xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” ยื่นผู้ตรวจฯ จี้ มส.ทำตามพระลิขิตฯ ฉะม็อบพระชุมนุมปกป้องผลประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต ปธ.ปฏิรูปพุทธศาสนา ยื่นคำร้องผู้ตรวจฯ วินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ มส. ดำเนินตามพระลิขิตฯ ให้เจ้าอาวาสธรรมกายอาบัติปาราชิกหรือไม่ ชี้ข้อเสนอม็อบพระ คพส.เป็นไปไม่ได้ เชื่อมาชุมนุมปกป้องผลประโยชน์พระแกนนำ จี้อย่าผูกขาดศาสนา ฉะเสื่อมชุมนุมถึงขั้นปะทะคาผ้าเหลือง ย้อนเร่งตั้งสังฆราชองค์ใหม่ให้ไปเร่งดีเอสไอสรุปคดีก่อน เชื่อเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีปฏิรูปพุทธศาสนา


วันนี้ (16 ก.พ.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าดำเนินการตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช จนสิ้นสุดขั้นตอนตามกฎหมายหรือไม่ ในกรณีที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 8 ประกอบกับกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ. 2538 มีพระลิขิตทรงวินิจฉัยว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกพ้นจากการเป็นสมณเพศไปแล้ว ซึ่งมีผลตามกฎหมายและมหาเถรสมาคมให้การรับรองไว้แล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2542 ซึ่งแม้ว่ามหาเถรสมาคมจะไม่มีมติที่ระบุชัดเจนว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกหรือให้พ้นจากการเป็นสมณเพศ แต่การที่มีมติรับรองพระลิขิตดังกล่าวเท่ากับเป็นการรับรองว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกพ้นจากสมณเพศซึ่งมีผลทางกฎหมายในทันที แต่จากการตรวจสอบพบว่ามหาเถรสมาคมยังไม่ดำเนินการให้พระธัมมชโยสละสมณเพศตามกฎหมายมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ. 2538 แต่อย่างใด

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า การที่มหาเถรสมาคมมีมติเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าการดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตฯ ได้สิ้นสุดไปแล้วนั้นไม่ถูกต้อง เพราะกรณีที่อ้างถึงนายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระธัมมชโยว่าล่วงละเมิดพระธรรมวินัยด้วยการบิดเบือนหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนา อวดอุตริ รวมไปถึงการยักยอกทรัพย์นั้น การพิจารณาด้านพระธรรมวินัยในชั้นนี้ยังอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ในฐานะที่เป็นผู้พิจารณาตามกฎหมายมาเถรสมาคมฯ ว่าด้วยลงนิคหกรรม ไม่ใช่เป็นกรณีตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช

นายไพบูลย์ยังกล่าวถึงข้อเสนอ 5 ข้อ ของเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์การภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ (คพส.) ที่ยื่นต่อรัฐบาล ว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลนี้ได้ยึดตามกฎหมาย หากจะให้คณะสงฆ์เป็นเอกเทศหรือรัฐอิสระเหมือนวาติกันคงทำไม่ได้ ส่วนตัวเชื่อว่าการออกมาชุมนุมนั้นเป็นการปกป้องพระเถระบางรูป และเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของพระที่เป็นแกนนำ ซึ่งคณะสงฆ์ในปัจจุบันนี้ต่างพยายามผูกขาดและแสดงความเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมทั้งที่ไม่อยู่ในพระธรรมวินัย โดยพระพุทธศาสนาควรเป็นของพุทธบริษัทสี่ ไม่ควรผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การที่พระสงฆ์ออกมาชุมนุมจนถึงขั้นปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหาร เป็นความเสื่อมขั้นสูงสุดสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการปกครองคณะสงฆ์ที่ล้มเหลว และเป็นการกระทำที่ผิดพระธรรมวินัยและกฎหมาย

นอกจากนี้ยังเห็นว่า ข้อเสนอที่ให้รัฐบาลเร่งรัดการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่นั้นก็เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง อาจหมิ่นเหม่ต่อการก้าวล่วงพระราชอำนาจ เนื่องจากพระที่ถูกเสนอชื่อยังถูกตรวจสอบในเรื่องคดีความ เช่น คดีรถหรูว่าครอบครองอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ และกรณีการช่วยเหลือพระธัมมชโย หากตรวจสอบแล้วมีความผิด แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน แต่ตามประเพณีปฏิบัติก็คงไม่สามารถหน้าที่ได้ หากจะเร่งรัดเรื่องดังกล่าวก็ควรไปเร่งรัดการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษให้สรุปผลโดยเร็วจะดีกว่า อีกทั้งในความเห็นส่วนยังมีข้อสงสัยว่า เจ้าอาวาสวัดปากน้ำยังมีความใกล้ชิดพระธัมมชโย ที่อาจมีการช่วยเหลือที่ไม่ให้ต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คิดว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีที่จะนำไปสู่การปฏิรูปพระพุทธศาสนา และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย















กำลังโหลดความคิดเห็น