xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Duty free? Dirty free? ณ มุมสลัวของเจ้าสัวจิ้งจอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ขณะที่อภิมหาเศรษฐี วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของ คิง เพาเวอร์ กำลังฉลองชัยใหญ่โตกับแชมป์พรีเมียร์ลีกของ ทีมเลสเตอร์ ซิตี้ พร้อมกับนำทัพนักเตะ “จิ้งจอกสยาม” บินกลับมาฉลองชัยในประเทศไทย จู่ๆ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามทุจริต ในสังกัดคณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็ประกาศโป้งขึ้นมาว่า คิง เพาเวอร์ มีพฤติกรรมลักลอบขายสินค้าปลอดภาษีในดิวตี้ฟรีหรือพูดง่ายๆ คือขายของเถื่อน-หนีภาษีที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมี บมจ.การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) รู้เห็นเป็นใจทำให้รัฐเสียหายกว่าสองหมื่นล้าน และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็กำลังตามเช็คบิลด้วย

นี่คงทำเอาฉงนฉงายและถามไถ่กันให้แซ่ดอีกครั้งว่า ข้อกล่าวหานั้นมันใช่หรือไม่ใช่? และตามมาด้วยข้อสงสัยในความร่ำรวยของ คิง เพาเวอร์ นั้น ท่านได้แต่ใดมา เป็นความร่ำรวยในมุมสลัวของเจ้าสัวจิ้งจอก ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “King of Connection Power” กระนั้นหรือ

จะว่าไปบนเส้นทางการก่อเกิด เติบโต มั่งคั่งร่ำรวยของ คิง เพาเวอร์ และเจ้าสัววิชัย ล้วนแต่มีข้อกังขาและอื้อฉาวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับแต่การได้มาซึ่งสัญญาและการต่อสัญญาเช่าพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ การใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อจำหน่ายสินค้าเกินสัญญา จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ครั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ สปท. จะออกมาแฉพฤติกรรมการลักลอบขายสินค้าปลอดภาษีโดยมีหลักฐานว่าผู้สั่งซื้อสินค้าไม่ต้องมีพาสปอร์ตก็ซื้อได้ ทั้งๆ ที่มีระเบียบศุลกากรการซื้อขายสินค้าปลอดภาษีควบคุมอยู่ แถมยังไม่เชื่อมโยงระบบซื้อขายสินค้าให้สามารถตรวจสอบยอดขายได้แบบเรียลไทม์มานานเกือบทศวรรษอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การหาทางซิกแซ็กเพื่อกำไรของธุรกิจเอกชนนั้นพอเข้าใจได้และเอกชนคงทำไม่ได้หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้การช่วยเหลือ ดังนั้น ที่น่าผิดหวังยิ่งกว่า ก็คือ ผู้บริหารหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของรัฐ ไม่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ดังพฤติกรรมที่ผู้บริหาร ทอท.ตั้งหน้าตั้งตาเอื้อประโยชน์และออกมาปกป้อง คิง เพาเวอร์ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ราวกับจะตอกย้ำให้สังคมเข้าใจว่ามีส่วนได้เสียหรือฮั้วกันหรืออย่างไร?

การท้าทายไม่หวั่นว่าใครหน้าไหนจะทำอะไรได้กันขนาดนี้ รัฐบาล คสช. จะปล่อยให้ ผู้บริหาร ทอท. และ วิชัย ศรีวัฒนประภา แห่ง คิง เพาเวอร์ กลายเป็น King of Connection Power ที่ไร้เทียมทาน ไม่อาจมีผู้ใดมาทำอะไรได้จริงๆ ละหรือ??

มาดูกันว่า ข้อกล่าวหา คิง เพาเวอร์ รอบล่าสุดนี้หนักหนาสาหัสขนาดไหน และเจ้าสัววิชัยจะอาศัยคอนเนชันอันดีกับ “พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์” รวมทั้งความเป็น “โซ่ข้อกลาง” ของทุกขั้วอำนาจทั้งเก่าและใหม่ นำพา คิง เพาเวอร์ ฝ่าคลื่นมรสุมรอดพ้นอาญาแผ่นดินหรือไม่

9 ปีที่ไม่เชื่อมต่อ ระบบขายหน้าร้าน(Point of sale)

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามทุจริต ในสังกัดคณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุว่า บริษัทคิง เพาเวอร์ มีพฤติกรรมลักลอบขายสินค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีหลักฐานว่ามีผู้สั่งซื้อสินค้าไวน์ เหล้า และแชมเปญปลอดภาษี โดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ตามระเบียบศุลกากรการซื้อสินค้าปลอดภาษี โดยมีหลักฐานการบันทึกภาพเป็นวิดีโอไว้ด้วย ซึ่งศุลกากรและพนักงานของทอท. ก็ทราบเรื่อง แต่มิได้ดำเนินการ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานคือ ศุลกากร มีหน้าที่เป็นผู้ออกใบอนุญาต และควบคุมสินค้าคลังทัณฑ์บน (สินค้าปลอดอากร) และทอท. ที่ถือเป็นเจ้าของสถานที่ ผู้ให้เช่าสถานที่ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้เช่าพื้นที่ขายสินค้าปลอดอากร ต้องไม่ทำผิดกฎหมายตามใบอนุญาตศุลกากร การลักลอบขายสินค้าปลอดภาษีของคิง เพาเวอร์ และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของสองหน่วยงานดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ทอท. เกี่ยวพันถึงผลประโยชน์และรายได้ของประเทศชาติ

อีกทั้งผลประโยชน์ตามสัญญาจากยอดการขายสินค้าที่กำหนดไว้ว่า ใน 5 ปีแรกของการขายสินค้า ทอท.จะได้รับประโยชน์ 15% จากยอดขายโดยไม่หักค่าใช้จ่าย และเพิ่มอีกปีละ 1% จนครบกำหนดสัญญา 10 ปี แต่ ทอท.กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้หน่วยงานรัฐเสียผลประโยชน์มหาศาล จากกรณีลักลอบขายสินค้าปลอดอากรนี้ ซึ่ง ทอท. มักอ้างว่าได้ให้สัมปทานแก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ แต่ผู้เดียว

ประเด็นเรื่อง คิง เพาเวอร์ ขายของเถื่อน-หนีภาษีนั้น มีพยานหลักฐานมัดแน่นชัดเจนและเคยเป็นคดีความกันมาแล้วระหว่าง คิง เพาเวอร์ กับ นายเจิมศักด์ ปิ่นทอง อดีตผู้ดำเนินรายรายการ “ลงเอย อย่างไร” ตอน “ของเถื่อน ภาษีเถื่อน” ออกอากาศทางช่อง 11 ที่พาดพิง คิง เพาเวอร์ ขายของเถื่อน-หนีภาษี และ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง จำเลย ในความผิดฐานดูหมิ่นด้วยการโฆษณาและหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คดีหมายเลขดำ อ.1822/2554 โดยศาลอาญา มีคำพิพากษาคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 ว่า

“จำเลยมีพยานเป็นผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยว เบิกความยืนยันว่า สามารถสั่งซื้อสุรา ไวน์ และแชมเปญ ปลอดภาษีศุลกาการจากบริษัทของโจทก์ได้จริง โดยพยานมีหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอยืนยันถึงการทดลองสั่งซื้อสุรา ไวน์ และแชมเปญ จำนวนหลายลังจากบุคคลหนึ่ง เพื่อยืนยันว่าสั่งซื้อของได้จริงโดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทางและตั๋วเครื่องบิน โดยสินค้าทั้งหมดถูกใส่อยู่บรรจุภัณฑ์ที่มีชื่อบริษัทของโจทก์ติดอยู่ที่ถุงและมีผู้นำมาส่งให้ถึงที่บ้าน แม้การสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจะไม่ได้สั่งซื้อจากบริษัทโจทก์โดยตรงแต่ก็เป็นสินค้าของบริษัทโจทก์จริง ซึ่งคลิปดังกล่าวเชื่อว่าคงยากแก่การตัดต่อ และพยานไม่เคยรู้จักโจทก์มาก่อนและไม่มีสาเหตุโกรธเคือง จึงเชื่อว่าเบิกความอย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง จึงเชื่อว่าพยานสามารถสั่งซื้อสินค้าปลอดศุลกากรจากบริษัทโจทก์ได้จริง และจำเลยพิสูจน์ได้ว่าคำพูดในรายการที่หมิ่นประมาทโจทก์เป็นเรื่องจริง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อาญา มาตรา 330 พิพากษายกฟ้อง”

ที่น่าแปลกประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือ หลังจากมีคำพิพากษาที่ชี้ชัดว่า คิง เพาเวอร์ ทำธุรกิจในเงาสลัวแล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะมีการดำเนินการอะไร ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องจัดการเรื่องนี้ถึงไม่เอาเรื่อง คิง เพาเวอร์ กระทั่งนายชาญชัญ ต้องออกมากระทุ้งกันอีกรอบหลังมีคำพิพากษาผ่านไปแล้วเกือบ 5 ปี

การออกโรงของนายชาญชัย คราวนี้ ยังบอกด้วยว่า นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจแผ่นดิน(สตง.) เคยทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ.0015/0916 ถึง นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ทอท. เพื่อเร่งรัดให้เชื่อม ระบบขายหน้าร้าน หรือ พ้อยต์ ออฟ เซล หรือ พีโอเอส (Point of sale) คือจุดขาย หรือจุดชำระเงินที่แคชเชียร์ ที่ควบคุมสต็อกสินค้า โดยเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถตรวจสอบยอดขายสินค้าในร้านไปในตัวทันที (เรียล ไทม์) เพื่อที่จะรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ว่าถูกต้องตามที่รายงานหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ สตง.อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบมูลค่าความเสียหาย ซึ่งอนุกมธ. จะได้ตรวจสอบทานกับสตง. ว่ายอดความเสียหายตรงกันหรือไม่ อย่างไร

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ยังสรุปผลการตรวจสอบในประเด็นกรณีศึกษาสัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างบริษัท ทอท. กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ พบว่า บริษัท ทอท. ร่วมกับบริษัท คิง เพาเวอร์ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการทำสัญญาเช่าพื้นที่ โดยมีพยานหลักฐานที่สำคัญ คือ คำฟ้องของบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่ระบุว่าบริษัทได้ลงทุนตบแต่งร้านค้าทั้งในส่วนของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี มีมูลค่าการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ลงทุนตบแต่งร้านค้าอีก 1,700 ล้านบาท

“ตามคำฟ้องและคำถอนฟ้องคดีดังกล่าวของ คิง เพาเวอร์ ทาง ทอท. ย่อมรับทราบเป็นอย่างดีว่าเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าเกินพันล้านบาท ต้องดำเนินการตามกฎหมายร่วมทุนข้างต้นทันที แต่ปรากฏว่า ทอท. ไม่ได้ดำเนินการ ทั้งยังต่อสัญญาให้บริษัทอีก 2 ครั้ง โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุนดังกล่าว ดังนั้น อนุกรรมาธิการฯ ถือว่าสัญญาเป็นโมฆะ การกระทำความผิดของ ทอท. ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัท คิง เพาเวอร์ แต่ทำให้รัฐเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาท”

คณะอนุกรรมาธิการฯ ยังได้สรุปว่า “การกระทำความผิดต่อกฎหมายระหว่าง ทอท. กับ คิง เพาเวอร์ ยังทำให้รัฐเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 21,000 ล้านบาท และทำให้เกิดการผูกขาดสัญญามีอำนาจเหนือรัฐ โดยอ้างว่าสัญญาให้เช่าพื้นที่แก่ คิง เพาเวอร์ คือสัมปทานทั้งสนามบิน ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นแค่การเช่าพื้นที่ และ ทอท. ต้องได้รับผลตอบแทนจากการขายสินค้า 15% ใน 5 ปีแรก จากนั้นต้องปรับเพิ่มอีกทุกปีๆ ละ 1% แต่การกระทำของ ทอท.และ คิง เพาเวอร์ มีการหลบเลี่ยงสัญญา เพราะ คิง เพาเวอร์ ขายสินค้านอกสนามบิน แต่มาส่งมอบสินค้าที่เคาน์เตอร์สนามบินโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา และกีดกันผู้ค้ารายอื่นที่จะส่งมอบสินค้าปลอดภาษีที่สนามบินโดยอ้างว่าเป็นการให้สัมปทานแต่ผู้เดียว

“อีกทั้ง นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ทอท. ได้กล่าวว่า “องค์กรอิสระ คือ สตง.ได้เข้าตรวจสอบบัญชีการขาย และสต๊อกสินค้าคงคลัง ซึ่งตามสัญญาต้องติดตั้งระบบตรวจสอบยอดขาย (POS) มีการกำหนดไว้ใน TOR ครั้งแรก และยังเป็นเงื่อนไขในสัญญา ปรากฏ 9 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ติดตั้ง ก็ไม่เห็นเสียหายอะไรหรือเอาผิดใครได้” ซึ่งเป็นการกล่าวโดยผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ได้ศึกษาสัญญาว่าเป็นการผิดสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งในสัญญาถือว่าเป็นการทำผิดสัญญา ทอท. สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที การท้าทายของผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เท่ากับทำผิดกฎหมาย เอื้อประโยชน์แก่บริษัท คิง เพาเวอร์ โดยเจตนาปกปิดข้อมูลความเสียหายต่อ ทอท.”

การเงื้อดาบเล่นงานเอาผิด ทอท. และ คิง เพาเวอร์ ครั้งนี้ ทำให้มีคำถามตัวโตๆ โดยเฉพาะเรื่องการเชื่อมระบบ POS ว่า ทำไม ทอท.ถึงปล่อยปละละเลยมาถึง 9 ปี แถมบอกว่า ไม่เห็นอะไรมีเสียหาย? ทำไมผู้บริหาร ทอท. ถึงได้ปกป้อง คิง เพาเวอร์ นักหนา? และ คิง เพาเวอร์ มีเหตุผลอะไรที่โยกโย้ ไม่อยากติดตั้งระบบเชื่อมโยง กลัวว่าจะตรวจสอบพบใช่ไหมว่า เปอร์เซ็นต์ที่แบ่งให้กับรัฐต่ำเกินจริง? หากไม่ใช่ทำไมถึงไม่จัดการเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นตั้งแต่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ทั้ง ทอท. และ คิง เพาเวอร์ จะปล่อยให้คาราคาซังทำไม

ย้อนกลับไปดูหนังสือที่ สตง. ส่งถึงนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ ตผ 0015/0916 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 นั้น สตง.ได้ระบุถึงการตรวจสอบพบประเด็นความเสี่ยงที่อาจทำให้หน่วยงานของรัฐเสียเปรียบหรืออาจเกิดความเสียหาย และเป็นช่องว่างของการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใสหลายประเด็น

เช่น ทอท.ไม่เชื่อมโยงรายรับกับกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ แบบเรียลไทม์ ซึ่งอาจทำให้ ทอท.มีโอกาสเสียประโยชน์ค่าตอบแทนจากยอดขายสินค้าในดิวตี้ฟรีและกิจกรรมเชิงพาณิชย์สำหรับร้านค้าย่อยและบริการต่างๆ ซึ่งค่าตอบแทนที่ ทอท.จะได้รับจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับรายได้จากยอดขายของคิง เพาเวอร์ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา, ตัวเลขยอดขายรายเดือนของ ทอท. กับข้อมูลของกรมศุลกากร ในช่วงปี 2553-2558 ไม่ตรงกันโดยยอดขายตามรายงานของ ทอท. ต่ำกว่ากรมศุลกากร รวม 161.83 ล้านบาท, มีการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในบริเวณท่าอากาศยานบางจุดเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา และ การกำหนดอัตราค่าเช่าอาจไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน

แต่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ทอท.หาได้ใส่ใจรายงานของ สตง. ไม่ ดังคำที่ให้สัมภาษณ์ที่ว่า “....ไม่ได้ติดตั้ง ก็ไม่เห็นเสียหายอะไรหรือเอาผิดใครได้”

การออกมาตั้งโต๊ะท้าชน ทอท.และ คิง เพาเวอร์ ของนายชาญชัย ครั้งนี้ ต้องดูแบ็กอัปที่อยู่เบื้องหลังด้วย เพราะว่ากันว่า นายชาญชัย มีบารมี “ป๋า” ที่เชื่อมต่อผ่าน “พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป” คุ้มกันภัย ขณะที่ฟากฝั่งของเจ้าสัววิชัย ก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับ “ป๋าป้อม” นี่เท่ากับเป็นศึกตัวแทนป๋าชนป๋า วัดบารมีกันอีกคำรบหนึ่ง หลังเคยเปิดศึกมาแล้วเมื่อคราวโยกย้ายนายตำรวจ ที่นายชาญชัยออกมาปล่อยหมัดหนักเข้าใส่แบบไม่ยั้งกันมาแล้ว

ไม่ว่าจะกี่ปีกี่รัฐบาล เจ้าสัววิชัย...นายแน่มาก

จะว่าไป ความลำพองของผู้บริหาร ทอท. ที่เอื้อประโยชน์ให้กับ คิง เพาเวอร์ โดยที่ไม่มีหน่วยงานไหนมาเอาผิดได้ ไม่ได้เพิ่งอุบัติขึ้น ย้อนหลังไปตั้งแต่ตอนแรกเริ่มที่มีการเซ็นสัญญากันระหว่าง ทอท. กับ คิง เพาเวอร์ ในช่วงที่รัฐบาลนายทักษิณ กำลังเร่งรัดจะเปิดบริการสนามบินสุวรรณภูมิ ก็เห็นแล้วว่า เจ้าสัววิชัย นายแน่มาก

รายงานข่าว “เปิดสายสัมพันธ์ลึก"คิงเพาเวอร์"ใช้ “ศรีสุข” หัวหอกฮุบสัมปทาน” โดย ผู้จัดการรายวัน ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552 นั้น ว่ากันว่า เส้นทางที่ คิง เพาเวอร์ ฮุบสัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิรายเดียว ดำเนินการผ่านสายสัมพันธ์คนในตระกูลชินวัตรที่เสี่ยวิชัย ให้ความเคารพนับถือคือ “เจ๊ ด.” โดยมีมือไม้คือนายศรีสุข จันทรางศุ ปลัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ บมจ.ทอท. คนที่นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ไว้ใจให้รับสนองนโยบายจัดการงานทุกอย่างในช่วงก่อนเปิดสนามบินสุวรรณภูมิแบบมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งงานก่อสร้างและสัญญาสัมปทานให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

ด้วยสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับคนในตระกูลชินวัตร คิง เพาเวอร์ จึงได้สัมปทานเช่าพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิแต่เพียงผู้เดียว แถมสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า สัมปทานดังกล่าวไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 ตามที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาซีแอนด์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีที่ปรึกษาหลักคือ นายสิงหเทพ เทพกาญจนา ผู้ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษา โดยประเมินมูลค่าการลงทุน ไว้ที่ 813ล้านบาท ไม่นับการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกินกว่าสัญญาประมาณ 5,000 ตารางเมตร

หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 นายศรีสุข ถูก รมว.คมนาคม ในยุคคมช. เด้งพ้น ทอท. และมีการตั้ง พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานบอร์ดทอท.แทน และบอร์ด ทอท. ชุดพล.อ.สะพรั่ง เริ่มรื้อสัญญาฉาว คิง เพาเวอร์ โดยขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความสัญญาดังกล่าว และคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แจ้งกลับมายัง ทอท.ว่า สัญญาการให้สัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์กับคิง เพาเวอร์ เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน และจะต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา แต่สัญญาที่ทำไปแล้วไม่ได้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด บอร์ด ทอท. จึงมีมติว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะมูลค่าการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2535 ตามที่กฤษฎีกามีคำวินิจฉัย ในขณะที่ คิง เพาเวอร์ ฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหาย ทอท. 6.8 หมื่นล้านบาท

แต่การไล่บี้และคดีฟ้องร้องยังไม่สิ้นสุด มีการเปลี่ยนรัฐบาล โดยพรรคพลังประชาชน มาเป็นแกนนำรัฐบาล และ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ขึ้นแท่นรัฐมนตรี กำกับดูแล ทอท. ช่วงนั้นได้มีกระบวนการที่นำไปสู่ข้อสรุปใหม่ว่า ทั้ง 2 สัญญา ที่ ทอท. ทำกับ คิง เพาเวอร์ มีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดย ทอท.ได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงิน 2 ราย คำนวณมูลค่าใหม่มายืนยัน ทำให้สัญญาสัมปทานคิงเพาเวอร์ กลับมาสู่สถานะเดิมเหมือนไม่เคยมีเรื่องโมฆะเกิดขึ้น และมีการประเมินพื้นที่ส่วนเกินเพื่อเก็บค่าเช่าเพิ่ม

ต่อมา เมื่อเปลี่ยนแกนนำรัฐบาลจากพลังประชาชน มาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ซึ่งมีโรงแรมพลูแมน ซอยรางน้ำ เป็นแหล่งพำนักระหว่างการช่วงชิงตั้ง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็ผงาดคุมกระทรวงคมนาคม และนั่นทำให้ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” กับเจ้าสัววิชัย แห่ง คิง เพาเวอร์ แนบแน่นเสียยิ่งกว่าคอหอยกับลูกกระเดือก

คิง เพาเวอร์ ได้รับการเอื้ออาทรจากคณะกรรมการ ทอท. เสมอมา รวมถึงการมีมติขยายระยะเวลาตามสัญญาออกไปจากเดิมวันที่ 28 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2559 ออกไปถึงวันที่ 27 กันยายน 2563 โดยอ้างเหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินทำให้ธุรกิจของ คิง เพาเวอร์ ได้รับผลกระทบ ทอท.จึงชดเชยให้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อไปได้อีก

ประเด็นเรื่องสัญญาและการต่ออายุสัญญาสัมปทานให้กับ คิง เพาเวอร์ ยังได้รับการฟอกขาวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ใสสะอาดเอี่ยมอ่องอีกด้วย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบเรื่องการกล่าวหา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานกรรมการ ทอท. คณะกรรมการ ทอท. ประธานคณะทำงานและคณะทำงานพิจารณาต่ออายุสัญญาของบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ผู้บริหารของกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และที่ปรึกษาของ ทอท. ร่วมกันทุจริตโครงการสัมปทานร้านค้าปลอดอากรและการใช้พื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งการให้สัมปทานเอกชน ประกอบกิจการห้องพักแรม ในอาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน คือนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ

หลังจากดำเนินการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จเรียบร้อย ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554โดยมีมติ 5 ต่อ 4 เสียง ว่าไม่เป็นความผิด เนื่องจากกรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายร่วมทุน เพราะการลงทุนนั้นไม่ถึง 1,000 ล้านบาท และยังเป็นการดำเนินการที่ไม่กีดกันผู้ค้ารายอื่น คณะกรรมการป.ป.ช. จึงมีมติให้คำร้องนั้นตกไป ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ มีผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการกกฤษฎีกา ออกมาชัดเจนว่า เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และยังไม่นำเรื่องเข้า ครม. แต่ ป.ป.ช.กลับไม่รับฟังการวินิจฉัยของกฤษฎีกาฯ

มติ ป.ป.ช. ทำให้ คิง เพาเวอร์ พ้นมลทินทุกข้อกล่าวหาทั้งการได้มาซึ่งสัมปทานเช่าพื้นที่ การต่อสัญญา และการผูกขาด ด้วยเหตุฉะนี้ เจ้าสัววิชัย จึงดูเหมือนไม่ทุกข์ร้อนเมื่อมีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นกล่าวหาซ้ำอีก จะมีก็แต่เรื่องการค้าของเถื่อน-หนีภาษี และการไม่เชื่อมต่อระบบ POS ที่ สตง. กำลังไล่เช็กบิลอยู่นี่แหละที่จะทำให้สะดุ้งขึ้นมาบ้างเล็กน้อย

ระดับเจ้าสัววิชัย มีหรือที่จะยอมปล่อยถูกกล่าวหาแต่ฝ่ายเดียว เมื่อมีโอกาสเจ้าสัววิชัย ก็ทวงบุญทวงคุณที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติว่า ตลอด 26 ปีที่ผ่านมาว่า เขาจ่ายค่าตอบแทนให้หน่วยงานรัฐต่างๆ รวมกว่า 59,000 ล้านบาท และจ่ายภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันไปกว่า 18,000 ล้านบาท รวมกว่า 78,000 ล้านบาท จากยอดจำหน่ายกว่า 400,000 ล้านบาท และกว่า 80% เป็นยอดจำหน่ายให้คนต่างชาติ นั่นย่อมหมายถึงบริษัทมีส่วนในการนำเงินตราเข้าประเทศไทยแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท “นี่ยังไม่นับมูลค่ารวมที่เราทำการตลาดเพื่อเรียกคนจีนให้เข้ามาใช้เงินในประเทศไทยหลายแสนล้านบาทต่อปีด้วย จริงๆ ตัวเลขนี้น่าจะตอบชัดว่า รัฐได้อะไรจาก คิง เพาเวอร์ บ้าง”

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ด้วยสไตล์การทำธุรกิจแบบเจ้าสัวๆ ที่ดำเนินไปแบบ “สลัวๆ” แม้จะสลัดหลุดมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้ายก็ยังคงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า “ความร่ำรวยนี้ คิง เพาเวอร์ นี้ ท่านได้แต่ใดมา”



กำลังโหลดความคิดเห็น