xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีราชา” ฉุนขุดบ่อบาดาลนครศรีธรรมราช 6 ปี ไม่เสร็จ - แนะสระกักเก็บน้ำแก้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ตรวจการแผ่นดินสัญจร ลงพื้นที่นครศรีธรรมราช ดันบ่อกักเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมสอบโครงการขุดเจาะน้ำบาดาลล่าช้า 6 ปี ยังไม่เสร็จ “ศรีราชา” ฉุน จี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งผู้รับเหมาดำเนินการภายใน 30 วัน ระบุ หากเพิกเฉย ฟ้องถึงนายกฯ

วันนี้ (13 เม.ย.) ที่ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเวลา 10.00 น. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดโครงการ “เสวนาวิชาการผู้ตรวจการแผ่นดินสัญจรพบสื่อมวลชน” นำโดย นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ และ นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ นายธาวิน อินทร์จำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เพื่อแก้ไขปัญหากรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนแหล่งกักเก็บน้ำ พร้อมตรวจสอบโครงการนำร่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งแก่ประชาชนในพื้นที่

โดยจุดแรก บริเวณสระน้ำบ้านไสโก หมู่ 4 ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา เพื่อเร่งแก้ไขปัญหากรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งและน้ำท่วม ได้ร้องเรียนขอให้องค์การบริหารส่วนตำบลท่าขึ้น ดำเนินการขุดลอกสระน้ำในเขตที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน บ้านไสโก ซึ่งสระน้ำดังกล่าวกรมประมงได้ขุดเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อปี 2531 มีพื้นที่กว่า 7 ไร่ (กว้าง 89 เมตร ยาว 139 เมตร) แต่ปัจจุบัน สระน้ำดังกล่าวประสบปัญหาตื้นเขิน ทำให้ประชาชนกว่า 4,000 คน ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำดังกล่าวได้ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง

โดย นายศรีราชา กล่าวว่า ผู้ตรวจฯ กับเรื่องน้ำ เริ่มต้นที่ จ.สุรินทร์ มีชาวบ้านขุดลอกบ่อน้ำ ซึ่งเราก็ขอความร่วมมือกรมบรรเทาสาธารณภัย นครราชสีมา ภายใน 7 วันก็แล้วเสร็จ ที่นี่ไม่ใช่ที่เดียว มีอีกเป็นร้อยเป็นพันทั่วประเทศที่ต้องการบ่อน้ำ ซึ่งเป็นเพราะสภาพอากาศภัยแล้งที่มากยิ่งขึ้นทุกวัน การหาแหล่งกับเก็บน้ำจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของมนุษย์ ในการทำมาหากินและการอุปโภคบริโภคด้วย ดังนั้น ชาวบ้านช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทอดผ้าป่า สร้างฝาย สร้างบ่อน้ำ อย่ามัวแต่ไปรองบประมาณแผ่นดิน ต้องช่วยกัน และผู้ตรวจฯ จะช่วยประสานกับทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันสร้างบ่อน้ำ สร้างฝายกันน้ำ โดยไม่ผ่านคนกลางหรือผู้รับเหมา งบประมาณที่ใช้ก่อสร้างก็จะน้อยมาก

แต่ทั้งนี้ อยากฝากว่าแต่ละ อบต. ต้องมีการบริหารงานร่วมกัน ในการแบ่งเฉลี่ยน้ำจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำด้วย อย่ากักเก็บน้ำไว้ใช้เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสามัคคีกัน ก้าวข้ามผ่านวิกฤตแล้ง และบริหารจัดการที่ดี พวกเราจะสบาย ถ้าเราสร้างฝ่ายสร้างบ่อน้ำมารองรับ ฝนตกมาน้ำยังอยู่ไม่ไหลลงทะเลหมด และภาคใต้จะมีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดไป

จากนั้น ได้ลงพื้นที่จุดที่ 2 สถานีสูบน้ำบาดาล บ่อที่ W02 บ้านยางใหญ่ หมู่ที่ 6 ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา เพื่อตรวจสอบกรณีประชาชนได้ความเดือดร้อนไม่สามารถใช้น้ำจากโครงการนำร่องการจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรณีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินโครงการจัดทำแผนบูรณาการน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินทั่วประเทศ และนำร่องการจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินในพื้นที่ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา และได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนศึกษาโครงการดังกล่าว พร้อมดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล จำนวนทั้งสิ้น 15 บ่อ ใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท มีกำหนดการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2552 ถึง 20 ก.ค. 2554 แต่ปัจจุบันการดำเนินโครงการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จและยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

ทั้งนี้ นายศรีราชา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทเอกชนผู้รับเหมาโครงการ ไม่ได้ดำเนินการต่อกระแสไฟฟ้าเพื่อจ่ายน้ำไปยังชาวบ้านให้เสร็จสิ้น ซึ่งมีระยะเวลานานกว่า 6 ปีแล้ว ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้เร่งรัดให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งประสานงานผู้บริษัทผู้รับเหมา เพื่อเข้ามาดำเนินโครงการให้เสร็จสิ้น และซ่อมแซมท่อจ่ายน้ำที่ชำรุด ภายในวันที่ 13 มิ.ย. นี้ หากยังไม่มีความคืบหน้า ก็จะส่งเรื่องไปรายงานนายกรัฐมนตรีต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น