“สมชัย” ชี้ปัญหางบฯ กกต.ไม่เกิดปัญหาประชามติ แต่รัฐต้องเร่งเบิกจ่ายไม่ใช่ให้สำรองจ่ายไปก่อนไม่งั้นมีติดขัด คาด กม.ประชามติทุกอย่างเสร็จ เม.ย. ยันไม่จำกัดสิทธิ งบนิ่งประมาณ มี.ค.เตรียมแผนงานกิจกรรมไว้แล้ว รณรงค์รับไม่รับต้องอยู่ในกรอบ เชียร์ไม่ให้ใช้สิทธิไม่ได้ ขัดขวางรับผิดชอบทางแพ่ง
วันนี้ (3 มี.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเตรียมการทำประชามติว่า แม้ขณะนี้ กกต.จะประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่โดยรวมแล้วยังไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลใจสำหรับการทำประชามติ เพราะยังเป็นสิ่งที่ยังสามารถจัดการได้ ไม่ได้กระทบต่อขวัญกำลังใจ แต่ตอนนี้เมื่อเงินเหลือน้อย หากจะทำให้มีการประชามติเกิดขึ้นจริง รัฐบาลต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้กับ กกต. ซึ่งจะไม่เหมือนทุกครั้งที่ กกต.สำรองจ่ายไปก่อน ไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้เกิดการติดขัดในการทำงาน ส่วนการเตรียมการทำประชามตินั้น ในเรื่องกฎหมายทั้งการแก้ไขหลักการที่สำคัญในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 การจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... และการออกระเบียบต่างๆ นั้น ตอนนี้ก็มีการเตรียมการไว้แล้ว โดยหลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้วเสร็จ กกต.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และหลังจากนั้นก็จะออกระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป คิดว่ากฎหมายทุกอย่างจะเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ซึ่งยืนยันว่าจะมีผลบังคับใช้ในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นการสร้างกติกาเพื่อให้การทำประชามติเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม
นายสมชัยกล่าวอีกว่า เรื่องงบประมาณในการทำประชามตินั้น คาดว่าจะนิ่งประมาณเดือน มี.ค.นี้ ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งก็ยืนยันว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 3,400 ล้านบาท หรืออาจจะต่ำกว่า ส่วนการจัดเตรียมด้านแผนงาน และโครงการกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามตินั้นได้จัดเตรียมการไว้แล้ว โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายที่เห็นชอบ และไม่เห็นชอบ ซึ่งจะให้โอกาสแต่ละฝ่ายเท่าเทียมกัน โดย กกต.จะให้องค์กร หรือหน่วยงานที่สนใจจะรณรงค์ลงทะเบียนกับ กกต. และเสนอโครงการกิจกรรมที่จะทำขึ้นมา โดย กกต.ได้เตรียมงบประมาณสนับสนุนแต่ละฝ่ายไว้ฝ่ายละ 50 ล้านบาททั่วประเทศ
“การรณรงค์รับหรือไม่รับนั้นยังสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่จะรณรงค์ว่าไม่ให้ไปออกเสียงไม่ได้ หรือไปออกเสียงไม่ได้ เพราะจะเป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อความวุ่นวาย ซึ่งจะต้องดูว่าความผิดสำเร็จไหม หากสำเร็จแล้วทำให้จำเป็นต้องมีการออกเสียงขึ้นมาใหม่ ก็ต้องมีต้นทุนการใช้จ่าย หากขัดขวางการออกเสียงประชามติทำให้หน่วยออกเสียง 1-2 หน่วยต้องจัดออกเสียงใหม่ก็ต้องรับผิดชอบทางแพ่งในต้นทุนการจัดออกเสียงประชามติ หรือหากทำให้การลงประชามติเสียไปทั้งประเทศก็ต้องรับผิดชอบหลัก 3,400 ล้าน ซึ่งใครทำให้เสียก็ต้องฟ้องร้องดำเนินคดี”