มส. เห็นชอบตั้งประธานเดินหน้าปฏิรูปคณะสงฆ์ ด้าน พศ. ประสานฝ่ายกฎหมายวัดปากน้ำ แจงดีเอสไอคดีรถโบราณ 2 มี.ค. นี้ เผยสมเด็จวัดปากน้ำ ย้ำไม่ถือสาคนหมิ่น ปล่อยให้เป็นไปตามกรรม
วันนี้ (29 ก.พ.) ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จ.นครปฐม มีการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 5/2559 โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานการประชุม โดย นายชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยภายหลังประชุม มส.ว่า วันนี้ มส. ไม่ได้มีการหารือประเด็นการเสนอรายชื่อ สมเด็จพระราชาคณะ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแต่อย่างใด เนื่องจากสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาของ มส. ไปแล้ว สำหรับกระแสข่าวที่ออกไปว่า รัฐบาลจะตีกลับมติ มส. เรื่องการตั้งสมเด็จพระสังฆราชมาให้ มส. นั้น ขณะนี้ยังไม่มีส่งเรื่องกลับมาแต่อย่างใด และก็ไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวมาก่อน ส่วนที่รัฐบาลขอความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งการเสนอตั้งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่ง พศ.ยังอยู่ในขั้นตอนสรุปข้อมูล ยังไม่ได้ส่งไปถึงมือรัฐบาลแต่อย่างใด
นายชยพล กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม มส. ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง กรรมการ มส. เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาใน 6 ด้าน 1 องค์ประกอบ ดังนี้ คณะกรรมการด้านการปกครอง มอบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นประธาน ด้านศาสนศึกษา มอบ พระพรหมโมลี เป็นประธาน ด้านการเผยแผ่ มอบสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นประธาน ด้านสาธารณูปการ มอบ พระพรหมมุนี เป็นประธาน ด้านศึกษาสงเคราะห์ มอบ พระพรหมบัณฑิต เป็นประธาน ด้านสาธารณสงเคราะห์ มอบพระพรหมวิชรญาณ เป็นประธาน และการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก มอบ สมเด็จพระพุทธิชินวงศ์ เป็นประธาน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการแต่ละชุดออกมา เพื่อขับเคลื่อนการทำงานที่ชัดเจนภายใน 1 - 2 เดือนนี้
นายชยพล กล่าวต่อว่า แผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา จะเริ่มดำเนินการในปี 2559 และสิ้นสุดในปี 2563 โดยแผนเร่งด่วนที่ พศ. เสนอไปยังสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้อยู่โรดแมป 1 ปี 6 เดือน ใน 4 ข้อ คือ 1. การตรา พ.ร.บ. การศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งที่ประชุม มส. ครั้งนี้ ได้มีมติเห็นผ่าน ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาพระปริยัติธรรมแล้ว โดย นายพนม ศรศิลป์ ผอ.พศ. ได้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสนอไปยัง สปท. แล้ว เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ให้เสร็จทันตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ ถือเป็นครั้งแรกที่ระบบการศึกษาสงฆ์จะมีกฎหมายรองรับ เนื่องจากที่ผ่านมาทำระบบราชประเพณีที่สืบต่อกันมา 2. การปรับปรุงให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก 3. การจัดทำบัญชีทรัพย์ของวัดได้มาตรฐาน และ 4. การผลักดันบรรจุวิชาพระพุทธศาสนาไว้ในหลักสูตรการศึกษาของชาติทุกระดับ ซึ่งเป็นแนวทางเบื้องต้นในการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในระยะเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเรื่องของรถโบราณของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ นายชยพล กล่าวว่า ในฐานะที่สมเด็จฯ เป็นประธานคณะสงฆ์ไทย ทาง พศ. จึงได้ประสานกับทางฝ่ายกฎหมายวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในการร่วมกันศึกษาข้อกฎหมาย โดยดีเอสไอ ได้สรุปว่า ขั้นตอนการจดประกอบผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนการซื้อขาย โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไม่ใช่ผู้ซื้อขาย แต่ท่านเป็นเพียงผู้รับการถวายมาเท่านั้น ทั้งนี้ ทางฝ่ายกฎหมายของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จะเข้าชี้แจงต่อดีเอสไอ ถึงกรณีการครอบครองรถของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรอย่างไร ซึ่งจะยืนยันว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องนี้แต่อย่างใด ในวันที่ 2 มี.ค. นี้
เมื่อถามขณะนี้มีการดูหมิ่น พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นจำนวนมาก ทาง พศ. จะมีการดำเนินการอย่างไรหรือไม่ นายชยพล กล่าวว่า ทาง มส. ยืนยันเหมือนเดิมว่า ไม่ให้ดำเนินการอะไรกับกลุ่มที่หมิ่น มส. และพระมหาเถระ ซึ่งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้กำชับอย่างต่อเนื่องว่า อย่าไปถือสาหาความปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรม
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่