xs
xsm
sm
md
lg

คดีธัมมชโย : บทพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

หนังสือพิมพ์แนวหน้ารายวันฉบับวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ลงข่าวหน้าหนึ่งโดยพาดหัวข่าวว่า “ไล่บี้ปาราชิกธัมมชโย ฮึ่มเชือด พศ.” และได้ลงรายละเอียดสรุปเป็นประเด็นดังนี้

1. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เปิดเผยว่า ดีเอสไอได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และมหาเถรสมาคม (มส.) ตามที่มีการร้องเรียนว่า พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกจากกรณียักยอกเงิน และที่ดินตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ว่าได้ดำเนินการอย่างไรไปบ้างแล้ว

2. พ.ต.อ.ไพสิฐ ได้กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญที่มีการสอบถามก็คือ การดำเนินการตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีผลทางกฎหมาย

ในขณะที่ พศ.เป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานเดียวในการทำหน้าที่เลขานุการ และประสานงานกับ มส.จึงต้องถามว่า ได้ดำเนินการอย่างไรกับพระธัมมชโยในกรณีดังกล่าวแล้วบ้าง และเป็นการดำเนินการถูกต้องหรือไม่

3. การทำหนังสือดังกล่าว ยังไม่ถือว่าเป็นการชี้มูลความผิด แต่เป็นการชี้ให้ พศ.ดำเนินการ และถ้าหากไม่ดำเนินการก็อาจมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่หาก พศ.ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไร ก็ต้องชี้แจงต่อสังคมให้สิ้นข้อสงสัย

อนึ่ง ดีเอสไอได้ทำหนังสือทำนองเดียวกับวันที่สอบถามไปยัง พศ.ไปยัง มส.ด้วย

จากนัยแห่งเนื้อหาสาระของข่าวดังกล่าวข้างต้น ได้บ่งบอกถึงความคืบหน้าของการทำงานของดีเอสไอในส่วนที่เกี่ยวกับคดีของพระธัมมชโยอีกก้าวหนึ่ง และถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการคลี่คลายข้อกังขาของชาวพุทธในประเด็นที่ว่า พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช เป็นกฎหมายหรือไม่ และจากคำพูดของอธิบดีดีเอสไอชัดเจนว่าเป็นกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 “สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม” เมื่อพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นกฎหมาย จึงมีผลบังคับใช้ในการปกครองสังฆมณฑล โดยเริ่มจาก มส.ลงไปจนถึงเจ้าอาวาสผ่านทางเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลตามลำดับชั้น

ดังนั้น หากสงฆ์ฝ่ายปกครองในระดับใดไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ก็เข้าข่ายมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันที่ว่า ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองสงฆ์ และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา

เมื่อพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชถือเป็นกฎหมาย เหตุใดสงฆ์ฝ่ายปกครองในระดับ มส.จึงไม่ได้ดำเนินการตามพระลิขิตในกรณีที่มีพระลิขิตว่า พระธัมมชโยกระทำผิดพระวินัยถึงขั้นต้องอาบัติปาราชิกในกรณีของการยักยอกเงิน และที่ดินของวัดมาเป็นของตน

เพื่อจะตอบประเด็นแห่งปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูความเป็นมาของพระธัมมชโยหรือพระเทพญาณมหามุนี ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายในปัจจุบัน ซึ่งพอจะสรุปเป็นประเด็นดังต่อไปนี้

วัดพระธรรมกายตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้รับการอนุญาตให้สร้างเป็นวัดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2520 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2522 โดยมีพระอธิการไชยบูลย์ ธัมมชโย เป็นเจ้าอาวาสมาตลอดจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 39 ปี

ตั้งแต่มีการตั้งวัดพระธรรมกายขึ้นมา ชาวพุทธผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยได้มีข้อกังขาเกี่ยวกับพฤติกรรมองค์กรของวัดนี้มาตลอด เริ่มตั้งแต่รูปแบบของอาคารซึ่งมิได้เป็นไปตามสถาปัตยกรรมที่วัดพุทธควรจะเป็น ไปจนถึงการสอนที่เน้นเรื่องอภินิหารและการเข้าถึงธรรมโดยการยึดอัตตา ดังจะเห็นได้จากคำสอนที่ว่า พระนิพพานเป็นอัตตา ด้วยนัยแห่งคำสอนในทำนองนี้ พระพุทธเจ้ามิได้ดับขันธ์พร้อมกับดับกิเลส และไม่กลับมาเกิดอีกที่เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน แต่ดับเพียงรูปขันธ์ของความเป็นมนุษย์ ส่วนวิญญาณไปสถิตอยู่บนสวรรค์จึงสามารถขึ้นสวรรค์ไปเฝ้า และถวายบิณฑบาตแก่พระพุทธเจ้าได้ ซึ่งผิดแผกไปจากคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า พระนิพพานเป็นอนัตตา เป็นต้น

จากพฤติกรรมองค์กรของวัดพระธรรมกาย และพฤติกรรมอันเป็นปัจเจกของพระธัมมชโยในการสอน ในทำนองดังกล่าวแล้ว จากอดีตจนถึงปัจจุบันสื่อมวลชนแขนงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อสิ่งพิมพ์ได้เสนอข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมของวัดพระธรรมกายในทางลบอย่างต่อเนื่อง

แต่ที่เป็นข่าวในทางลบค่อนข้างรุนแรง และมีผลกระทบโดยตรงต่อพระธัมมชโย ทั้งในทางพระธรรมวินัย และทางกฎหมายเห็นจะได้แก่ข่าวที่ว่า สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งรัตนโกสินทร์ ได้มีพระลิขิตว่า พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก เนื่องจากยักยอกเงินและที่ดินแล้วส่งให้มหาเถรสมาคมร่วมกันพิจารณาระงับอธิกรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2542 แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ไม่ปรากฏมหาเถรสมาคมได้ดำเนินการใดๆ เพื่อระงับอธิกรณ์แต่อย่างใด ตรงกันข้ามปล่อยให้พระธัมมชโยมีพฤติกรรมเฉกเช่นเดิมต่อไป จะเห็นได้จากการไปพัวพันกับการยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ดังนั้น การปล่อยปละละเลยเกี่ยวกับพฤติกรรมพระธัมมชโย จึงเท่ากับปล่อยให้เรื่องนี้ค้างคาใจชาวพุทธจนถึงทุกวันนี้ว่า พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามนัยแห่งพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ถ้าไม่ด้วยเหตุและผลประการใด ตามที่ปรากฏในทุติยปาราชิก

แต่ถ้าหากเป็นปาราชิก เหตุใด มส.จึงมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ภิกษุใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น

จากนัยแห่งมาตรา 26 ดังกล่าวข้างต้น พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือยัง ถ้ายังทำไม มส.เมื่อได้รับทราบพระลิขิตแล้ว จึงไม่ทำให้คำวินิจฉัยถึงที่สุด โดยการตั้งคณะวินัยธรณ์ขึ้นมาทำการสอบสวนอธิกรณ์ตามกระบวนการ ซึ่งบัญญัติในพระไตรปิฎกหมวดกัมมขันธกะ โดยไม่มีอคติ 4 เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ยึดถือความผิดความถูกเป็นที่ตั้ง ไม่เอาความเป็นพวก ความเป็นเพื่อน หรือแม้กระทั่งความผูกพันระหว่างอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริกก็ไม่ควรยึด ทั้งนี้ เพื่อเห็นแก่ความอยู่รอดของพระสัทธรรมคำสอนของตถาคตตามแนวทาง ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระกิมพิละที่ว่า “ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา เคารพยำเกรงกันและกันนี้แล กิมพิละเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”

แต่ปรากฏการณ์เกี่ยวกับพระธัมมชโยเท่าที่เป็นมาแล้วจนถึงปัจจุบัน ตรงกันข้ามกับพุทธดังกล่าวข้างต้นโดยสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น