ผู้จัดการรายวัน360-คปพ. นัดรวมพลังประชาชนที่รักชาติ ยื่นหนังสือ "ประยุทธ์" 13 พ.ค.นี้ คัดค้านการกีดกันประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไข 2 กฎหมายปิโตรเลียม จี้ ปตท. คืนท่อก๊าซตามมติ คตง. และค้านพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ "วิษณุ"ขอดูความชัดเจนหนังสือ สตง. ก่อน หลัง คตง. มีมติให้คืนท่อก๊าซ ด้านคลังขอศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายให้ชัด หลังหน่วยงานงานเห็นไม่ตรงกัน ด้าน อนุ กมธ.ปราบทุจริต จี้รัฐตามบี้ AIS-คิงเพาเวอร์ คืนเงินหลวง 2 แสนล้าน หลังได้ประโยชน์จากสัญญาที่ไม่ชอบ
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำและโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2559 ที่ผ่านมา ว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอเชิญประชาชนผู้รักชาติและพี่น้องสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมการยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การกีดกันภาคประชาชนจากการมีส่วนร่วมในการแก้ไขร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ 2.ขอให้ดำเนินการโอนคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้กลับมาเป็นของรัฐให้ครบถ้วนตามมติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดิน 3.คัดค้านวัตถุประสงค์บางข้อของร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับกระทรวงพลังงาน
โดยขอให้พี่น้องประชาชน พบกันในวันศุกร์ที่ 13 พ.ค.2559 ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กพร. ตรงข้ามประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลเวลา 09.30 น.
สำหรับความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ต่อกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติให้ดำเนินคดีกับนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง กับพวกรวม 6 คน กรณีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้คืนท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แก่กระทรวงการคลัง แต่กลับดำเนินการคืนไม่ครบจนทำให้รัฐเกิดความเสียหายมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาทนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเรื่องนี้ว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว เพียงแต่เห็นข่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้บังคับคดีภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับแจงจาก คตง. นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวเรื่องส่งมาค่อยว่ากันต่อไป
เมื่อถามย้ำว่า สามารถให้ ปตท. คืนท่อก๊าซในส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามคำสั่งศาลได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงต้องดูกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท. ตนยังตอบไม่ถูก เรื่องนี้มันยืดยาว พอจะทราบความเป็นมา แต่จะดำเนินการอย่างไรนั้น เอาไว้ค่อยว่ากันอีกที เพราะยังไม่รู้ว่าหนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะมีความชัดเจนขนาดไหนว่าต้องทำอะไร อย่างไร เพราะ ปตท. ได้ยืนยันว่าดำเนินการครบถ้วนแล้วตามคำพิพากษาศาลปกครอง
เมื่อถามว่า ทางรัฐบาลต้องปฏิบัติตามมติ คตง. หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในบางกรณีใช่ แต่คงไม่ใช่ทุกกรณี ต้องดูน้ำหนักข้อกฎหมาย และเหตุผลว่าเขาได้อ้างมาตราใด และดำเนินการอย่างไร เพราะหลายครั้งเป็นคำแนะนำ กระทรวงต่างๆ ได้รับหนังสือจาก สตง. ไม่เว้นแต่ละวัน ในแต่ละเรื่อง บางเรื่องชี้แจงไปก็จบ อย่างกรณีการพักงานเจ้าหน้าที่รัฐ สตง. ก็มีหนังสือมา ซึ่งที่จริงมีจำนวนมากกว่าที่พักไปแล้วเสียอีก และเมื่อพิจารณาและเห็นว่ายังไม่สมควรหรือจำเป็นก็ไม่ได้พัก ซึ่ง สตง. ไม่ได้ว่าอะไร รายใดที่เห็นด้วยก็พักไปตามนั้น
ส่วนกรณีที่ขีดเส้นไว้ 60 วัน ให้ ครม. ส่งเรื่องถึงศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้บังคับคดี นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าระยะเวลาไม่พอสามารถทำหนังสือแจ้งขอขยายได้ แต่ตนยังไม่ทราบในส่วนดังกล่าว จึงขอดูหนังสือ สตง.ก่อน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า หากตัดสินหรือมีหลักฐานข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นของรัฐ คลังก็พร้อมรับโอน ไม่มีปัญหา แต่จากการสอบถามข้อเท็จจริงกับข้าราชการที่ดูแลกรณีทวงท่อก๊าซคืนจาก ปตท. ตามคำสั่งของ คตง. มีความเห็นว่า การรับโอนคืนท่อก๊าซตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ผ่านมา มีการเขียนในสัญญาว่า ในกรณีที่ยังรับโอนท่อไม่ครบ ก็สามารถโอนมาเพิ่มเติมได้ หากมีการตีความชัดเจนว่าทรัพย์สินส่วนนั้นเป็นของรัฐ ซึ่งการรับโอนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ได้ทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วตามคำสั่งศาลฯ
“ทรัพย์สินในส่วนที่ คตง. ขอให้คลังรับโอนคืนมานั้น ท้ายที่สุดต้องมีการตีความให้ชัดว่าเป็นของใคร ในตอนนี้ยังไม่แน่ใจ ซึ่งเรื่องอาจจะจบที่ศาลฯ"นายอภิศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีท่อก๊าซในส่วนที่เป็นปัญหานั้น มีการพิจารณากันหลายรอบ หลายส่วน ทั้งของ คตง. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมถึงศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีตัดสินว่าได้คืนท่อมาครบถ้วนแล้ว กระทรวงการคลัง เลยไม่รู้ว่าจะต้องดำเนินการตามคำสั่งของส่วนงานใด
ส่วนท่อที่มีการวางในทะเล ต้องไปตีความว่า พื้นที่ในทะเลเป็นของรัฐด้วยหรือไม่ หรือเป็นทรัพย์สินที่ ปตท. ไปลงทุนเพิ่มเติมภายหลังเอง เพราะพื้นที่ในทะเล ไม่ได้มีการเวนคืน ไม่ได้มีการใช้อำนาจและสิทธิของรัฐเหมือนพื้นที่บนบก ก็ต้องมีการตีความ ซึ่งถ้าสรุปว่าเป็นพื้นที่ของรัฐ ท่อในส่วนนี้ก็ต้องโอนมาคืนรัฐ
ด้านนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ได้ให้นักกฎหมายของกรมฯ ไปศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าต้องมีการเรียกคืนท่อเลยหรือไม่ เพราะแต่ละหน่วยงานมีความเห็นไม่ตรงกัน
วันเดียวกันนี้ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามทุจริต กล่าวว่า ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเรียกทรัพย์สินคืนแก่แผ่นดิน จากการตรวจสอบพบปัญหาความทุจริตที่ก่อความเสียหายแก่รัฐ 2 กรณี คือ กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยึดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งมีคำวินิจฉัยว่า AIS ได้ประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ บริษัท ทอท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ กระทำผิดสัญญาการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โดยขอให้รัฐบังคับผลตามคำพิพากษาของศาลที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ในฐานะที่เป็นทรัพย์แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งถือว่า คดีไม่มีอายุความ
สำหรับกรณีแรก เป็นความเสียหายมูลค่ารวม 125,220 ล้านบาท เนื่องจาก AIS ได้ประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินกิจการของรัฐ ทำให้ AIS ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานแก่ TOT เป็นเงิน 88,359 ล้านบาท รวมทั้งมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 โดยหักเงินจากการจ่ายค่าสัมปทานไปจ่ายเป็นค่าภาษีอีกจำนวน 36,861 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ควรต้องตกเป็นของแผ่นดินรวมทั้งสิ้น 125,220 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่น900 เมกกะเฮิร์ตที่หมดสัญญาลง ทาง AIS ต้องส่งมอบเสาขยายสัญญาณคลื่น เครื่องมือ อุปกรณ์ทั้งระบบทั่วประเทศ และจัดหาสถานที่ตามสัญญาข้อที่ 2 และต้องเช่าต่ออีก 2 ปี หลังหมดสัญญา ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องคืนให้กับรัฐประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่ AIS ยังไม่คืนรัฐ และยังใช้หาเงินเข้าบริษัทตนเองจนถึงทุกวันนี้
ส่วนกรณีที่ 2 เป็นกรณีที่ บริษัท ทอท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ กระทำผิดสัญญาการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โดยมีหลักฐานการให้ข้อมูลต่อศาลของ บริษัท คิงเพาเวอร์ ที่เป็นการยอมรับว่ามีการลงทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งโดยเงื่อนไขกฎหมาย หากมีการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มิฉะนั้น จะถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ แต่กลับมีการต่อสัญญากันอีกถึง 2 ครั้ง
“มีการอ้างว่าสัญญาเช่าพื้นที่แก่คิงเพาเวอร์เป็นการเช่าพื้นที่เฉพาะที่สนามบิน ซึ่งได้ประโยชน์จากการขายสินค้า 15% ใน 5 ปีแรก และเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1% ทุกๆ ปี ข้อเท็จจริงพบว่า คิงเพาเวอร์มีการขายสินค้านอกสนามบิน (ซอยรางน้ำ พัทยา เป็นต้น) แต่ต้องส่งมอบสินค้าที่เคาเตอร์สนามบิน โดยไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้รัฐตามสัญญา และยังเป็นการกีดกันผู้ค้ารายอื่นไม่ให้ส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่สนามบิน โดยอ้างว่าเป็นสัมปทานผูกขาดเพียงผู้เดียว”นายชาญชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ตลอดระยะสัญญาสัมปทาน 9 ปีดังกล่าว พบว่ามีการขายสินค้านอกสนามบินเป็นมูลค่าร่วมแสนกว่าล้านบาท และหลบเลี่ยงการส่งผลประโยชน์เข้ารัฐประมาณ 21,000 ล้านบาท และการที่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. อ้างว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบว่าไม่มีการติดตั้งเครื่องตรวจสอบระบบ (POS) เพื่อตรวจสอบบัญชีการขายและสต๊อกสินค้าคงคลัง ไม่ได้เกิดความเสียหายหรือต้องเอาผิดใครนั้น เท่ากับผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ท้าทายและทำผิดกฎหมาย เอื้อประโยชน์แก่ บริษัท คิงเพาเวอร์ โดยเจตนาปกปิดข้อมูลความเสียหายที่มีต่อ ทอท. เอง เพราะสัญญากำหนดไว้ตั้งแต่ต้นว่าต้องติดตั้งระบบ POS ดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบทั้ง 2 กรณี มีมูลค่าความเสียหายของรัฐมากกว่า 2 แสนล้านบาท จึงขอให้รัฐบาลใช้มาตรการทางกฎหมายเรียกทรัพย์คืนให้กับคนไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ชอบธรรม เพราะเป็นไปตามคำตัดสินของศาล ซึ่งอนุ กมธ.ฯ จะเสนอผลการศึกษาทั้ง 2 เรื่องต่อที่ประชุมใหญ่ กมธ.วิสามัญ ปปช. สปท. ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน เพื่อขอมติส่งเรื่องให้ ครม. ดำเนินการต่อไป ในฐานะที่ สปท. เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล