รองประธาน สนช.เผยเตรียม 20 ประเด็นให้ กรธ.ปรับแก้ร่าง รธน. เล็งนำเข้าที่ประชุมสมาชิกฯ เพื่อลงมติ 12 ก.พ.นี้ บอกยังไม่มีการประสานให้แก้ กม.ประชามติมาที่ สนช. ระบุหากประชามติไม่ผ่านแล้วนำร่าง รธน.ฉบับ “มีชัย” มาปรับเพื่อประกาศใช้ต้องแก้ไข รธน.ฉบับชั่วคราว ด้านมูลนิธิวีรชน ปชต.ยื่น กรธ.แก้ร่าง รธน.7 ประเด็น
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการส่งความเห็นและข้อเสนอแนะของ สนช.ต่อร่างรัฐธรรมนูญส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาทบทวนว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช.ที่มีตนเป็นประธาน ได้รวบรวมความเห็นของสมาชิก สนช. และบุคคลภายนอกที่ได้เสนอแนะความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ในวันที่ 12 ก.พ.เพื่อให้สมาชิก สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบรายงานความเห็นและข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญของ สนช. เพื่อส่งต่อไปให้ กรธ.ภายในวันที่ 15 ก.พ.
โดยข้อเสนอที่จะส่งให้ กรธ.มีอยู่ประมาณ 20 ประเด็น เช่น การเสนอแนะให้ปรับปรุงเนื้อหเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมือง การปรับปรุงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนที่ยังขาดหายไปในร่างรัฐธรรมนูญ จึงควรปรับปรุงเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นสากลมากขึ้น เชื่อว่า กรธ.จะทบทวนในสิ่งที่ สนช.เสนอไป เพื่อปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้ออกมาดีที่สุด
นายสุรชัยกล่าวว่า ส่วนการทำประชามติซึ่งที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำประชามติมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เรื่องหลักเกณฑ์การทำประชามติให้ยึดเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธินั้น ขณะนี้ยังไม่มีการประสานงานมายัง สนช. อยู่ระหว่างการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ส่วนหลักเกณฑ์การทำประชามตินั้น กกต.จะต้องไปร่างหลักเกณฑ์มาเพื่อส่งให้ สนช.ให้ความเห็นชอบ ซึ่ง กกต.ควรส่งมาให้ สนช.พิจารณาภายหลังที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสร็จแล้ว
อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกหลักเกณฑ์การทำประชามติได้ ต้องส่งมาให้ สนช.ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ การรณรงค์ประชามติเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนั้นตามกฎหมายประชามติระบุว่า สามารถแสดงความเห็นได้ทั้งการรับร่างและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อย่าไปคิดว่าจะห้ามรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่การรณรงค์ต้องอยู่ในเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด
นายสุรชัยกล่าวว่า กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ โดยมีผลต่างประมาณ 1 ล้านเสียง สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาปรับปรุงแก้ไขเพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญได้นั้น ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของนายวิษณุที่ช่วยกันเสนอแนะทางออกต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปหรือมีอะไรมารองรับว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่หากจะทำตามเงื่อนไขที่นายวิษณุระบุ อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอะไรบางอย่าง ถ้ามีความจำเป็นอาจจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย นำโดย นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ ประธานมูลนิธิฯ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อขอให้พิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นให้เป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น รวม 7 ประเด็น ได้แก่ (1. นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เพราะเป็นผลสัมฤทธิ์สำคัญที่มาจากการเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อของวีรชนประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 (2. ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน (3. ส.ส.ต้องแยกเป็น แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 (4. อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชนโดยให้ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ถ่วงดุลกันได้ โดยต้องไม่มีอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเข้ามาแทรกแซง เพราะองค์กรเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวโยงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยไม่ผูกพันกับประชาชนเลย (5. ตามมาตรา 253 ของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเบื้องต้นนี้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบเป็นไปไม่ได้ (6. สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ชุมชน และท้องถิ่นต้องไม่ถูกริดรอน และ (7. คสช.จะต้องหมดอำนาจลงหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว