xs
xsm
sm
md
lg

ยอม! สนช. ให้ กรธ.แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว - “วันชัย” โวย สปท.ถูกหั่นอายุเหลือ 4 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ (ภาพจากแฟ้ม)
กมธ. ร่างประชามติ ยอมแก้ให้ กรธ. แจงเนื้อหา รธน. หวัง รบ. เจียดงบเพิ่ม ด้าน “วันชัย” เผยร่างใหม่หั่นอายุ สปท. เหลือ 4 เดือน กรธ. ระบุ ผู้ใหญ่สั่งตัดการทำงานซ้ำซ้อน “อุดม” เผยดึงดาบ สปท. คืน คสช. วางเกมปฏิรูปใหม่

วันนี้ (29 มี.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. แถลงผลการประชุมวิป สนช. ถึงการประชุมร่วมระหว่าง สนช. และ สปท. เพื่อรับฟังคำชี้แจงร่างรัฐธรรนูญจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันที่ 30 มี.ค. ว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ร.อ.ทินพันธุ์ นาคาตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. จะหารือกันเพื่อกำหนดกรอบการประชุมในวันดังกล่าว ขณะนี้ สนช. ยังไม่ได้กำหนด ว่า จะมีสมาชิกอภิปรายซักถามกี่คน แต่คาดว่าลักษณะคำถามที่จะซัก กรธ. คงเป็นเพียงการถามเพื่อขยายความในรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะไม่สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้อีกแล้ว

ส่วนการตั้งคำถามพ่วงประชามติของ สนช. นั้น กำหนดให้สมาชิก สนช. ส่งคำถามมายังคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 16 คณะ หรือสมาชิก สนช. สามารถส่งคำถามโดยตรงมายังคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. เป็นประธาน ภายในวันที่ 1 เม.ย. ซึ่ง กมธ. รวบรวมความเห็นฯ จะประชุมกันในวันที่ 4 - 5 เม.ย. เพื่อพิจารณาคำถามทั้งหมดของ สนช. และ สปท. ส่งให้ที่ประชุมสนช. พิจารณาต่อไปว่า จะตั้งคำถามหรือไม่ ถ้าตั้งจะถามคำถามว่าอย่างไร

นพ.เจตน์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กรณี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ท้วงติงเนื้อหาร่างพ.ร.บ. การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการชี้แจงเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นความเข้าใจผิดเรื่องการสื่อสาร เพราะไม่มีใครเข้าใจสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญได้ดีเท่า กรธ. ทั้ง กกต. และ สนช. ก็ไม่มีใครเข้าใจ ซึ่ง กกต. ต้องวางตัวเป็นกลาง โดยเจตนารมณ์เดิม ต้องอาศัย กรธ. เป็นผู้ชี้แจงแล้ว เพียงแต่ กกต. จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดเวทีและชี้แจงขั้นตอนการออกเสียงประชามติ แต่กรธ. จะเป็นผู้ชี้แจงเรื่องเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ กมธ. เป็นห่วงเรื่องงบประมาณในการจัดสรรของ กกต. ที่จะนำมาใช้ในเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญก็อาจจะจัดสรรงบต่างหากมาช่วยก็ได้ ขณะนี้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เสร็จหมดแล้ว อยู่ระหว่างการทบทวนความถูกต้อง จะนำเข้าสู่วิป สนช. วันที่ 5 เม.ย. และนำเข้าที่ประชุม สนช. ในวันที่ 7 เม.ย.

ด้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ก่อนทำประชามติ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งให้คณะรัฐมนตรี ในบทเฉพาะกาล เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จากร่างแรกที่กำหนดให้ สปท. อยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปอีก 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ร่างฉบับสมบูรณ์ มาตรา 266 กำหนดให้ สปท. อยู่ทำหน้าที่ร่างกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน จึงพ้นหน้าที่

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท. กล่าวยอมรับว่า ใช่ สปท. จะมีอายุลดลง เหลือเพียง 120 วัน ตนเข้าใจว่า คสช. เหลือเวลาน้อยลงแล้ว เนื่องจากหากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติในเดือน ส.ค. การเลือกตั้ง และรัฐบาลชุดใหม่จะมีขึ้นช่วงกลางปี 60 เวลาที่เหลืออยู่จากนี้ เชื่อว่า คสช. จะดำเนินการปฏิรูปที่จะเป็นด้วยตนเอง ส่วนตนไม่รู้สึกอะไร กับการถูกลดเวลาการทำงานลง เป็นการขอทำเพื่อชาติ ให้ คสช. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบบ้านเมืองได้ดำเนินการปฏิรูป .

ด้าน นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวว่า กรธ. ได้หารือกันมาก ถึงรูปแบบในการทำงานที่ยังไม่เห็นผลการปฏิรูปชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งจะต้องมีการเร่งรัด ประกอบกับทางผู้ใหญ่ ได้เปรย ๆ มาว่าการทำงานของ สปท. ล่าช้า งานบางเรื่องไปซ้ำซ้อนกับเรื่องที่รัฐบาลทำแล้ว เพราะสิ่งที่ สปท. ทำ คือ สานต่องานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งเล่ม ส่วนการออกกฎหมายก็ควรจะเป็นหน้าที่ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากกว่า ดังนั้น กรธ. จึงได้หารือกันมาก่อนหน้านี้แล้วเห็นตรงกันว่า เมื่อเป็นแบบนี้ต้องปรับรูปแบบวิธีการทำงานของ สปท. จนสุดท้ายจึงได้ข้อยุติเรื่องเงื่อนเวลา

ด้าน นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวว่า เราจะบอกว่า เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้เเล้ว สปท. จะอยู่เพียง 120 วัน หรือน้อยกว่านั้นยังระบุไม่ได้ เพราะอำนาจขึ้นอยู่กับคสช. กรธ. เพียงต้องการเปลี่ยนเเปลงสถานะของ สปท. โดยคืนอำนาจปฏิรูปประเทศไปให้ คสช. ในฐานะผู้เเต่งตั้งมา เพื่อกำหนดทิศทางการปฏิรูปประเทศต่อไปในอนาคตใหม่ โดยผ่านกฎหมาย 2 ช่องทาง ที่ คสช. สามารถตัดสินใจได้ คือ มาตรา 266 วรรค 2 ที่ให้หัวหน้า คสช. ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หรือการทำงานของ สปท. เพื่อให้การปฏิรูปตามหมวด 16 มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ทันทีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หรือจะเปลี่ยนเเปลงสถานะของ สปท. ตามมาตรา 259 ผ่านกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องดำเนินการภายใน 120 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ดังนั้น สปท. จะมีบทบาทต่อไปหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ คสช. จะใช้ช่องทางใด


กำลังโหลดความคิดเห็น