xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฮุบแอร์เอเชีย บิ๊กดีลสลัวๆ ของเจ้าสัวคิงเพาเวอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรื่องของ เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนาประภา เจ้าของทีมจิ้งจอกเลสเตอร์ และอาณาจักรดิวตี้ฟรี คิงเพาเวอร์ ซื้อหุ้นสายการบินไทยแอร์เอเชีย กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เมาท์กันสนั่นเมืองโดยเฉพาะบรรดาแมงเม่าทั้งหลาย ไม่แต่เหตุผลเบื้องหน้าที่ว่า เจ้าสัววิชัยต้องการต่อยอดทางธุรกิจเพื่อก้าวกระโดดสู่เป้าหมายแสนล้านในอีกสองปีข้างหน้า กระทั่งดันหุ้น บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ที่ทำท่าปักหัวลงตอนเปิดตลาดจากราคาเทนเดอร์ออฟเฟอร์ที่ต่ำกว่าราคาตลาด พลิกผันเป็นบวกขึ้นในชั่วพริบตา

ขณะที่เหตุผลเบื้องหลังที่ว่าเหตุไฉน “ครอบครัวแบเลเว็ลด์” ถึงยอมขายหุ้นออกไปในราคาต่ำกว่าตลาดก็ยังเป็นประเด็นที่น่าสงสัยเพราะน้อยนักที่จะ เกิดดีลเช่นนี้ขึ้น ไม่นับเรื่องที่ว่าเจ้าสัววิชัย ผันเงินเป็นหมื่นล้านจากไหนมาซื้อหุ้นคราวนี้ ใช่เม็ดเงินที่มั่งคั่งร่ำรวยจากธุรกิจในต่างแดนจิ้งจอกเลสเตอร์ที่อังกฤษ หรือเปล่าหนอ ?

ยิ่งคำอธิบายจาก นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่ไม่อยากให้ถามว่าทำไมขายหุ้นออกไปในราคาต่ำกว่าตลาด ที่ว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียที่อยู่ในมือของครอบครัวแบเลเว็ลด์ นั้นเติบโตสูงสุดมาจนสุดทางแล้ว เมื่อยังอยากโตแบบก้าวกระโดด ทะยานฟ้าต่อไปก็มีแต่ต้องดึงทุนใหญ่อย่างคิง เพาเวอร์ เข้ามาซื้อหุ้น ซึ่งจะดีต่อบริษัท ดีต่อพนักงาน และดีต่อผู้ถือหุ้น ยิ่งชวนให้ฉงนฉงาย เป็นเหตุผลที่ไม่น่าเชื่อว่า นักธุรกิจอย่างนายธรรศพลฐ์ จะดำรงตนเป็นพ่อพระในตลาดหุ้น เป็นผู้เสียสละเพื่อความเติบโตของธุรกิจที่ตนเองปลุกปั้นขึ้นมา ราวกับว่าแค่ได้เห็นไทยแอร์เอเชียรุ่งเรืองต่อไปก็เป็นสุขแล้ว ประมาณนั้น

บิ๊กดีลครั้งนี้ นายธรรศพลฐ์ย้ำแล้วย้ำอีกว่า การตัดสินใจขายหุ้น บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือAAV ในส่วนของครอบครัวแบเลเว็ลด์ ให้กับครอบครัวศรีวัฒนาประภา นั้นเนื่องจากเห็นว่าการรวมสองธุรกิจ ซึ่งกลุ่มคิงเพาเวอร์ มีศักยภาพมากจะทำให้ธุรกิจของสายการบินไทยแอร์เอเชียเติบโตแบบก้าวกระโดด คือ 1 บวก 1 จะไม่ใช่ 2 หรือแค่ 3 แต่จะกระโดดเป็น 4 เป็น 5เพราะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นฐานลูกค้าของสองบริษัทเหมือนกัน

ขณะที่ราคาขายที่ 4.20 บาทต่อหุ้น ไม่อยากให้มองว่าต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบัน ที่ราคากว่า 6 บาทต่อหุ้น เพราะถือเป็นราคาที่เหมาะสมทางธุรกิจและเป็นราคาที่ตนพอใจ และการขายหุ้นของสายการบินไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะตามกฎหมายไทย ต้องเป็นนิติบุคคลไทยและมีบุคคลธรรมดาถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่า 51%

“กว่า 13 ปีที่ผ่านมา ไทยแอร์เอเชียล้มลุกคลุกคลาน จน 5 ปีหลัง ถึงประสบความสำเร็จ มีส่วนแบ่งการตลาดการบินในประเทศสูงสุด และมีเส้นทางครอบคลุมในภูมิภาคทั้ง CLMV ,เอเชีย จีนตอนกลาง-ใต้ มากที่สุด ถือว่าได้มาถึงจุดสูงสุดแล้ว วันนี้ตัดสินใจขายหุ้นให้ กลุ่มคิงเพาเวอร์เพราะเราอยากโตต่อไป รักษาอัตราเติบโตทั้งผู้โดยสารและรายได้เฉลี่ยปีละ 20% เป็นอย่างน้อย” นายธรรศพลฐ์ กล่าวย้ำ

ดีลครั้งนี้ แบเลเว็ลด์ ยังคงหุ้นอยู่ในไทยแอร์เอเชีย 5% ทั้งนายธรรศพลฐ์ ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งซีอีโอต่อไปอีก 5 ปี นับจากนี้ ดังนั้น เขาจึงบอกว่าทุกอย่างดำเนินไปเหมือนเดิมเพราะตนเองยังนั่งบริหารอยู่ แต่ความเป็นจริงนี่เป็นเพียงช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านรอให้เจ้าสัวน้อย “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” กล้าแกร่งในธุรกิจนี้ก่อนที่จะผ่องถ่ายอำนาจบริหารมาอยู่ในมือของเจ้าสัวน้อยอย่างสมบูรณ์แบบ

สำหรับคำอธิบายจากเจ้าสัววิชัย ดูเหมือนจะตรงไปตรงมาชัดเจนว่าซื้อสายการบินไทยแอร์เอเชียเพื่อมาต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อรายได้และกำไรอันงดงามในอนาคต เป็นความพยายามที่ยังไม่สิ้นของเจ้าสัวซึ่งเคยอยากได้สายการบินมาไว้ในครอบครองก่อนหน้านี้แล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่สำเร็จสมดังประสงค์ คราวนี้จึงสมหวังดังตั้งใจ

ในวันแถลงข่าว นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เปิดเผยถึงเหตุผลในการซื้อหุ้น บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้น 55%ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ในสัดส่วน 39% มูลค่ารวมประมาณ 7,945 ล้านบาท จากนายธรรศพลฐ์ และครอบครัว ว่า มีความสนใจลงทุนในธุรกิจสายการบินมานานแล้ว โดยก่อนหน้านี้เคยซื้อหุ้นสายการบินนกแอร์ 5% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากจนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานจึงได้

เจ้าสัววิชัย เฉลยที่มาของเงินที่ใช้ซื้อหุ้นครั้งนี้ว่า “ผมใช้เงินของครอบครัวเกือบ8,000 ล้านบาท ส่วนที่ทำ Tender Offer อีก 60% คาดว่าต้องใช้เงินอีก 12,000ล้านบาท ส่วนนี้ผมใช้เงินกู้จากแบงก์ไทยพาณิชย์ ยืนยันเป็นการลงทุนระยะยาวแน่นอน เพราะการลงทุนซื้อหุ้นครั้งนี้ผมไม่สามารถนำไปขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ เพราะฉะนั้น รายได้หลักจะมาจากเงินปันผล คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 8 ปี”นายวิชัย กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์การเข้าซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ เจ้าสัววิชัย ได้ประกาศจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์(เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) จากรายย่อยทั้งหมดจำนวน 2,918.41 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 60.17%ในราคาหุ้นละ 4.20 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 12,257.33 ล้านบาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ และสำนักงานกฎหมายแคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย

หากกังขาว่าซื้อหุ้น AAV แล้วจะขายทิ้งเหมือนนกแอร์ และอาร์เอส(RS)ที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ไหม เจ้าสัววิชัย ยืนยันว่า การซื้อหุ้นครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนระยะยาวของตนเองและครอบครัว โดยไม่มีแผนซื้อมาเพื่อขายต่อ เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายอันเกี่ยวกับการเดินอากาศที่ได้กำหนดสัดส่วนการถือครองหุ้นว่า ผู้ถือหุ้นต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51%ซึ่งทำให้ยากต่อการที่จะหาผู้ที่มีความสนใจที่จะซื้อหุ้น AAV เป็นจำนวนมากได้

การซื้อหุ้นครั้งนี้ยังถือเป็นการส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกและสายการบิน ตลอดจนสร้างโอกาสใหม่ในธุรกิจให้แข็งแกร่ง รวมถึงการพัฒนาแบรนด์ “คิง เพาเวอร์”, “ไทยแอร์เอเชีย” และสโมสร“เลสเตอร์ ซิตี้” ร่วมกันในระดับนานาชาติ โดยจะมีการทำโปรโมชั่นต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าร้านดิวตี้ฟรีและสายการบิน โดยเบื้องต้นจะเริ่มดำเนินงานแผนการจัดระบบการจัดส่งสินค้าในลักษณะ Deliveryถึงที่นั่งบนเครื่องบินให้แก่ผู้โดยสารที่มีการสั่งซื้อสินค้าจากร้านดิวตี้ฟรีผ่านช่องทางออนไลน์

“อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ความร่วมมือครั้งนี้ทำให้ขยายฐานกลุ่มลูกค้าและผู้โดยสารชาวจีนซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น12-13 ล้านคน ภายในปี 2559 ในขณะที่ร้านดิวตี้ฟรีคิงเพาเวอร์ มีลูกค้าชาวจีนมากถึง6-7 ล้านคนต่อปี อนาคตอาจมีแผนเพิ่มเที่ยวบินตรงจากมณฑลต่างๆ ในประเทศจีนสู่จุดหมายปลายทางต่างๆ ในประเทศไทย” นั่นเป็นความฝันของเจ้าสัววิชัย ที่วันนี้คงไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

นายวิชัย ยังกล่าวถึงผลประกอบการของร้านดิวตี้ฟรี คิง เพาเวอร์ ด้วยว่า ในช่วงไตรมาสแรก 2559 ทำยอดขายได้35,000 ล้านบาท โต 20% มากกว่าช่วงเดียวกันกับปีก่อน จึงคาดว่า ณ สิ้นปี 2559จะทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 85,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 10-15% โดยมีเป้าหมายสร้างรายได้รวมของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ให้ถึง 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2560 ไม่รวมรายได้จากสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่ตกปีละประมาณ30,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปี 2560 บริษัทฯ ยังมีแผนลงทุนเพิ่มขึ้นตามรายได้ เริ่มจากการปรับปรุงร้านดิวตี้ฟรี สาขาซอยรางน้ำ ด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในเดือนเมษายน 2560 หลังจากที่เปิดให้บริการครบ 10 ปี จากนั้นยังจะมีการขยายสาขาศรีวารี จังหวัดสมุทรปราการ ในเฟส 2 บนพื้นที่ประมาณ10,000 ตร.ม. โดยเบื้องต้นยังไม่มีกำหนดงบประมาณแต่อย่างใด

จากคำให้สัมภาษณ์สื่อข้างต้นจะเห็นว่าแผนทะยานสู่ความเป็นเศรษฐีแสนล้านของเจ้าสัววิชัย นั้นชัดเจนมาก แม้ว่าที่มาของความมั่งคั่งร่ำรวยของ อาณาจักรธุรกิจของเจ้าสัวจะอยู่ในเงาสลัวมาโดยตลอดก็ตาม

จะว่าไป บนเส้นทาง 13 ปีของสายการบินแอร์เอเชียนี้ มีตำนาน ตั้งแต่การก่อเกิด การเปลี่ยนมือจากตระกูลชินวัตร มาเป็นครอบครัวแบเลเว็ลด์ กระทั่งบิ๊กดีลครั้งล่าสุดที่ไทยแอร์เอเชียตกไปอยู่ในมือของเจ้าสัววิชัย

ยังจำกันได้ไหม แอร์เอเชีย ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เวลานั้นประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อนายทักษิณ ชินวัตร ป่านฉะนี้ ประเทศไทยอาจมีเพียงสายการบินแห่งชาติ คือ การบินไทย ที่ยืนยงอย่างโดดเด่นก็เป็นได้ แต่เนื่องเพราะบ้านเมืองมีนายกรัฐมนตรี ที่เป็นนักธุรกิจใหญ่แท้ๆ จึงทำให้วงการบินของเมืองไทยเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างสิ้นเชิงดังที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน

หากอ้างอิงจากคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ชัดเจนว่า นายทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจรัฐออกนโยบายและเอื้อประโยชน์ให้กับสายการบินแอร์เอเชีย โดยคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 2390/2547 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2506/2555ตัดสินเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ซึ่ง “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” สรุปประเด็นตามคำพิพากษาของศาลฯ ระบุว่า 1.)รัฐบาลมีนโยบายให้มีสายการบินต้นทุนต่ำเป็นครั้งแรกสมัยที่นายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี

2.)มีการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับแอร์เอเชีย คือ ตั้งเคาน์เตอร์ขายตั๋วโดยสารที่ชั้นสองของดอนเมืองที่เดียวกับการบินไทย,ลดค่าบริการสะพานเทียบเครื่องบินที่ดอนเมืองและภูมิภาคที่แอร์เอเชียให้บริการทำรัฐขาดรายได้3.)บริษัทชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร ถือหุ้นในแอร์เอเชียเกินกว่าร้อยละ 50 และ 4.)มีญาตินายทักษิณ ร่วมเป็นกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.)ซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้ ทอท.สนับสนุนแอร์เอเชียเข้ามาทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และแก้ไขข้อบังคับ ทอท.ว่าด้วยอัตราค่าภาระการใช้ท่าอากาศยาน ทรัพย์สิน บริการ และความสะดวกในกิจการของ ทอท.

การก่อเกิดของสายการบินโลว์คอร์ส ไทยแอร์เอเชีย ยังเป็นการเปิดบริการทับเส้นทางบินภายในประเทศที่ทำกำไรแข่งกับการบินไทยใน7 เส้นทาง คือ เชียงราย เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมา ไม่นับว่าไทยแอร์เอเชีย ได้ขอยกเว้นภาษีและได้รับอนุมัติภาษีบางประการนานถึง 8 ปี โดยขอใช้สิทธิส่งเสริมการลงทุนของบีโอไออีกด้วย เรียกได้ว่าใช้อำนาจอุ้มกันสุดๆ และเป็นหนึ่งในประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในหลายๆ เรื่อง จนเป็นเหตุให้นายทักษิณ ต้องกลายเป็น นช.หนีคดีเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศจนบัดนี้

ไทยแอร์เอเชีย ที่ดำเนินงานภายใต้สโลแกน “ใครๆ ก็บินได้” แรกเริ่มเดิมทีมีชินคอร์ปถือหุ้นในสัดส่วน50% ส่วนแอร์เอเชียมาเลเซียถือ 49% อีก 1% ถือโดยนายธรรศพลฐ์ (ทัศพล) แบเลเว็ลด์ ซึ่งเคยร่วมงานกับนายโทนี่ เฟอร์นันเดส ซีอีโอและผู้ก่อตั้งแอร์เอเชีย มาเลเซีย เมื่อครั้งที่เขาทำงานที่ค่ายเพลงวอร์เนอร์มิวสิค และได้รับชักชวนให้มาร่วมงานและถือหุ้นและเป็นผู้บริหาร

สายการบินโลว์คอร์สไทยแอร์เอเชียเติบโตและทำเงินให้กับชินคอร์ปและแอร์เอเชียมาเลย์อย่างงดงาม จวบจนกระทั่งเมื่อนายทักษิณ ตัดสินใจขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็ก สิงคโปร์ ทำให้สัดส่วนหุ้นต่างชาติในไทยแอร์เอเชียทั้งทางตรงและทางอ้อมเกินสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนดห้ามต่างชาติถือหุ้นเกิน50% จังหวะนั้นนายธรรศพลฐ์ ได้เข้ามากอบกู้ไทยแอร์เอเชียจากวิกฤตทั้งข้อกฎหมายและมรสุมการเมืองที่โหมกระหน่ำ โดยกลุ่มนายธรรศพลฐ์ ตกเป็นจำเลยสังคมว่าเป็น “นอมินี”ซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียจากชินคอร์ป

นิตยสาร Positioning ในเครือผู้จัดการ เขียนเรื่อง “แอร์เอเชีย ใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้” เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 เมื่อครั้งที่ “ทัศพล แบเลเว็ลด์” เปลี่ยนสภาพจากลูกจ้างกลายมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและเจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย โดยสรุปสภาพของไทยแอร์เอเชีย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ 2550 เมื่อผู้บริหารรวม 6คนแถลง นำโดย “ทัศพล” ว่าเป็นผู้อาสากู้เงินจากแบงก์เครดิตสวิสมาซื้อหุ้นจากชินคอร์ปอเรชั่น รวม 980 ล้านบาท และต้องดันไทยแอร์เอเชียเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้ภายใน 3 ปี

ที่สำคัญคือ ภารกิจที่ต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ไทยแอร์เอเชีย หลุดจากเงาของกลุ่มชินคอร์ป เทมาเส็กของสิงคโปร์ และนายทักษิณ ชินวัตร หลังถูกบอยคอตจากลูกค้าจนทำให้ไทยแอร์เอเชียเวลานั้นหล่นจากเบอร์หนึ่งในตลาดโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ลงไปอยู่ในระดับเดียวกันกับวัน ทู โก และนกแอร์ คราครั้งนั้น สื่อทุกสำนักพยายามเสาะแสวงหาคำตอบว่าเป็นเขาเป็นนอมินี ถือหุ้นแทนใครหรือไม่ “ทัศพล” ก็ท้าพิสูจน์ว่าสามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ พร้อมกับบอกว่าใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามมาได้ทุกเวลาพร้อมตอบเสมอในฐานะเจ้าของไทยแอร์เอเชีย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า นายธรรศพลฐ์ จะพยายามสลัดให้ไทยแอร์เอเชียหลุดจากจากเงื้อมเงาของตระกูลชินวัตร แต่หาก ณ วันนี้ ในรายชื่อคณะกรรมการบริษัทเอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (AAV) ยังคงมีชื่อของนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ/ ประธานกรรมการตรวจสอบ/ กรรมการอิสระ และแน่นอน ย่อมเป็น“อารักษ์” ขุนพลข้างกายนายทักษิณ ที่หอบหิ้วกันมาตั้งแต่สมัยก่อร่างสร้างอาณาจักรชินคอร์ป ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ไม่แปรเปลี่ยนนั่นเอง

“ทัศพล” หรือ“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” คือใคร ข้อมูลจากสื่อหลายสำนักที่สัมภาษณ์นายธรรศพลฐ์ ในหลายวาระหลายโอกาส สรุปรวมความได้ว่า ธรรศพลฐ์ คือซีอีโอรุ่นใหม่ที่สุดซ่าก็ว่าได้ Positioning Magazine ยกให้เขาเป็น1 ใน 50 Young Executive ด้วยสไตล์การบริหารที่คิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นคุณลักษณะนิสัยที่เป็นมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่ยึดถือเอาเรื่องเรียนเป็นรอง กิจกรรมเป็นหลัก ว่างๆ ก็หารายได้เป็นค่าใช้จ่ายแบกเป้ตระเวนทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ

ด้วยสไตล์การทำธุรกิจแบบถึงลูกถึงคน กล้าลองสิ่งใหม่ๆ กล้าได้กล้าเสียที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนของเขาผลักดันให้ไทยแอร์เอเชีย ฝ่าวิกฤตจากกำไรติดลบขึ้นมาครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด28% และมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 20% จากเครื่องบิน 2 ลำ ถึงวันนี้มีเครื่องบินกว่า50 ลำ มีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2559 อยู่ที่ 54,475.66 ล้านบาท มีรายได้รวม เมื่อสิ้นปี 2558 จำนวน30,463.58กำไรกว่าพันล้านบาท และไตรมาสแรกของปีนี้ สามารถทำรายได้รวม 9,183ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 1,009.1ล้านบาท ขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 4.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

AAV ในมือของนายธรรศพลฐ์ ที่ไม่ใช่นักธุรกิจถึงระดับเซียนเหยียบเมฆนั้นว่าสามารถผงาดขึ้นเบอร์หนึ่งสายการบินโลว์คอร์สแล้วAAVในมือของเจ้าสัววิชัย ผู้ที่ได้ชื่อว่า “King of Connection Power” จะทะยานรุดหน้าเกื้อหนุนธุรกิจดิวตี้ฟรีในเงาสลัวได้ขนาดไหน จะต่อยอดธุรกิจจิ้งจอกเลสเตอร์ ให้รุ่งเรืองเทียมฟ้าเทียมเมฆขนาดไหน ลองนึกดู เอ้า...ใครที่จนก็จนต่อไป ส่วนเจ้าสัวที่ร่ำรวยก็รวยกันเสียให้เข็ด

ล้อมกรอบ

10 เรื่องน่ารู้ ของดีล 8 พันล้าน “คิง เพาเวอร์-แอร์เอเชีย”

1.คิง เพาเวอร์ได้เข้าซื้อหุ้นจากไทยแอร์เอเชียในจำนวน 39% จากธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ โดยแบ่งสัดส่วนเป็น วิชัย ศรีวัฒนประภา14% และครอบครัวศรีวัฒนประภาอีก 25% ส่วน ธรรศพลฐ์ ยังคงถือหุ้นอีก 5% และยังคงนั่งแท่นบริหารต่อ

2.มูลค่าดีลนี้ 7,945 ล้านบาท จำนวนกว่า 1,892ล้าน หุ้น ราคา 4.20 บาทต่อหุ้น

3.ทางคิง เพาเวอร์ ต้องการขยายธุรกิจท่องเที่ยว มองว่าธุรกิจดิวตี้ฟรี กับสายการบินเสริมกัน มีการขายสินค้าบนเครื่องบินอยู่แล้วด้วย

4.มีผู้บริหารจากคิง เพาเวอร์ เพียงแค่ 3คนเท่านั้นที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริษัทในไทยแอร์เอเชียในการกำหนดนโยบาย ได้แก่ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา, อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา และสมบัตร เดชาพานิชกุล

5.ไทยแอร์เอเชียต้องการให้บริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดจึงต้องหาผู้ลงทุนเพิ่ม และเป็นพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่ง ตั้งเป้าการเติบโตเป็นเท่าตัวจากปกติมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ20%

6.สิ่งที่ทั้ง 2บริษัทจะได้จากดีลนี้ก็คือเป็นการแลกฐานลูกค้ากัน ไทยแอร์เอเชียได้อาศัยฐานลูกค้าชาวจีนที่เป็นลูกค้าหลักของคิง เพาเวอร์ และคิง เพาเวอร์ก็อาศัยการนำเข้านักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศจากสายการบินเช่นกัน

7.ในอนาคตจะมีบริการร่วมกันอย่างการพรีออเดอร์สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การรับสินค้าบนเครื่องบิน เป็นต้น และจะมีการทำโปรโมชั่นพิเศษร่วมกัน

8.เสี่ยวิชัยมีความสนใจธุรกิจสายการบินอยู่แล้ว เคยเข้าไปถือหุ้นในสายการบินนกแอร์ 5% แต่ไม่มากพอในการบริหารได้ จึงทำการขายหุ้นทิ้ง

9.ทั้ง 2 บริษัทต้องการโฟกัสที่ตลาดจีนเหมือนกัน ไทยแอร์เอเชียมีลูกค้าชาวจีนราว 20% คิง เพาเวอร์เองก้มีกลุ่มลูกค้าชาวจีนราว 6-7ล้านคนต่อปี

10.ในปีนี้คิง เพาเวอร์ตั้งเป้ารายได้ 85,000ล้านบาท เติบโต 20% ส่วนในปีหน้าตั้งเป้ารายได้แตะ 100,000 ล้านบาท



กำลังโหลดความคิดเห็น