xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” ร้องผู้ตรวจฯ เช็ก กม.สงฆ์ ชี้มติลับ มส.เลือกสังฆราชส่อผิดขั้นตอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อดีต สปช.ไพบูลย์” ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยข้อกฏหมาย ม.7 พ.ร.บ.สงฆ์ ชี้นายกฯ ต้องเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุดต่อมหาเถรสมาคม ไม่ใช่ให้ มส.หยิบยกเสนอ อ้างเทียบ ม.44 ฉะนั้นมติลับผิดขั้นตอนหรือไม่ เผยส่งหนังสือให้ “สุวพันธุ์” ชะลอชงนายกฯ แล้ว



วันนี้ (19 ม.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมด้วย นพ.มโน เลาหวณิช อดีตศิษย์วัดพระธรรมกาย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมาย ม.7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 หมวดสมเด็จพระสังฆราช ว่าหน่วยงานใดมีอำนาจในการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากเห็นว่า มาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสทางสมณะศักดิ์สูงสุด...” ซึ่งเท่ากับกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้นายกฯ เป็นผู้ริเริ่มในการพิจารณาและเสนอนามของสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุดต่อมหาเถรสมาคมเพื่อให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แล้วจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล ไม่ใช่มหาเถรสมาคมจะเป็นผู้ริเริ่มหยิบยกขึ้นพิจารณาเสนอนามและลงมติเลือกเอง แล้วจึงเสนอนายกฯ ให้ทำหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเท่านั้น

นายไพบูลย์กล่าวว่า ทั้งนี้เทียบเคียงได้กับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่บัญญัติว่า หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. มีอำนาจในการออกคำสั่งซึ่งย่อมหมายความว่าหัวหน้า คสช.ต้องเป็นผู้ริเริ่มเสนอเรื่องต่อ คสช.เพื่อให้ความเห็นชอบ หรือกรณี พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน หรือกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติว่านายกฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี การดำเนินการก็ต้องนายกฯเป็นผู้ริเริ่มนำเรื่องเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ ดังนั้นการที่มหาเถรสมาคมมีการประชุมวาระพิเศษ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา และมีการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุดขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนและไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาปัญหาการปฏิบัติตามข้อกฎหมายของสำนักพระพุทธศาสนา ในฐานะเลขานุการของมหาเถรสมาคมที่นำมติดังกล่าวเสนอต่อนายกฯ ว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

“หลายฝ่ายมักจะอ้างประเพณีปฏิบัติ แต่บทบัญญัติมาตรา 7 เขียนไว้อย่างชัดเจนเรื่องขั้นตอน ดังนั้นจะอ้างประเพณีปฏิบัติคงไม่ได้ ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดำเนินการดังกล่าวของมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ และหากผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่านายกฯ ต้องดำเนินการตามมาตรา 7 มติของมหาเถรสมาคมที่เสนอนามของสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุดต่อมหาเถรสมาคมเพื่อให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ต้องเป็นโมฆะ และเพื่อให้เรื่องนี้ไม่เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ ผมก็ได้มีหนังสือไปถึงนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการชะลอการส่งมติดังกล่าวให้นายกฯ ไว้ก่อน เพราะผู้ตรวจกำลังวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวอยู่ ซึ่งก็คงจะทราบผลโดยเร็ว และคงจะแจ้งผลคำวินิจฉัยไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายไพบูลย์กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น