xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ให้ สปช.ซักรัฐธรรมนูญ 25 ส.ค.ปัดโน้มน้าว ยันไม่ใช่ร่างในฝันของใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยถก สปช. 25 ส.ค.นี้ ชี้แจงข้อสงสัยร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นต่างๆ ไม่ได้โน้มน้าว เปิดให้ซักถามได้ ก่อนจ้อสื่อวันรุ่งชึ้น ยันไม่ใช่ร่างในฝันของใคร ไม่มีสืบทอดอำนาจ แต่ให้สอดคล้องสถานการณ์ไม่ให้มีวิกฤตซ้ำ อย่าเอาเหตุไม่ปกติมาโยงรับหรือไม่ ด้าน “หมอพลเดช” เผย กมธ.หนุน 33 เรื่อง แก้เนื้อหาจนน่าพอใจ

วันนี้ (19 ส.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการสัมมนานอกรอบระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. อย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ 25 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ว่าจะเป็นการหารือภายใน เพื่อชี้แจงข้อสงสัยให้แก่สมาชิก สปช.ต่อประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากส่งมอบให้ในวันที่ 22 ส.ค. โดยจะมีการชี้แจงภาพรวมและเปิดให้สมาชิก สปช.ซักถามรายประเด็น ไม่ได้เป็นการจัดงานเพื่อโน้มน้าวให้สมาชิก สปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่สื่อจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟัง โดยทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อสื่อมวลชนในวันที่ 26 ส.ค.

พล.อ.เลิศรัตน์ย้ำด้วยว่า การทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มุ่งมั่นทำงานให้ดีที่สุดภายใต้การนำของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งผลสุดท้ายไม่ใช่ประเด็นสำคัญว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้ไม่ได้เป็นร่างในฝันของใคร แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนข้อครหาที่ถูกมองว่า มีการร่างกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ยืนยันว่าไม่มีการสืบทอดอำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เป็นการร่างเพื่อให้สอดคล้องกับการสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตซ้ำ พร้อมขออย่าโยงสถานการณ์ที่ไม่ปกติในปัจจุบัน มาเกี่ยวข้องกับการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ด้านบริหารราชการแผ่นดิน เปิดเผยหลังจากเข้าฟังการชี้แจงการปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่า ทางกลุ่มได้ส่งประเด็นที่ต้องการปรับแก้ทั้งหมด 71 ประเด็น ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นด้วย 33 ประเด็น และไม่เห็นด้วย 38 ประเด็น ซึ่งโดยรวมแล้ว เนื้อหาในส่วนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ สังคม การคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มีการปรับแก้เนื้อหาเป็นที่น่าพอใจกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงหมวดการปฏิรูปประเทศ ก็มีความพอใจกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ให้บัญญัติเนื้อหาไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ โดยมีการบรรจุรายละเอียดการปฏิรูป และเป็นไปเพื่อการบังคับให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพราะหากกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นเพียงหลักการเท่านั้น ไม่ได้มีสภาพบังคับเท่ากับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ

นพ.พลเดชกล่าวว่า ขณะที่เนื้อหาในส่วนการเมือง ยอมรับว่าไม่ได้ตามที่ต้องการทั้งหมด หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ได้เพียงประมาณ 50 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ พร้อมยกตัวอย่างข้อเสนอที่ขอให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่สุดท้ายเนื้อหาบัญญัติไว้ให้มีสัดส่วนจากการเลือกตั้งด้วย แต่ก็มีเนื้อหาที่น่าพอใจ ทั้งการปรับลดอำนาจ ส.ว. และการแยกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกจากผู้ตรวจการแผ่นดิน


กำลังโหลดความคิดเห็น