xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใช้ม.44 ยึดที่ดินส.ป.ก. กว่าครึ่งประเทศ ไฟเขียว“ทหาร”เร่งทวงคืนก่อนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์หน้าถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 14 มิ.ย.นี้ เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. อนุมัติออกคำสั่ง โดยใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หรือ มาตรา 44 บังคับ เรียกคืนที่ดิน ผู้ถือครองที่ดินมือเปล่า หรือจากผู้ถือครองผิดกฎหมายในพื้นที่ ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่มีมากกว่า 500 ไร่ ในเขตประกาศปฏิรูปที่ดิน ซึ่งไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทั่วประเทศ จำนวน 425 แปลง หรือ 430,000 ไร่ ใน 25 จังหวัด

ตามที่ นายสรรเสริญ อัตจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) บอกว่า ที่มาของส.ป.ก. ที่จะต้องใช้มาตรา 44 เนื่องจากป่าเสื่อมโทรมกว่า 500 ไร่นั้น กรมป่าไม้ได้มอบให้ส.ป.ก. มาจัดที่ดินให้เกษตรกรเข้าทำกิน ก่อนเข้าทำการรังวัด ตรวจสอบสิทธิ ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 แต่กลับไม่สามารถทำได้ เพราะติดขัด“ผู้ถือครองรายใหญ่”ฝ่าฝืนรัฐมาตลอด

โดยการยึดคืนทั้งหมดนั้นได้มีการกำหนดร่างแผนที่แนบท้ายประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งผู้ใดที่ถือครองพื้นที่ผิดกฎหมาย จะต้องเข้ามารายงานตัวภายใน 45 วัน นับตั้งแต่หัวหน้าคสช. มีคำสั่ง หากไม่มาแสดงตัว หรือไม่มีเอกสารสิทธิครอบครองที่เหนือกว่าเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ก็จะประสาน“ให้ทหารเข้ายึดที่คืนมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน”ก่อนนำไปจัดสรรให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินต่อไป ซึ่ง ส.ป.ก.ได้ตรวจสอบแล้วเป็นการถือครองมือเปล่า แถมยังไม่มีเอกสารใดมาฟ้องร้องได้ 

ที่ผ่านมา ส.ป.ก.ได้สอบถามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ไม่พบว่า มีใครเป็นผู้ครอบครอง แม้มีการแจ้งความฐานบุกรุกก็ไม่มีผู้ใดแสดงตัว จึงสันนิฐานได้ว่า “เป็นผู้มีอธิพลในท้องถิ่น”ที่มีการรู้เห็น หวังรอจนคดีหมดอายุความเกิน 10 ปี และไม่มีการออกเอกสารสิทธิอื่น และขณะนี้ ส.ป.ก.ในพื้นที่ ได้แจ้งไปยังฝ่ายหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ เตรียมเข้ามายึดคืน โดยใช้กองกำลังทหารและตำรวจ ทั้ง 25 จังหวัด

นอกจากนั้น รมว.เกษตรฯ ยังได้สั่งให้ทำข้อมูลผู้บุกรุกถือครองพื้นที่ส.ป.ก.ผิดกฎหมาย ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป เป็นการจัดระเบียบเรียกคืนพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ถูกบุกรุกทั่วประเทศโดยใช้มาตรา 44 เช่นกัน มาให้เกษตรกรและผู้ยากไร้เข้าทำกิน ตรงตามวัถตุประสงค์ปฏิรูปที่ดิน

จากข้อมูลของส.ป.ก. ณ วันที่ 18 เม.ย.59 พบว่ามีที่ดินที่ส.ป.ก.ได้รับมอบจากกรมป่าไม้ แต่ส.ป.ก.ไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรังวัด เพราะผู้ที่ครอบครองพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือ จำนวนทั้งสิ้น 540 แปลง พื้นที่ 5.2 แสนไร่ แบ่งเป็นการครอบครองพื้นที่ตั้งแต่ 500-999 ไร่ มีจำนวน 394 แปลง พื้นที่รวม 2.6 แสนไร่ พื้นที่มีการครอบครองตั้งแต่ 1,000-1,999 ไร่ มีจำนวน 127 แปลง พื้นที่รวม 1.6 แสนไร่ และที่ครอบครองมากกว่า 2,000 ไร่ขึ้นไป มีจำนวน 19 แปลง พื้นที่รวม 8.7 หมื่นไร่

สำหรับจังหวัดที่มีการบุกรุกครอบครองมากที่สุด คือจ.นครราชสีมา 179 แปลง 1.5 แสนไร่ รองลงมาเป็น จ.สระแก้ว 83 แปลง 8.5 หมื่นไร่ จ.ลพบุรี 13 แปลง 4.1 หมื่นไร่ จ.ฉะเชิงเทรา 28 แปลง 2.3 หมื่นไร่ จ.สุราษฎร์ธานี 18 แปลง 2 หมื่นไร่ จ.กระบี่ 23 แปลง 1.7 หมื่นไร่

ข้อมูลเชิงลึกของส.ป.ก. พบว่ามีผู้บุกรุกรายใหญ่ เช่น จ.กำแพงเพชร มีอดีต ส.ส.พรรคใหญ่ บุกรุกกว่าหมื่นไร่ จ.นครราชสีมา มีอดีตนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง บุกรุกหลายพื้นที่ อ.ปากช่อง อ.วังน้ำเขียว รวมทั้งจ.กาญจนบุรี จ.สระแก้ว หรือ จ.ฉะเชิงเทรา ที่นักการเมืองร่วมกับกลุ่มทุนใหญ่ บุกรุกสวนป่ากิติ กว่า 3 หมื่นไร่

ยังมีแผนยึดโฮมสเตย์ 50 แห่ง รีสอร์ต 60 กว่าแห่ง รวม 112 แห่งใน จ.นครราชสีมา ตามแผน“วังน้ำเขียวโมเดล”หรือพื้นที่สวนปาล์ม จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ปลูกยูคาลิปตัส จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น ในส่วนรีสอร์ต อาทิ เกาะพยาม จ.ระนอง รีสอร์ตโดยรอบบริเวนทางเข้าอุทยานป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ และ จ.เลย

ล่าสุด จากข้อมูลของปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้นำป้ายประกาศสำนักงานส.ป.ก.กาญจนบุรี ไปติดตั้งที่หน้าประตูที่ 1 และ 3 ทางเข้าวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อยึดคืนที่ดินจำนวน 391 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา หลังจากทางวัดขอใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงจำเป็นต้องเพิกถอนที่ดินทั้งหมด พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดีกับวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ต้องโอนมาเป็นของรัฐ

กลุ่มบริษัทส่วนใหญ่ที่เข้ามาถือครองที่ดินในพื้นที่ 3 ล้านไร่ แต่ละรายไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ขึ้นไป บางรายถือครองที่ดินมากถึง 1,000 ไร่ก็มี ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามารับสัมปทานจากกรมป่าไม้ในการปลูกป่า และทำธุรกิจไม้ แต่เมื่อสัมปทานหมดไปแล้ว ก็ยังถือครองที่ดินต่อ ไม่ยอมออก และนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกปาล์มน้ำมัน หรือการเปิดพื้นที่จัดสรรให้ประชาชนทั้งในพื้นที่ หรือคนจากกทม. เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ด้วย

เมื่อเร็วๆนี้ ตัวอย่างของ“ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา”มีข้อมูลว่า ผู้บุกรุกแต่ละรายมีการบุกรุกตั้งแต่ 100-1,000 กว่าไร่ ที่ผ่านมาคนเหล่านี้ไม่เคยมาแสดงตัว เป็นการถือครองที่ดินมือเปล่ามาตลอด ส.ป.ก.นครราชสีมาได้เคยส่งหนังสือเรียกมารายงานตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เคยมา

จากการตรวจสอบข้อมูลของส.ป.ก. พบว่าที่ดินจำนวน 32 ล้านไร่ ที่มีการจัดสรรให้เกษตรกรไปแล้ว สามารถเรียกคืนได้ประมาณ 10-15% หรือประมาณ 3.2 ล้านไร่ จากปัญหา 3 กลุ่มหลัก คือ 1. มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ 2. ผู้ถือครองไม่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกร 3. ที่ดินถูกนำไปใช้ประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่ด้านเกษตรกรรม โดยประเด็นการนำ ส.ป.ก.4-01 ไปซื้อขายเปลี่ยนมือ เป็นปัญหาที่ถูกตรวจพบมากที่สุด ถึงขั้นมีผู้ประกอบการบางรายโทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ส.ป.ก. ว่าจะสามารถซื้อที่ดิน ส.ป.ก.ที่มีประกาศขายได้หรือไม่

ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล หากพบว่าที่ดินแปลงไหนที่จัดสรรให้เกษตรกรไปแล้วกระทำผิดเงื่อนไขการถือครอง จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าเจรจากับผู้ถือครองที่ดินในปัจจุบันทันที หากรายใดยินยอมคืนที่ดินให้ส.ป.ก. อาจจะจ่ายค่าชดเชยทรัพย์สินที่ปลูกสร้างอยู่บนพื้นที่บางส่วนให้ หรือถ้าพื้นที่นั้นมีการเพาะปลูกพืชทางเศรษฐกิจ ก็อาจปล่อยให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เสร็จเรียบร้อยก่อนย้ายออก หากรายใดไม่ยินยอมย้ายออกจะใช้กระบวนการทางกฏหมายดำเนินการทันที หรือถ้าเรื่องเกินกำลัง ส.ป.ก. จะส่งเรื่องให้หน่วยงานตรวจสอบอื่นที่มีอำนาจทางกฏหมาย เข้ามาตรวจสอบด้วย อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นต้น

ที่ผ่านมามีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบที่ดินส.ป.ก.ที่จัดสรรไปแล้วแบบเจาะลึก หรือเอ็กซเรย์เป็นรายแปลง โดยส.ป.ก.จังหวัดทุกแห่ง ได้รวบรวมข้อมูลสภาพการถือครองพื้นที่แต่ละจังหวัดมานำเสนออย่างละเอียดมายัง ส.ป.ก.แล้ว

ท้ายสุดมีข้อมูลจากส.ป.ก. ว่า การทวงคืนครั้งนี้ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดก่อนเลือกตั้งครั้งต่อไป หากปล่อยยืดเยื้อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามารับผิดชอบแก้ไขจะทำให้การดำเนินการยากยิ่งขึ้น ในขณะที่ปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานไม่มีอำนาจใดที่จะเข้าไปจัดการได้ เมื่อรัฐบาลยุคคสช.เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แล้วก็ถือโอกาสนี้เร่งแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้น

ทั้งนี้หมดนี้ ส.ป.ก.จึงจำเป็นต้องเสนอให้ใช้ มาตรา 44 มาสนับสนุนกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล และเกิดความเป็นธรรมแก่สังคม



กำลังโหลดความคิดเห็น