ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ส่วนใหญ่ค้านเปิดเสรีต่างชาติถือหุ้นโทรคมนาคมมองเรื่องความมั่นคง มีท้วง ระบุเจ้าของต้องเป็นสัญชาติไทย เหตุมีข้อตกลงอาเซียน หวั่นมีปัญหา ก่อนหารือฝ่ายเกี่ยวข้อง ท้ายสุดก็ไม่ปรับคงตามเดิม บัญญัติเพิ่มสมัคร ส.ว.ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรค คาดปลายสัปดาห์ถกบทเฉพาะกาล
วันนี้ (24 ก.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งได้พิจารณาทบทวนเนื้อหาในมาตราที่ได้แขวนไว้ อาทิ มาตรา 50 เรื่อง การเป็นเจ้าของการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่ ที่จะเปิดเสรีให้ต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นกิจการโทรคมนาคมได้ไม่เกินร้อยละ 70 ตามสาระสำคัญของข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเด็นนี้กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า เรื่องสื่อสารมวลชนของประเทศเป็นเรื่องของความมั่นคง จึงไม่ควรให้ต่างชาติเข้ามาถือครองหรือเป็นเจ้าของสื่อ และสื่อของประเทศไทยก็ต้องให้คนไทยเป็นเจ้าของซึ่งต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมถึงกรณีที่มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการทักท้วงข้อความในมาตรา 50 วรรคท้าย ที่ระบุว่า “เจ้าของกิจการตามมาตรานี้ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย” อาจเกิดปัญหาตามมา เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยได้มีข้อตกลงที่ไปทำกับประเทศอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องของสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ดังนั้นหากมีการกำหนดให้ “เจ้าของกิจการต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย” จะเกิดปัญหาตามมาภายหลังหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ทางกมธ.ยกร่างฯ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นายเจษฎ์ โทณวณิก น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งภายหลังจากการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ทางกมธ.ยกร่างฯได้นำมาพิจารณาในการประชุมวันนี้ (24ก.ค.) ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีการปรับแก้ไขใดๆ ยืนยันตามหลักการเดิมในมาตรา 50 วรรคท้าย ที่ระบุว่า “เจ้าของกิจการตามมาตรานี้ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย”
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยได้บัญญัติข้อความเพิ่มว่า “ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง” เข้ามาอีกด้วย
สำหรับการประชุมสัปดาห์หน้าของ กมธ.ยกร่างฯ ยังคงเป็นการพิจารณาเจตนารมณ์ร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา และคาดว่าในช่วงปลายสัปดาห์จะเข้าสู่การเขียนบทเฉพาะกาล