xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” อัด “วิษณุ” ข้ามเส้นผู้ตรวจการแผ่นดิน เตือนไม่ฟังองค์กรอิสระระวังจบแบบ รบ.ชุดก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ (ภาพจากแฟ้ม)
"รสนา" เปิด ม.13 พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตอกหน้า “วิษณุ” ชี้ไม่ควรดิสเครดิตผู้ตรวจฯ ท้วงมติ มส. ตั้งสังฆราช เพราะเป็นหน้าที่โดยตรง แนะดูจุดจบรัฐบาลชุดก่อนหากไม่เคารพคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ทำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ตีกลับมติของมหาเถรสมาคม (มส.) หลังเสนอสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ให้ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน และไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แต่ปรากฏว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นสวนทางทันทีว่า มส.ทำตามขั้นตอนแล้ว โดยไม่สนใจผู้ตรวจการแผ่นดินท้วง อ้างว่าเป็นเพียงความเห็นหนึ่งเท่านั้น ดังนี้

“ท่านรองนายกฯ คงยังไม่เคยอ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2542 กระมัง?

อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในมาตรา 13 บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสอบสวนตามคำร้องเรียนในกรณีเช่น 1) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่กฎหมายของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของรัฐ หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

2) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการ และหน่วยงาน (ตามข้อ 1) ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนและประชาชน ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือไม่ก็ตาม

ดังนั้น การพิจารณาและทำความเห็นกรณีมติของ มส.เรื่องตั้งสมเด็จพระสังฆราชของผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่ใช่แค่ความเห็นหนึ่งที่หัวหน้ารัฐบาลจะไม่ฟังก็ได้อย่างที่รองนายกฯ วิษณุให้สัมภาษณ์ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินโดยตรงใน “การวินิจฉัย” และทำ “ข้อเสนอแนะ” ถึงหัวหน้ารัฐบาล และหากข้อเสนอแนะเหล่านั้นไม่มีการปฏิบัติหลังจากเสนอแนะเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถนำเรื่องดังกล่าวฟ้องต่อศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงแล้วแต่กรณี

ในต่างประเทศที่มีองค์กรอย่าง “Ombudsman” หรือในประเทศไทยเรียกว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นในประเทศที่มีการปกครองในระบอบกษัตริย์อย่างในประเทศสแกนดิเนเวีย ตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเครื่องมือปัดเป่าทุกข์ร้อนให้ประชาชนแทนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีพัฒนาการมาสู่ระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเป็นกลไกที่ประชาชนสามารถอาศัยเป็นเครื่องมือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายการเมือง คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูงและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายต่างๆ ที่มาใช้อำนาจรัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถตรวจสอบ วินิจฉัย และรายงานเรื่องดังกล่าวต่อหัวหน้ารัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข และที่สำคัญ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เป็นองค์กรอิสระที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ จึงสมควรที่ฝ่ายบริหารตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีไปจนถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกท่านที่ต้องให้ความเคารพ แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม ไม่ใช่กล่าวในทำนองดิสเครดิตอย่างที่ปรากฏเป็นข่าว

ยิ่งทราบว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ได้เสนอคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ใช่เสนอผ่าน ครม. ก็ชอบที่รัฐมนตรีท่านอื่นจะสงวนท่าทีไม่ควรกล่าวสิ่งใดล้ำหน้าท่านนายกรัฐมนตรี

ทั้งรัฐบาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างก็เป็นภาครัฐด้วยกัน ต่างทำหน้าที่โดยสุจริตภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้จะมีความเห็นต่างกันแต่ก็ไม่ควรให้สัมภาษณ์ดิสเครดิสกันตามที่ปรากฏเป็นข่าว

หากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระแล้ว หากประชาชนทั่วไปเอาเยี่ยงอย่างรัฐบาลจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้ดูตัวอย่างรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ไม่เคารพคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ ว่ามีวิบากกรรมเช่นไร?”


กำลังโหลดความคิดเห็น