xs
xsm
sm
md
lg

สปท.ชงรัฐบี้ทวงทรัพย์ "เอไอเอส-คิงเพาเวอร์" 1.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามทุจริต ในสังกัดคณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงว่า ขอเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเรียกทรัพย์สินคืนแก่แผ่นดิน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบปัญหาความทุจริตที่ก่อความเสียหายแก่รัฐสองกรณี จึงขอให้รัฐบาลบังคับผลตามคำพิพากษาของศาลที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ เนื่องจากทรัพย์แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ถือว่าคดีไม่มีอายุความ

นายชาญชัยระบุว่า กรณีแรก เป็นความเสียหายมูลค่ารวม 125,220 ล้านบาท จากกรณีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยึดทรัพย์สินนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี ที่ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ที่วินิจฉัยว่าบริษัท เอไอเอสได้รับประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่เอกชนร่วมงานกับหน่วยงานของรัฐ ทำให้บริษัทนี้ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT เป็นเงิน 88,359 ล้านบาท รวมทั้งมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 โดยหักเงินจากการจ่ายค่าสัมปทานไปจ่ายเป็นค่าภาษีอีกจำนวน 36,861 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ควรต้องตกเป็นของแผ่นดิน รวมทั้งสิ้น 125,220 ล้านบาท

"กรณีที่สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์หมดสัญญาลง ทางบริษัทเอไอเอสต้องส่งมอบเสาขยายสัญญาณคลื่น เครื่องมือ อุปกรณ์ทั้งระบบทั่วประเทศ และจัดหาสถานที่ตามสัญญาข้อที่ 2 และต้องเช่าต่ออีก 2 ปีหลังหมดสัญญา ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องคืนให้กับรัฐประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่เอไอเอสยังไม่คืนรัฐ และยังใช้หาเงินเข้าบริษัทตัวเองจนถึงทุกวันนี้"

ส่วนอีกกรณีคือบริษัท ทอท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ กระทำผิดสัญญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โดยมีหลักฐานการให้ข้อมูลต่อศาลของ บริษัท คิงเพาเวอร์ฯ เองที่เป็นการยอมรับว่ามีการลงทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งโดยเงื่อนไขกฎหมายนั้น หากมีการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ดังกล่าว มิฉะนั้นจะถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ แต่กลับมีการต่อสัญญากันอีกถึง 2 ครั้ง มีการอ้างว่าสัญญาเช่าพื้นที่แก่คิงเพาเวอร์เป็นการเช่าพื้นที่เฉพาะที่สนามบิน ซึ่งได้ประโยชน์จากการขายสินค้า 15% ใน 5 ปีแรก และเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1% ทุกๆ ปีนั้น

ข้อเท็จจริงพบว่า คิงเพาเวอร์มีการขายสินค้านอกสนามบิน (ซอยรางน้ำ พัทยา เป็นต้น) แต่ต้องส่งมอบสินค้าที่เคาน์เตอร์สนามบิน โดยไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้รัฐตามสัญญา และยังเป็นการกีดกันผู้ค้ารายอื่นไม่ให้ส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่สนามบิน โดยอ้างว่าเป็นสัมปทานผูกขาดเพียงผู้เดียว ซึ่งตลอดระยะสัญญาสัมปทาน 9 ปี พบว่ามีการขายสินค้านอกสนามบินเป็นมูลค่าร่วมแสนกว่าล้านบาท และหลบเลี่ยงการส่งผลประโยชน์เข้ารัฐประมาณ 21,000 ล้านบาท

นายชาญชัยระบุว่า การที่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. อ้างว่าการที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบว่าไม่มีการติดตั้งเครื่องตรวจสอบระบบ (POS) เพื่อตรวจสอบบัญชีการขายและสต็อกสินค้าคงคลังไม่ได้เกิดความเสียหายหรือต้องเอาผิดใครนั้น เท่ากับผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ท้าทายและทำผิดกฎหมาย เอื้อประโยชน์แก่ บริษัท คิงเพาเวอร์ฯ โดยเจตนาปกปิดข้อมูลความเสียหายที่มีต่อ ทอท.เอง ทั้งที่เงื่อนไขสัญญาที่ทำไว้ 9 ปีกำหนดแต่ต้นว่าต้องติดตั้งระบบ POS ดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาได้แต่ต้น

"ทั้งสองกรณีรวมมูลค่าความเสียหายของรัฐมากกว่าสองแสนล้านบาท ขอให้รัฐบาลใช้มาตรการทางกฎหมายเรียกทรัพย์คืนให้กับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ชอบธรรม เพราะเป็นไปตามคำตัดสินของศาล ถือเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาทั้งสองกรณี ทั้งนี้ จะเสนอเรื่องนี้ต่อ กมธ. ชุดใหญ่ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน เพื่อขอมติส่งเรื่องให้ ครม.ดำเนินการต่อไป" นายชาญชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น