xs
xsm
sm
md
lg

อุ้มธัมมชโย! “มหาเถรสมาคม” เมินคำร้องดีเอสไอ ไม่ต้องปาราชิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ขณะเป็นประธานมอบพัดยศให้กับให้แก่พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
“ธรรมกาย” รอดตายแล้ว มติมหาเถรสมาคม “สมเด็จช่วง” นั่งหัวโต๊ะ มีมติให้ “ธัมมชโย” ไม่ต้องอาบัติปาราชิก หลังดีเอสไอส่งเรื่องให้พิจารณา อ้างเจ้าคณะปทุมธานีไม่รับคำร้องคดียักยอกที่ดิน และผู้ฟ้องไม่ยื่นอุทธรณ์ ส่วนคดีทางโลกอัยการถอนฟ้องคดีไปแล้ว ถ้าจะฟ้องก็ให้ฟ้องคดีใหม่ ไม่สนหากขัดต่อกฎหมายอาญามาตรา 157 บอกแล้วแต่ความคิด

วันนี้ (10 ก.พ.) ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม นายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานการประชุม มีมติให้พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่ต้องอาบัติปาราชิก หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่งเรื่องให้พิจารณาดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

นายชยพล ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และผู้แทนมหาเถรสมาคมได้หารือกับดีเอสไอ 2 ครั้ง ยืนยันว่า ได้ตอบสนองต่อพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช กรณีพระธัมมชโยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะมีการตีความว่า พระลิขิต เป็นพระบัญชาหรือพระดำริก็ตาม ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2542 - 2544 มหาเถรสมาคมได้มีการประชุมหารือในเรื่องนี้นับ 100 ครั้ง สำหรับการดำเนินคดีทางสงฆ์ใช้กฎนิคหกรรมฉบับที่ 11 ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 หากเปรียบในคดีทางโลกจะเริ่มต้นจากศาลชั้นต้น โดยมีเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี รองเจ้าคณะภาค และเจ้าคณะภาค ร่วมกันพิจารณา

โดยในปี 2542 ที่มีการยื่นฟ้องคดีทางสงฆ์กล่าวหาพระธัมมชโย ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ คณะพิจารณาของศาลชั้นต้นทางสงฆ์ไม่รับคำร้องของผู้ยื่นฟ้องคดี 2 คน คือ นายสมพร เทพสิทธา และ นายมาณพ พลไพรินทร์ เนื่องจากคำร้องไม่สมบูรณ์ ศาลชั้นต้นทางสงฆ์ได้เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่ผู้ยื่นฟ้องคดีไม่มายื่นอุทธรณ์ และได้ถอนฟ้องไป 1 คน ทำให้การพิจารณาคดีในทางสงฆ์ต้องยุติลง และไม่มีการพิจารณาไปถึงกระบวนการที่ชี้ชัดว่า พระธัมมชโยอาบัติปาราชิก หรือไม่ ดังนั้น คดีทางสงฆ์จึงไปไม่ถึงการพิจารณาในขั้นศาลอุทธรณ์ทางสงฆ์ คือเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และไม่ถึงขั้นศาลฎีกาทางสงฆ์ คือมหาเถรสมาคม

ขณะที่ผู้ยื่นฟ้องคดีทางสงฆ์ก็ได้มีการยื่นฟ้องคดีทางโลกพร้อมกันไปด้วย แต่ในเวลาต่อมาผู้ร้องขอถอนฟ้อง ทำให้อัยการถอนฟ้องคดี ส่งผลให้คดีทางโลกสิ้นสุดลงไปด้วย หากจะมีการฟ้องร้องพระธัมมชโยอีกก็จะต้องเป็นข้อกล่าวหาในคดีอื่น ๆ ที่เป็นคดีใหม่ ซึ่งไม่ใช่กรณีข้อกล่าวหายักยอกที่ดิน โดยผู้ที่ต้องการฟ้องคดีทางสงฆ์ก็จะต้องไปยื่นฟ้องที่เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเจ้าคณะปกครองโดยตรง ส่วนกรณีที่ทางดีเอสไอมองว่า มหาเถรสมาคม ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ กรณีของพระธัมมชโย ยืนยันว่า สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาเถรสมาคม ได้ดำเนินงานเรื่องนี้อย่างเต็มที่แล้ว ส่วนการมองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะส่งหนังสือชี้แจงต่อดีเอสไอโดยเร็วที่สุด ภายในวันที่ 12 ก.พ. นี้

คลิกที่นี่ เพื่ออ่านหนังสือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งให้กับประธานมหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาดำเนินการกรณีพระธัมมชโย


กำลังโหลดความคิดเห็น