xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ วินิจฉัย พศ.-มส.ชงชื่อสังฆราชผิดขั้นตอน เหตุ กม.ให้อำนาจนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลขาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยผลสอบการตั้งพระสังฆราช ชี้ พศ.-มส.เสนอชื่อผิดขั้นตอน แจง กม.เขียนคำว่า “ให้” หมายความนายกฯ เป็นผู้เสนอรายนามให้ มส.พิจารณา ย้ำเป็นคำแนะนำไม่มีผลผูกพันแบบคำสั่งศาล ไม่ก้าวล่วงมติ มส. แค่ตีความตาม กม.



วันนี้ (4 มี.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฎิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ร้องเรียนให้ตรวจสอบการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่สมควรได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอให้มหาเถรสมาคม (มส.) พิจารณาและเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนใน มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ว่า นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ และนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมกันพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ระเบียบราชประเพณี ประกอบเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การที่ พศ.เสนอรายนามพระราชาคณะให้ มส.พิจารณา และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นกระทำผิดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากวรรค 2 มาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาตามพจนานุกรมและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแล้ว ให้ความเห็นว่าจากรูปประโยคของกฎหมายนั้นคำว่า “ให้” นั้น หมายความว่านายกฯ จะต้องเป็นผู้เสนอรายนามให้ มส.พิจารณา และเมื่อ มส.เห็นชอบ จึงจะส่งชื่อให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ที่กฎหมายระบุอย่างนี้ก็เพราะนายกฯ ต้องเป็นคนเสนอและเป็นคนรับผิดชอบ ดังนั้นก็จะต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงนายไปรษณีย์ แต่เมื่อพิจารณาขั้นตอนที่ มส.ดำเนินการพบว่าผิดขั้นตอน

นายรักษเกชากล่าวอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งหนังสือไปยังนายกฯ แล้วในช่วงเช้าวันนี้ เพื่อให้นายกฯพิจารณาข้อเสนอแนะ และสั่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พศ. ให้ดึงเรื่องกลับและดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอน แต่อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีผลผูกพันเหมือนคำพิพากษาของศาล เป็นเพียงข้อแนะนำซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจนายกฯ ว่าเห็นด้วยต่อข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ ทั้งนี้การพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ก้าวล่วงว่ามติ มส.ที่เห็นชอบเสนอชื่อใคร หรือคนที่ถูกเสนอชืิ่อเหมาะสมที่จะเป็นพระสังฆราชหรือไม่อย่างไร แต่เราตีความตามข้อกฎหมายว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่

เมื่อถามว่าการตีความกฎหมายครั้งนี้อาจทำให้ฝ่ายอาณาจักรครอบงำฝ่ายศาสนจักรหรือไม่ นายรักษเกชากล่าวว่า เป็นความเห็นของแต่ละคนจะมองว่าเป็นอย่างไร หากเห็นว่าครอบงำก็ต้องไปแก้กฎหมาย เพราะผู้ตรวจพิจารณาตามกฎหมายปัจจุบันเท่านั้น









กำลังโหลดความคิดเห็น