xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจไม่รับสอบกมธ.ยกร่างฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติไม่รับเรื่องร้องเรียนที่ นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนศิราธิป ทนายความ ขอให้ตรวจสอบจริยธรรม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น กรณีพูดจาโน้มน้าวให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ และตรวจสอบการกระทำของ สปช. ที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรณีการลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นการขัดแย้งกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ รวมถึง การกระทำของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 275 และมาตรา 276 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับสปช. ที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสปช. ไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ประกอบมาตรา 4 พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2542 ที่กำหนดนิยาม ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายความถึงเฉพาะ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.หรือส.ว. และเจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายถึง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ ดังนั้นการร้องเรียนให้ตรวจสอบจริยธรรม ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน
อีกทั้งเมื่อวินิจฉัยแล้วว่า สปช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเด็นที่ขอให้ตรวจสอบการกระทำของสปช. ที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะพิจารณาลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้น และตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 และมาตรา 276 ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับสปช.ที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินเช่นกัน เพราะมาตรา 13( 1) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ผู้ตรวจมีอำนาจพิจารณา สอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น
ส่วนที่ขอให้ตรวจสอบบทบัญญัติมาตรา 275 และมาตรา 276 ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติขึ้น ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับสปช.ที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2551 เป็นแนวปฏิบัติไว้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับระดับพระราชบัญญัติที่มีการประกาศใช้บังคับแล้วเท่านั้น แต่กรณีนี้ เป็นการร้องเรียนบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินอีกเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น