรธน. ที่เปิดช่องให้วุฒิสภา ร่วมพิจารณากม. ทีเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ว่า ต้องเป็นกม.ที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ดำเนินการอยู่ต้องสะดุดลง ซึ่งในส่วนของกม.นิรโทษกรรม อาจจะเกี่ยว หรือไม่เกี่ยวก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่านิรโทษ หรือล้างมลทิน อะไร เช่น การล้างมลทินโดยกม.ล้างมลทิน เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น ในปีหน้าพระบาทาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 90 ชันษา อาจจะมีก็ได้ ส่วนกม.ประกอบรธน.เกี่ยวกับศาลรธน. และ ป.ป.ช. แม้ว่าจะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย จึงไม่เข้าข่ายที่ ส.ว.จะร่วมพิจารณา แต่ถ้ามี

ความสงสัยว่า เรื่องไหนต้องให้ ส.ว.ร่วมพิจารณา ก็ไปถามศาลรธน.ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีใครคิดอะไรพิสดาร หรือไม่

"การกำหนดเรื่องนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเหมือนคราวที่แล้ว ไม่ใช่เปิดช่องอะไร โดยเจตนา คือ ไม่ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายที่กระทบกระเทือนกับการดำเนินคดีของฝ่ายตุลาการ โดยคาดหวังว่า วุฒิสภาจะร่วมพิจารณาให้ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม แต่ถ้าออกมาในทิศทางตรงกันข้าม ส.ว. ก็ต้องรับผิดชอบ" นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย ยังกล่าวถึง เนื้อหาในมาตรา 279 ที่บัญญัติคุ้มครองการกระทำของคสช. หรือ ของหัวหน้าคสช. ที่ใช้บังคับอยู่ ในวันก่อนวันประกาศใช้รธน.นั้น ไม่ได้หมายความว่า คำสั่งเหล่านี้จะยกเลิกไม่ได้ โดยรัฐบาลใหม่สามารถออกกม.ยกเลิกได้ หรือหากพบว่า มีคำสั่งใดที่อาจมีปัญหาเมื่อรธน.ประกาศใช้ ก็ต้องให้ศาลรธน.วินิจฉัย เพราะหากขัดรัฐรธน. ก็บังคับใช้ไม่ได้

** ชี้คำถามพ่วง สปท. มีนัยแอบแฝง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ที่ประชุม สปท. มีมติส่งคำถามประเด็นให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในคำถามพ่วงการออกเสียงประชามติร่างรธน. ว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการออกเสียงประชามติ ร่าง รธน.โดยตรง เพราะ

1.ไม่ควรเป็นคำถามที่กระทบต่อกระบวนการตัดสินใจของประชาชน ต่อการออกเสียงประชามติร่าง รธน. 2.ไม่ควรพ่วงคำถามประเด็นเชิงถามความเห็นมาสอบถามประชาชน การออกเสียงประชามติร่างรธน. เพื่อให้ประชาชนออกเสียงว่า เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ กับการถามความเห็น ควรแยกออกจากกัน

3. ควรเป็นคำถามในประเด็นหรือเรื่องที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง หรือมีผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ ที่ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ 4.ควรคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

ส่วนกรณีที่ รองปธ.กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติร่างรธน. บอกว่า ฝ่ายการเมืองต้องไม่บิดเบือนเนื้อหา เช่นไปพูดโจมตีข้อบกพร่อง ร่างรธน. 2-3 มาตรา แล้วไปเหมารวม ทั้งที่รธน. มีเป็นร้อยมาตรา ว่าเป็นร่างไม่ดีทั้งฉบับ อาจเป็นการเข้าข่ายบิดเบือน หลอกลวงให้คนเข้าใจผิด มีโทษหนักจำคุกสูงสุด 10 ปี ตนมองว่า การที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับรธน. 2-3 มาตรา พร้อมกับการบอกว่า รธน. ไม่ดีทั้งฉบับ ไม่น่าจะเป็นการเข้าข่ายบิดเบือน หลอกลวง แต่อย่างใด เพราะรธน. 2-3 มาตรา ที่บกพร่องอาจเป็นมาตราสำคัญ การจะรับ หรือไม่รับรธน. เพราะ 2-3

มาตรานั้น จึงไม่น่าจะเป็นความผิด รวมถึง มาตรา 62 ของ ร่าง พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติ ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง" น่าจะเป็นข้อความที่ยากแก่การตีความ เพราะถ้ามีผู้บอกว่า การมีส.ว.สรรหา โดยคสช. ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย การมีผู้กล่าวเช่นนี้ จะถือว่าพูดผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือไม่ และถ้าถือว่าเป็นความผิด ผู้ถูกกล่าวหา ว่าผิดจนถูกลงโทษ คงยากที่จะยอมรับได้ จึงขอฝาก สนช. พิจารณาให้รอบคอบ เพราะกม.ประชามติ เป็นกลไกที่มีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการยอมรับผลของการออกเสียงประชามติ ร่างรธน. ครั้งนี้ เช่นกัน

** "พีระศักดิ์" ค้านตั้งคำถามพ่วง

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 2 (สนช.) กล่าวถึง ประเด็นคำถามของ สปท. ที่ให้ส.ว.สรรหา ร่วมโหวตเลือกนายกฯว่า ส่วนตัว ไม่เห็นด้วย ควรเป็นเรื่องของส.ส. เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบาย และ ต้องเสนอชื่อนายกฯ จำนวน 3 คน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองไหน ซึ่ง ส.ส. ที่เป็นคนดี รักชาติบ้านเมืองก็มี อย่าไประแวงกันมาก

อย่างไรก็ตาม จะมีคำถามพ่วงหรือไม่ ก็ขึ้นกับมติ สนช. แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย ที่จะมีการตั้งคำถาม เพราะจะทำให้ประชาชนสับสน ซึ่งประชาชนควรให้ความสนใจเรื่องของการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว
เมื่อถามต่อว่า มองสถานการณ์การเมืองขณะนี้อย่างไร เพราะมีทั้งฝ่ายที่รณณรงค์รับ และไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิของแต่ละฝ่าย แต่ตนอยากให้บ้านเมืองเดินไปตามกฎกติกา หากประชามติผ่าน มีการเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาล เชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชนอยากให้บ้านเมืองเดินหน้า แต่ในเรื่องของรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร คงจะเป็นเหมือนที่นายวิษณุพูดไว้ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขก่อนหรือหลังการทำประชามติ แต่ถ้าหลังประชามติไม่ผ่าน เป็นหน้าที่ของคสช.จะพิจารณา

"เชื่อว่า คงไม่มีความขัดแย้ง เพราะทุกอย่างเดินไปตามกระบวนการ และตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 และเสียงเรียกร้องของพรรคการเมือง และประชาชน ที่ต้องการให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ผมมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลักการใช้ได้ อะไรที่เป็นเงื่อนไข ก็นำไปเขียนอยู่ในบทเฉพาะกาล คนชอบพูดถึงหลักการกับสถานการณ์ เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนนี้ก็ต้องผสมผสานกัน เพราะไม่ใช่สถานการณ์ปกติ" นายพีระศักดิ์ กล่าว

** 7 เม.ย.รู้ผลจะมีคำถามพ่วงหรือไม่

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประะธาน สนช. กล่าวถึงการเสนอคำถามพ่วงประชามติ ว่า ในวันที่ 7 เม.ย.จะได้คำตอบว่า สนช.จะตั้งคำถามหรือไม่ ซึ่งต้องนำข้อเสนอของสปท. มาร่วมพิจารณาด้วยว่าเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ ตนไม่ขอวิจารณ์ เพราะจะเป็นการชี้นำ สนช. เพราะขณะนี้ สนช.ก็มีความคิดหลากหลาย แตกต่างกันไป แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

สำหรับคำถามของสปท. ที่เสนอว่าให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปีเปลี่ยนผ่านนั้น นายพรเพชร เห็นว่า เป็นการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำหนดแนวทางของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องดำเนินต่อไป ซึ่งเป็นคำถามที่ตรงประเด็นถูกต้อง เพราะมีประเด็นเดียว จะไปถามอย่างอื่น คงไม่ได้ แต่ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า ตนเห็นด้วยหรือเห็นชอบ คงต้องฟังความเห็นของสนช.ด้วย ทั้งคำถามต้องตรงประเด็น ไม่ต้องตีความกันมาก ตั้งมาแล้วประชาชนต้องเข้าใจทันที.
กำลังโหลดความคิดเห็น