xs
xsm
sm
md
lg

ไพบูลย์บี้"มส. -สำนักพุทธฯ"ใช้กฎที่ขับ"ยันตระ"ไล่"ธัมมชโย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ไพบูลย์" ดิ้น เดินหน้ากดดัน"มหาเถรฯ -สำนักพุทธฯ" ไล่ "ธัมมชโย"พ้นสมณเพศ แนะใช้มติกฎ มส. ฉบับที่ 21 แทน ระบุเคยใช้ขับ "ยันตระ" มาแล้ว ขู่ไม่ดำเนินการ-บ่ายเบี่ยงผิด อาญา ม.157

วานนี้ (8 ก.พ.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ นพ.มโน เลาหวณิช อดีตกรรมการปฏิรูปแนวทางฯ แถลงว่า ขอฝากไปถึง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรุปุญฺโญ) ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 10 ก.พ. นี้ เพื่อพิจารณาหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ให้ดำเนินการ ให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก ตามลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีมติของมส. รับรองมาแล้ว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ทรงใช้อำนาจในฐานะสกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีอำนาจบัญชาพระสงฆ์ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยพระลิขิต ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 โดยมีเนื้อหาเป็นที่เข้าใจว่า พระธัมมชโย เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไปแล้ว และ มส.ก็ได้มีมติสนองพระดำริมาโดยตลอด ให้ชอบด้วยกฎหมายพระธรรมวินัย และกฎของมส. และยังส่งเรื่องให้ฝ่ายสังฆการดำเนินการตามมติมส. ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระบัญชา และพระประสงฆ์ให้ดำเนินตามกฎของ มส. ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2538) ว่าด้วย ให้พระภิกษุสละสมณเพศ ข้อ 4 ซึ่งบัญญัติว่า

" มส.มีอำนาจวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ ทั้งนี้ไม่กระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม ที่กำลังดำเนินการอยู่ไม่ว่าในชั้นใดๆ" และ ข้อ 5 ยังระบุว่า "คำวินิจฉัยให้พระภิกษุสละสมณเพศ ตามข้อ 3 หรือ ข้อ 4 ให้เป็นอันถึงที่สุด"

"ดังนั้นเมื่อมีพระลิขิต ที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงใช้อำนาจในฐานะสกลมหาปริณายก และประธานกรรมการมส. และได้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม มส. และได้มีมติเห็นชอบแล้ว จึงมีผลตามกฎของ มส. ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2538) มาตรา 4 วรรคท้าย ให้อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องสละสมณเพศ และตามข้อ 5 คำวินิจฉัยตามข้อ 3 หรือ ข้อ 4 ให้เป็นอันถึงที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎมส. สมเด็จช่วง ในฐานะประธาน มส. และกรรมการ มส. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จะต้องติดตามดำเนินการให้ พระธัมมชโย ต้องสละสมณเพศ ตามกฎมส. ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538) เช่นเดียวกับกรณีของ พระยันตระ อมโร ซึ่งมส. เคยใช้อำนาจวินิจฉัยให้ต้องอาบัติปาราชิกไปแล้ว หาก มส. และสำนักพระพุทธศาสนา ไม่ดำเนินการหรือมีการบ่ายเบี่ยง ในฐานะหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจจะถูกกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอาจถูกข้อครหาว่าเป็นการช่วยเหลือให้การสนับสนุน คุ้มครอง พระธัมมชโย ไม่ให้ต้องปาราชิกพ้นจากความเป็นภิกษุ ตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช " นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวอ้างว่า การดำเนินการตามพระลิขิต แก่พระธัมมชโย ที่ต้องอาบัติปาราชิก ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎของ มส. ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม เนื่องจากตามพระวินัยปิฏก เพราะการกระทำนิคหกรรม เป็นการลงโทษแก่ภิกษุผู้ประพฤติผิดตามธรรมวินัย แต่ไม่รวมอาบัติปาราชิก ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎของ มส. ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538) ซึ่งที่ผ่านมา เราพูดเพียงแค่กฎของ มส. ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ซึ่งไม่ใช้แล้ว ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ทำตามกฎหมายที่บัญญัติ โดยจากนี้ไป ตนจะติดตามว่า มีการปฏิบัติตามหรือไม่ ไม่เช่นนั้น ตนจะเป็นผู้กล่าวหาเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น