ปธ.กรธ.เผยคำถามพ่วงประชามติให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ถ้าผ่านก็ต้องปรับแก้ ก่อนส่งศาล รธน.ตรวจสอบ โยน สนช.แจงเขียนลักษณะใด คาด 3 เดือนหลังประชามติประกาศใช้ รธน.ได้ รับไม่กังวล กรธ.ไปชี้แจง รธน. แต่อย่าบิดเบือนก่อกวน มอง กม.ประชามติยังไม่สมบูรณ์ แย้มอาจปรับแก้อีก ไม่ตอบทางแก้หากคำถามพ่วงทำเกิดวิกฤต
วันนี้ (8 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบคำถามของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในประเด็นการให้ ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรก โดยจะพ่วงไปกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ขึ้นอยู่กับว่าตัวคำถามจะผ่านประชามติผ่านหรือไม่ ถ้าผ่านก็ต้องแก้ ต้องดูว่าญัตติที่จะไปขอความเห็นชอบจากประชาชนเขาเขียนว่าอย่างไร ถ้าเขียนชัดเจนก็เป็นการง่ายต่อ กรธ.ที่จะไปปรับแก้ อย่างไรก็ตาม พอแก้ไขเรียบร้อยแล้วก็ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าสอดคล้องกับผลของประชามติหรือไม่ ถ้าสอดคล้องก็เดินหน้าแก้ไขเนื้อหา แต่ถ้าไม่ก็ต้องกลับไปแก้ไขก่อนที่จะเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าคำถามระบุเพียงให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ คนเสนอชื่อก็ยังเป็น ส.ส. แต่ถ้าเขียนในลักษณะที่ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการเสนอชื่อนายกฯ นั้นก็แก้แต่เพียงในส่วนของการเลือกนายกฯ เท่านั้น ไม่ได้แก้ในส่วนอำนาจของ ส.ว. ซึ่งกรณีนี้เป็นหน้าที่ของ สนช.ที่จะต้องชี้แจง กรธ.จะไปชี้แจงเพียงแค่เนื้อหาสาระสำคัญและบทเฉพาะกาลเท่านั้น ส่วนข้อกังวลถึงความปลอดภัยของ กรธ. ในระหว่างการไปชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็จะได้บอกกับผู้เกี่ยวข้อง แต่ในเบื้องต้นไม่มีอะไรที่จะต้องกังวล อีกทั้งยืนยันว่ารัฐบาลไม่ห้ามให้ประชาชนแสดงความเห็นแต่ต้องอยู่บนความถูกต้อง อย่าบิดเบียนหรือก่อกวน
“กรธ.พร้อมปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลภายใน 30 วัน หากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติ หลังจากนั้นจะส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความสิ่งที่ กรธ.ได้แก้ไข ซึ่งจะใช้เวลาอีก 30 วัน จากนั้นจะส่งให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย โดยคาดว่าภายใน 3 เดือนหลังจากวันออกเสียงประชามติจะสามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ทันที” นายมีชัยกล่าว
เมื่อถามถึงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ที่ผ่านความเห็นชอบในวาระ 3 นั้น นายมีชัยกล่าวว่า เท่าที่ได้รับฟังมานั้นก็ยังมีข้อที่ไม่สมบูรณ์อยู่ตรงที่ว่ามีบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้ขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. แต่ไม่มีบทบัญญัติที่จะป้องกันการปฏิบัติหน้าที่ของ กรธ.ซึ่งขณะนี้ กรธ.กำลังรอว่า หน้าตากฎหมายที่สมบูรณ์จะเป็นอย่างไรแล้วนำมาศึกษา หากพบว่ายังไม่สมบูรณ์เพียงพออาจต้องเสนอให้รัฐบาลปรับแก้อีกครั้ง
ทั้งนี้ นายมีชัยปฏิเสธที่จะตอบคำถามที่ว่า หากคำถามพ่วงประชามติทำให้เกิดวิกฤตในอนาคตนั้น กรธ.จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร