อดีต สปช.เรียกร้อง “สมเด็จช่วง-มหาเถรสมาคม” ให้อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายสละสมณเพศ ตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ในการประชุมพรุ่งนี้ (10 ก.พ.) โดยใช้กฎมติ มส.ฉบับที่ 21 ย้ำหากนิ่งเฉยหรือบ่ายเบี่ยงอาจถูกดำเนินคดีมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และถูกมองว่าช่วยเหลือกัน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการประชุมมหาเถรสมาคมที่จะมีการประชุมในวันที่ 10 ก.พ. โดยเห็นว่าตามหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ ยธ 0805/56 ลงวันที่ 8 ม.ค. 2559 เรื่อง ส่งเรื่องให้ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งในขณะนี้คือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปญฺโญ) ดำเนินการให้พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิกตามลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ที่มีมติของมหาเถรสมาคมรับรองให้ถือเป็นคำสั่งที่ชอบ และจะต้องปฏิบัติตามให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงใช้อำนาจในฐานะสกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีอำนาจบัญชาคณะสงฆ์ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 พระลิขิตฉบับลงวันที่ 10 พ.ค. 2542 มีใจความดังนี้
“ได้แจ้งให้เป็นที่เข้าใจชัดเจนดีทั่วกันแล้วก่อนหน้านี้ว่า ในตำแหน่งผู้เป็นสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อเทิดทูนรักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นถูกทำลาย สมบูรณ์ดีที่สุดแล้วตามอำนาจ”
และมหาเถรสมาคมได้มีการประชุมในวันเดียวกัน (10 พ.ค. 2542) โดยที่ประชุมได้มีมติสนองพระดำริมาโดยตลอดให้ชอบด้วยกฎหมายพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม และเห็นควรส่งเรื่องให้ฝ่ายสังฆการดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคมต่อไป
ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระบัญชาในฐานะสกลมหาสังฆปริณายก โดยมีพระประสงค์ให้ดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2538) ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศข้อ 4 ซึ่งบัญญัติไว้ให้ "มหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยให้ภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ ทั้งนี้ไม่กระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ไม่ว่าในชั้นใดๆ"
และกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2538) ข้อ 5 “คำวินิจฉัยให้พระภิกษุสละสมณเพศตามข้อ 3 หรือข้อ 4 ให้เป็นอันถึงที่สุด”
ดังนั้น เมื่อมีพระลิขิตที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ที่ทรงใช้อำนาจในฐานะสกลมหาสังฆปริณายกและประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และได้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมมหาเถรสมาคมและได้มีมติเห็นชอบแล้ว จึงมีผลตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2538) มาตรา 4 วรรคท้าย ให้อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องสละสมณเพศ และตามข้อที่ 5 คำวินิจฉัยให้พระภิกษุสละสมณเพศตามข้อ 3 หรือข้อ 4 ให้เป็นอันถึงที่สุด
ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง ช่วง วรปญฺโญ) และกรรมการมหาเถรสมาคม ประธานมหาเถรสมาคม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จะต้องติดตามดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องสละสมณเพศตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2538) ข้อที่ 6 และข้อที่ 7 เช่นเดียวกับกรณี พระยันตระ อมโร ซึ่งมหาเถรสมาคมเคยใช้อำนาจวินิจฉัยตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2538) ให้ต้องอาบัติปาราชิกพ้นจากความเป็นสมณเพศ ซึ่งหากไม่ดำเนินการหรือมีการบ่ายเบี่ยงโดยไม่คำนึงถึงหน้าที่กฎหมาย ที่ต้องปฏิบัติในฐานะหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจจะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังอาจถูกครหาว่าเป็นการช่วยเหลือให้การสนับสนุนคุ้มครองพระธัมมชโยไม่ให้ต้องปาราชิกพ้นจากความเป็นภิกษุตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
นอกจากนั้น การดำเนินการตามพระลิขิตแก่พระธัมมชโยที่ต้องอาบัติปาราชิกนั้น ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม เนื่องจากตามพระวินัยปิฏกแล้ว การกระทำนิคหกรรมนั้นเป็นวิธีการลงโทษแก่ภิกษุผู้ประพฤติผิดธรรมวินัยในข้อต่างๆ แต่ไม่รวมอาบัติปาราชิก เพราะถือว่าผู้ที่ต้องอาบัติปาราชิกไปแล้วนั้นไม่ถือเป็นภิกษุอีกต่อไป จึงไม่อาจจะเข้าร่วมสังฆกรรมใดๆ ในการลงนิคหกรรมตามพระวินัย