ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แจงความจำเป็นปฏิรูปสื่อ ร่างใน รธน.คำนึงประโยชน์ประชาชนมากกว่าหารายได้ ห้ามครอบงำ ยกครั้งแรกมีองค์กรตรวจสอบกันเอง ย้ำความเป็นอิสระ กม.ไม่สามารถบังคับได้ เผยพิจารณาแก้ร่าง รธน.ช้ากว่าที่วาง แย้มต้องเร่งทำเสาร์ขอาทิตย์ด้วย ยันเปลี่ยนคำพลเมืองไม่กระทบหลักการพลเมืองเป็นใหญ่ รับการแก้ รธน.ตามคำขอ ครม.สำคัญ แต่ก็ไม่ได้ตัดคำขออื่นๆ
วันนี้ (3 ก.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตสื่อไทยหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปสื่อมวลชน พร้อมชี้แจงถึงหลักการที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพ ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนสูงสุด มากกว่าที่จะตั้งเป้าหารายได้เข้าองค์กรของรัฐ การครอบครองกิจการสื่อที่จะต้องไม่เป็นการครอบงำ จำกัด หรือปิดกั้นการนำเสนอ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ความเป็นอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ปราศจากการแทรกแซงโดยรัฐหรือกลุ่มทุน
“จะเป็นครั้งแรกที่จะกำหนดในรัฐธรรมนูญให้มีองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบกันเอง เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการตั้งองค์กรสื่อมาทำหน้าที่ แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ เมื่อมีผู้กระทำผิดลาออกจากสมาคมก็ไม่สามารถเอาผิดได้ รวมถึงยังมีเรื่องใหญ่เกี่ยวกับสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ประชาชนทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ และเป็นช่องทางที่ข้อมูลข่าวสารไหลผ่านเร็ว ซึ่งต้องระวังว่าจะกำหนดขอบเขตจริยธรรมอย่างไร ท่ามกลางสังคมไทยที่ยังชอบข่าวลือต่างๆ”
นายบวรศักดิ์ยังย้ำถึงหลักความเป็นอิสระ แม้ว่ากฎหมายจะสามารถร่างกลไกป้องกันจากภายนอกได้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ความเป็นอิสระจากภายในของแต่ละบุคคล ที่กฎหมายไม่สามารถบังคับได้ คือความเป็นอิสระจากความชอบ ความโลภ ความโกรธ และความกลัว ซึ่งอยู่ที่ตัวบุคคล ผู้ร่วมวิชาชีพ และสังคม จะทำให้ความอิสระจากภายในเกิดขึ้น
นายบวรศักดิ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ขณะนี้ถึงการพิจารณาหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยยอมรับว่าการพิจารณาช้ากว่าที่วางไว้ จึงอาจต้องพิจารณาในวันเสาร์และอาทิตย์ด้วย พร้อมชี้แจงถึงคำขอแก้ไขที่ต้องปรับเปลี่ยนหลายมาตราว่า ในบางประเด็นแม้จะเป็นเรื่องเดียว แต่ต้องปรับถ้อยคำหลายมาตรา เช่น กลุ่มการเมือง และมองว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้ไขแล้วจะน้อยกว่า 300 มาตรา เพราะหลายเรื่องที่เป็นรายละเอียดจะนำไปบรรจุไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่นการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ
ส่วนการเปลี่ยนถ้อยคำจากพลเมืองเป็นบุคคลในบางมาตรา นายบวรศักดิ์ชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการกระทบต่อหลักการสำคัญเรื่องพลเมืองเป็นใหญ่ แต่เป็นการแก้ไขถ้อยคำให้ชัดเจนมากขึ้นในฐานะของผู้ทรงสิทธิ์ในฐานะปวงชนชาวไทย
นายบวรศักดิ์ยอมรับว่า การพิจารณาแก้ไขตามคำขอแก้ไขของคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร แต่ก็ไม่ได้ตัดคำขอแก้ไขของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือประชาชน ออก พร้อมยกตัวอย่างการปรับแก้ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ทำตามคำขอของ สปช. ซึ่งในหมวดนี้ ครม.ไม่ได้ส่งคำขอแก้ไขมา หรือกรณีที่คณะกรรมาธิการฯ ให้คงองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ ซึ่ง ครม.ส่งคำขอแก้ไขให้ตัดออก