xs
xsm
sm
md
lg

ซัดคสช.สร้างบรรยากาศความกลัว คนไม่ยอมรับรธน.จะวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (2พ.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดราชดำเนินสนทนา หัวข้อ"ประชามติ อะไรทำได้-ไม่ได้" โดยมีวิทยากรเข้าร่วมประกอบด้วย พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ สมาชิกสนช. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. และนายไพโรจน์ พลเพชร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยมีนายมงคล บางประภา อุปนายกฝ่ายบริหารสมาคมนักข่าวฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
พล.ร.อ.ชุมนุม กล่าวว่า กม.ประชามติให้กกต.เป็นเจ้าภาพหลัก ในการจัดทำประชามติร่างรธน.ครั้งนี้ โดยพยายามสร้างบรรยากาศให้ประชาชนมาใช้สิทธิมากที่สุด และเป็นไปด้วยความสุจริต สงบไม่สร้างความขัดแย้งในสังคม โดยใช้เหตุผลในการแสดงความเห็นเป็นที่ยอมรับของประชาชน
ด้านนายสมชัย กล่าวว่า การวางกติกาว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้ ในการออกเสียงประชามติ ของกกต.นั้น ยึดหลักการสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ที่ไม่ขัดต่อหลักกม.ใน 3 ประเด็นคือ 1. ต้องไม่นำความเท็จมาขยาย 2. ไม่ก้าวร้าวรุนแรง หยาบคาย และ 3. ไม่นำไปสู่การปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง
จากหลักการดังกล่าว กกต.จึงออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ถ้าใส่เสื้อเยส หรือโน คนเดียวไม่ผิด แต่ถ้าขายเสื้อ ถือว่าผิด เพราะเป็นการรณรงค์ ดังนั้นใครดำเนินการอยู่ขอให้ยุติ
สำหรับการออกประกาศนั้น กกต.เขียนด้วยภาษากฎหมาย เพื่อให้ครอบคลุมถึงรูปธรรมที่ได้ตกลงกันไว้ จนออกมาเป็นหลัก 6 ข้อทำได้ และ 8 ข้อทำไม่ได้ แต่ใน 6 และ 8 ข้อนั้น สามารถขยายได้อีก ทั้งนี้มีการวิจารณ์ว่า ประกาศของกกต.คลุมเครือนั้น ต้องชี้แจงว่าการเขียนให้ครอบคลุมทุกพฤติกรรมไม่สามารถทำได้ เพราะจะมีเป็นร้อยเป็นพันอย่าง แต่ถ้าดูประกาศกกต.แล้วจะเห็นว่า ไม่ได้มีการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ เพราะประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ โดยกกต.ต้องการให้การทำประชามติครั้งนี้ ได้รับการยอมรับทั้งกระบวนการจัดทำ และผลหลังการลงประชามติด้วย
ขณะที่ นายเสรี กล่าวว่า กกต.อยู่ในฐานะลำบากเพราะต้องบังคับใช้กฎหมาย หากอ่อนไป คนก็ไม่กลัว แข็งไปก็จะถูกมองไปอีกด้านหนึ่ง ตนจึงเป็นห่วงว่า การวางแนวปฏิบัติของกกต. ยังขาดความชัดเจน เพราะนายสมชัยยังแสดงความเห็นส่วนตัวผ่านเฟซบุ๊กว่า มี 10 ข้อ ซึ่งเป็นการขยายจากที่ กกต.ออกประกาศ ทำให้เกิดความสับสน จึงอยากให้กกต.หารือให้ตรงกันเพื่อแก้ปัญหา ที่สำคัญคือ หลักการทำประชามติเรื่องเสรีภาพของบุคคลที่แสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ขัดกม. ซึ่งจะต้องดูกม.อื่นประกอบด้วย ไม่ใช่แค่กม.ประชามติเท่านั้น
นายเสรี เสนอต่อ กกต.ว่า หากต้องการให้ปัญหาน้อย ให้ยึดตัวบทของกม.เป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายมาก ยกเว้นกรณีที่ถ้อยคำยังคลุมเครือ จึงค่อยยกตัวอย่างในแต่ละอนุ ว่าใน มาตรา 61 ห้ามเรื่องอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม หลังกม.ประชามติประกาศใช้ มีผลกระทบมากเกี่ยวกับเรื่องการแชร์ข้อความผ่านไลน์ เพราะอาจจะเข้าข่ายทำผิดกม.ประชามติได้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมกับตั้งคำถามกลับไปยังนายสมชัย ว่า กรณีการใส่เสื้อเยส หรือโน โดยไม่มีข้อความรณรงค์เรื่องร่างรธน. จะพิจารณาอย่างไร เพราะถ้าวางหลักว่า เยส หรือโน ก็ผิดจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น จึงเห็นว่าควรดูองค์ประกอบจากการกระทำ ทีเกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วย โดยต้องมีหลักฐานชัดเจน
นอกจากนี้ ที่บอกว่าห้ามรณรงค์นั้น ก็ไม่มีการกำหนดไว้ในกม. การจะเอาผิดตามหลักพื้นฐานสิทธิมนุษยชน คือ การทำผิดต้องมีการกำหนดไว้ในกม. ดังนั้นหากมีการฟ้องร้องต่อศาล ก็จะเกิดปัญหาตามมา จึงอยากให้ กกต.ทบทวนหลักเกณฑ์ที่ออกมาโดยกำหนดให้เป็นทิศทางเดียวกัน
" ตอนนี้ประชาชนอึดอัด เพราะกกต.มากำหนดว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้ จนถูกตีความว่า ถ้านอกเหนือจากนี้จะเป็นความผิด กกต. จึงไม่ควรเป็นผู้สร้างบรรยากาศความตึงเครียด เพราะในกม. มีการระบุความผิดไว้อยู่แล้ว และต้องตีความอย่างแคบว่าอะไรคือความวุ่นวาย เพื่อไม่ให้กระทบถึงสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน ดังนั้น กกต.ควรอธิบายเฉพาะส่วนที่มีปัญหา ว่าอะไรทำไม่ได้เท่านั้น โดยไม่ต้องกำหนดว่า อะไรทำได้เพราะจะทำให้คนคิดว่าถ้านอกเหนือจากนั้นแล้วไม่สามารถทำได้ โดยกกต. ควรแจกใบเหลืองก่อน เพื่อเตือนกรณีเห็นว่ามีความผิดก่อนที่จะมีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ประชาชนจะได้สบายใจว่าลงประชามติ ไม่ได้นำไปสู่การเข้าคุก"
จากนั้นนายสมชัย ได้ใช้ชี้แจงกรณีที่ระบุว่า ความเห็นของตนไม่ตรงกับกกต. เพราะมี 10 ข้อ แต่ประกาศของ กกต.มี 8 ข้อ ว่า ความจริงตรงกัน เพียงแต่มีการขยายความเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการโพสต์ กับการแชร์ข้อมูล เช่น กรณีที่มีเฟซบุ๊กแห่งหนึ่งถูกดำเนินคดีนั้น ก็เป็นเพราะมีการเขียนข้อความหยาบคายเพิ่มเติมจากการแชร์ข้อมูล ทำให้เข้าข่ายผิดกม.
ส่วนเสื้อเยส หรือโน ขอย้ำว่าใส่ได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ถ้านัดใส่พร้อมๆ กัน เพื่อเคลื่อนไหวที่ใดที่หนึ่ง แสดงให้เห็นว่าเป็นกระบวนการที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย แม้ไม่ผิดกม.ประชามติ ก็ผิดกม.เกี่ยวกับความมั่นคง
ด้านนายไพโรจน์ กล่าวในมุมมองของนักกม.เพื่อสิทธิมนุษยชน ว่า เหตุการณ์ในขณะนี้ไม่ปกติ และกม.ประชามติ ก็ไม่ปกติ จึงอยากให้คิดถึงหลักการทำประชามติว่า เป็นการขอให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่า จะอนุมัติร่างรธน.หรือไม่ ดังนั้นการลงประชามติ ต้องไม่อยู่ในบรรยากาศความกลัว หรือการกดดัน เพราะจะทำให้ไม่มีอิสระ ยิ่งถ้าให้หน่วยงานรัฐไปชี้แนะ ก็ทำให้ประชาชนไม่มีอิสระในการตัดสินเช่นเดียวกัน นอกจากนี้จะต้องให้เวลาประชาชนได้ถกเถียงในเนื้อหา จะได้ตัดสินบนพื้นฐานข้อมูลที่ทั่วถึงเพียงพอทั้งสองด้าน แต่ในกม.ประชามติ มีการคุ้มครองหน่วยงานรัฐ และกรธ. ในการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งในทางปฏิบัติบุคคลเหล่านี้ย่อมชี้แจงแต่ส่วนดี แต่กม.ไม่ถือว่าเป็นการจูงใจ ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วย ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลายประการ ทั้งควบคุมเนื้อหา และวิธีการ
" ตอนนี้ไม่ใช่บรรยากาศการทำประชามติเลย หากมีการปฏิเสธว่า วิธีการทำประชามติไม่ถูก ก็จะเกิดปัญหา ความขัดแย้งไม่มีทางคลี่คลายภายใต้บรรยากาศแบบนี้ หากให้ฝ่ายหนึ่งพูดได้ แต่อีกฝ่ายถูกจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็น ซึ่งเชื่อว่าสื่อจะเซ็นเซอร์ตัวเอง แล้วมันจะเป็นยังไงประเทศนี้จะได้รับรธน. ที่ยอมรับและเชื่อถือได้อย่างไร เพราะประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง จึงควรเปิดโอกาสให้วิจารณ์ได้ โดยผู้ที่แสดงความเห็นก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง โดยยึดหลักกม." นายไพโรจน์ กล่าว และว่า ในขณะนี้มีการคุมเรื่องเนื้อหา แทนที่จะไปควบคุมเรื่องพฤติกรรม ทั้งที่ต้องเปิดโอกาสให้ 2 ฝ่ายพูด โดยตนคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่บรรยากาศที่มีหลักการมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น