xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปล้นเงียบ!? แหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช จับตาล็อกสเปกเอื้อเชฟรอน –ปตท.สผ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ (กลาง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะข้าราชการ ระดับสูงกระทรวงพลังงาน ขณะเข้าเยี่ยมชมแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการบงกช
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงแม้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งหัวโต๊ะ จะมีมติออกมาชัดเจนแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม2559 ว่า จะเปิดประมูลเสรีแหล่งก๊าซฯเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานลงในปี 2565-2566

แต่ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) ที่เกาะติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดได้ตั้งข้อกังขาว่า อาจมีรายการล็อกสเปก เอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิมคือ เชฟรอน กับ ปตท.สผ.เพราะรัฐบาลแสดงท่าทีชัดเจนอยากให้มีความต่อเนื่อง ไม่เสี่ยงต่อการจัดหาปริมาณก๊าซป้อนความต้องการภายในประเทศ ทั้งยังขู่ว่าถ้าผิดจากนี้มีโอกาสค่าไฟแพงขึ้นแน่ๆ

ในคำแถลงของ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ภายหลังการประชุม กพช. เปิดทางอ้าแขนรับผู้รับสัมปทานรายเดิมเต็มอ้อมอก โดยบอกว่าจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไปก่อน ผู้รับสัมปทานรายเดิมสามารถเข้าร่วมประมูลได้ และหากไม่มีผู้ประกอบการอื่นใดเข้าร่วมประมูล ก็จะใช้การเจรจาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานเดิม โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี พร้อมทั้งจะเร่งแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. … ให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน ก่อนจะได้ข้อสรุปจะจัดเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐโดยใช้รูปแบบแบ่งปันผลผลิตหรือระบบรับจ้างผลิต อย่างไรก็ตาม ระบบรับจ้างผลิต คงจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากไม่คุ้มทุนเพราะการจ้างผลิตต้องทำในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่แหล่งก๊าซในอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นหลุมเล็กและกระจายตัวกัน จึงอยากให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมากกว่า

ข้อห่วงกังวลของกระทรวงพลังงาน ก็คือ ทั้ง 2 แหล่ง ผลิตก๊าซ 2,200ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วงแรกเลยถ้าเอกชนไม่เจาะหลุมผลิตก๊าซเพิ่มเพราะไม่รู้ว่าจะชนะประมูลหรือไม่ และกว่ารายใหม่จะเข้ามาก็ต้องรอให้สิ้นสุดอายุสัมปทาน ช่วงรอยต่อนี้จะมีช่องว่างคือก๊าซจะทยอยหายไปทั้งหมด 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2565 หากเป็นรายเดิมชนะเข้ามาปัญหานี้ก็จะไม่เกิด หากได้รายใหม่ความเสี่ยงเรื่องก๊าซก็จะเกิดขึ้น รัฐจะต้องจัดหาก๊าซเพิ่มขึ้นด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) หากแอลเอ็นจีราคาแพงค่าไฟก็จะแพงขึ้น ซึ่งประชาชนก็จะต้องรับความเสี่ยงไป

“จากการที่เปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อค่าไฟที่สูงขึ้น ก็อยากที่จะให้ประชาชนทำความเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะการตัดสินใจของ กพช.มาจากเหตุผลที่ทุกฝ่ายเสนอเข้ามา .... แต่ถ้าผู้ประกอบการรายเดิมสามารถประมูลได้ ก็จะทำให้เกิดความต่อเนื่องและไม่ทำให้เกิดผลกระทบเท่าไหร่”พล.อ.อนันตพร กล่าวย้ำ

มติของ กพช. ข้างต้น มีส่วนละม้ายคล้ายกับข้อเสนอของ ปตท. ซึ่ง นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ ปตท. เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ว่า คณะกรรมการ บมจ.ปตท. มีมติให้ ปตท.ยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐให้เอกชนรายเดิมเป็นผู้ลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงที่จะหมดอายุสัมปทานลงปี65-66 ต่อไป แต่จะให้รัฐเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในแปลงสัมปทานดังกล่าวก่อนที่จะหมดอายุสัมปทานลงเพื่อรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมเดิมไม่ให้ลดลง แต่ไม่จำเป็นต้องตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติ ขึ้นมาใหม่เพื่อเข้าถือหุ้น แต่ควรให้กระทรวงการคลังเข้ามาถือหุ้นแทน หากรัฐไม่มีความชัดเจนโดยเร็วจะกระทบการผลิตปิโตรเลียม จะทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมากขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าไฟสูงขึ้น

คราครั้งนั้น นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า รัฐจะเข้ามาถือหุ้น 100% ในแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานลง แต่ก็จะเปิดโอกาสเอกชนทั้งรายเดิมและรายใหม่เสนอการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งที่จะหมดอายุ ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้เข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินแหล่งดังกล่าวแล้ว คาดว่าในไตรมาส4/58 น่าจะเริ่มเจรจาและได้ข้อสรุป หลังจากนั้นคงจะเซ็นสัญญาได้ในปีหน้า

แต่ มติ กพช. ล่าสุด กลับไม่มีการพูดถึงการเข้าถือหุ้นของรัฐในแหล่งก๊าซดังกล่าวอย่างที่เคยว่าไว้แต่อย่างใด

หลังจาก กพช. มีมติดังกล่าวออกมา คปพ. ซึ่งจับตาเรื่องสัมปทานแหล่งก๊าซฯ โดยตลอด ก็เคลื่อนไหวยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แสดงถึงความคลางแคลงใจในการเปิดประมูลสัมปทานแหล่งก๊าซฯ ดังกล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ คปพ. ตั้งข้อกังขาคือ แนวทางที่กระทรวงพลังงาน ดำเนินอยู่ขาดหลักการ ไม่มีความไม่โปร่งใส และยังคงใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นหลัก และจากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นการปูทางไปสู่การประมูลแบบระบบสัมปทานเดิม โดยใช้กลุ่มคนกลุ่มเดียวเป็นผู้ตัดสินใจ ใช่หรือไม่ และจากมติที่ประชุม กพช. หากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล จะใช้วิธีเจรจาผู้ประกอบการเดิม เกรงว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือจนเกิดการล็อกสเปก

เนื้อหาในหนังสือของ คปพ. ได้ย้อนทวนความจำว่า คปพ.ได้เคยเสนอ ร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการปิโตรเลียม ฉบับที่ พ.ศ. ...ต่อนายกรัฐมนตรี ถึงหลักการและวิธีการในการเลือกระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยสรุป ดังนี้

1. เมื่อปรากฏเบาะแสของทรัพยากรปิโตรเลียม รัฐมีหน้าสำรวจเพื่อหาปริมาณปิโตรเลียม 2. เมื่อไม่ปรากฏเบาะแสของทรัพยากรปิโตรเลียมใดๆ เลย รัฐสามารถให้สัมปทานปิโตรเลียมได้ 3. เมื่อผลสำรวจพบปริมาณปิโตรเลียมแล้ว ให้เปิดประมูลแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิตอย่างเสรี 4. เมื่อพบปริมาณปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงเป็นที่ประจักษ์ เช่น แหล่งสัมปทานเดิมที่มีศักยภาพ และหมดอายุลง ให้เปิดประมูลแข่งขันค่ารับจ้างต่ำสุดในการผลิตปิโตรเลียมสำหรับระบบจ้างผลิต

จากข้อเสนอของ คปพ. จึงเห็นได้ว่า แนวทางที่กระทรวงพลังงาน กำลังดำเนินการอยู่นั้น ขาดหลักการที่ชัดเจนในการเลือกระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างโปร่งใส และยังคงใช้ดุลพินิจส่วนบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นหลัก ซึ่ง คปพ. มีข้อสังเกตที่น่าสงสัยจากคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดังนี้

ประการแรก ไม่มีความชัดเจนว่าแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่กำลังจะหมดอายุลงนั้นจะประมูลในระบบใด การให้สัมภาษณ์เพื่อปูทางไปสู่การประมูลตามระบบสัมปทานเดิม ใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการประมูลที่ไม่ได้สนใจผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด แต่เป็นการประมูลโดยใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการเพียงไม่กี่คน มิได้เป็นหลักประกันในการทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนสูงสุดแต่ประการใด

แหล่งก๊าซฯ เอราวัณ และบงกช เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทยตลอดเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า ทั้งสองแหล่งดังกล่าวมีปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงมากแตกต่างจากแหล่งสัมปทานอื่นที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนเครื่องจักรอุปกรณ์ทั้งหลาย เมื่อหมดอายุสัมปทานแล้วจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด สามารถนำมาตีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดเป็นสัดส่วนร่วมลงทุนกับเอกชนในอนาคตได้

“แหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแห่งจึงถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีแหล่งก๊าซธรรมชาติแน่นอน มีลูกค้าที่ชัดเจน ดังนั้นจะใช้ระบบการให้สัมปทานเหมือนแหล่งอื่นๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนไม่ได้ คปพ.จึงเสนอให้ใช้วิธีการประมูลค่าจ้างผลิตต่ำสุดในระบบจ้างผลิต โดยให้เป็นการแข่งขันเสรีและโปร่งใสอย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นการประมูลในระบบคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 4G ที่ผ่านมา”

ประการที่ 2 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อเปิดการประมูลแล้ว หากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล จะใช้วิธีเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมนั้น อาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ต้องการช่วยเหลือผู้รับสัมปทานรายเดิม มีแรงจูงใจตั้งเงื่อนไขในการประมูลหรือ “ล็อกสเปก” ให้คู่แข่งขันรายใหม่ไม่สามารถเข้าแข่งขันได้จริง ทั้งที่ธุรกิจนี้มีบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมจะเข้ามาร่วม ยิ่งในสถานการณ์ราคาพลังงานโลกลดต่ำลง แหล่งบงกชกับเอราวัณซึ่งกำลังผลิตปิโตรเลียมและมีลูกค้าแน่นอนย่อมเป็นที่สนใจ เพราะสามารถทำกำไรทันที ปัจจุบันแหล่งบงกชและเอราวัณ มีกำลังการผลิตรวมกัน ประมาณ 2,200ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณก๊าซฯ ที่ผลิตได้ในประเทศ มีมูลค่าประมาณกว่า2 แสนล้านบาทต่อปี

ประการที่ 3 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในช่วงรอยต่อจะมีช่องว่างคือก๊าซฯ จะทยอยหายไปทั้งหมด 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี2565 ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันกรณีก๊าซหายไปบางส่วนและต้องใช้แอลเอ็นจีมาทดแทนในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นนั้น ความจริงแล้ว หากกระทรวงพลังงาน วางแผนบริหารจัดการตั้งแต่การต่ออายุสัมปทานทั้งสองแหล่ง เมื่อปี 2550 ด้วยการเตรียมการประมูลให้รายใหม่เข้ามาโดยกำหนดเงื่อนไขในการต่อสัญญาให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมจะต้องถ่ายโอนการดำเนินการและถ่ายโอนเทคโนโลยีล่วงหน้าก่อนสัมปทานจะหมดอายุลงเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และให้ดำเนินการร่วมระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิมกับผู้ประมูลรายใหม่ ในช่วง 2 ปี สุดท้าย ก็จะทำให้การถ่ายโอนการดำเนินการในทั้งสองแหล่งเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่สมควรมากล่าวโทษและโยนภาระค่าไฟฟ้าแพงมาให้ประชาชน

นอกจากนั้น หากผู้รับสัมปทานลดกำลังการผลิตลงตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจินตนาการแทนผู้รับสัมปทานนั้น ถ้าเกิดขึ้นจริงก็ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เกิดการดำเนินการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องตามบทบัญญัติ มาตรา 52 ทวิ วรรคสามและวรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ความว่า

“ถ้าผู้รับสัมปทานไม่สามารถเจรจาทำความตกลงกับรัฐบาลได้ภายในสิบสองเดือนนับแต่วันที่ผู้รับสัมปทานได้รับข้อเสนอจากรัฐบาลตามวรรคหนึ่ง และรัฐบาลเห็นว่าการเร่งรัดการผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นความจำเป็นแก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานทราบว่า รัฐบาลจะเข้าใช้สิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นด้วยความเสี่ยงภัยแต่ฝ่ายเดียว

เมื่อรัฐบาลได้แจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบถึงการเข้าใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่า สิทธิตามสัมปทานของผู้รับสัมปทานเฉพาะในพื้นที่ที่ได้กำหนดขึ้นตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลง และรัฐบาลมีอำนาจมอบหมายให้ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจหรือผู้หนึ่งผู้ใด เข้าประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวได้”

ดังนั้น หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพิกเฉย ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องตามที่กฎหมายบัญญัติ ก็อาจต้องถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 การให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นการข่มขู่ประชาชนหรือไม่นั้น จึงเป็นคำพูดที่ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ หรืออาจขาดความรู้ความเข้าใจต่อบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าว หรือไม่

ประการที่ 4 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “การเปิดประมูลในแหล่งเอราวัณและบงกชนั้นจะไม่ใช้แนวทางรับจ้างผลิตเพราะค่อนข้างยุ่งยาก”นั้น แสดงให้เห็นว่า หากแหล่งเอราวัณและบงกชซึ่งมีข้อมูลอันเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยยังไม่สามารถนำกลับมาเป็นของรัฐทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อนำไปสู่การจ้างผลิตได้

เมื่อประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะไม่เลือกใช้การประมูลแข่งขันในระบบการจ้างผลิตในแหล่งเอราวัณและบงกช นั่นย่อมหมายความว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีการเพิ่มระบบจ้างผลิตเข้าไป และกำลังจะพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีนั้น ก็จะไม่มีแหล่งปิโตรเลียมไหนในประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพน้อยกว่านี้จะสามารถใช้ระบบจ้างผลิตได้อีกเลย

“การเพิ่มระบบจ้างผลิต ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน จึงเป็นเพียงการอำพรางให้ประชาชนสบายใจว่าได้เพิ่มระบบการจ้างผลิตเข้าไปในกฎหมายตามที่ประชาชนเรียกร้องแล้ว แต่เจตนาที่แท้จริงกลับไม่ต้องการให้ระบบการจ้างผลิตเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติภายใต้นโยบายดังกล่าว”

ความจริงแล้ว ระบบการจ้างผลิต ไม่ได้มีความยุ่งยากตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวอ้างแต่ประการใด เพราะรัฐสามารถเปิดประมูลแข่งขันการจ้างผลิต โดยให้ค่าจ้างเป็นผลผลิตปิโตรเลียมที่ผลิตได้ การจ้างผลิตนั้นก็คือรูปแบบการจัดจ้างปกติของฝ่ายรัฐภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดจ้าง ข้อกล่าวอ้างของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงปลัดบัญชีกองทัพบก ว่าการจ้างผลิตปิโตรเลียมเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงเป็นเรื่องไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง

“หาก พล.อ.อนันตพร ไม่มีความสามารถพอที่จะดำเนินการจ้างผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชที่มีศักยภาพสูงที่สุดในประเทศไทยได้ ก็สมควรที่จะพิจารณาตัวเองว่า ยังมีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่อไปได้หรือไม่”
แหล่งก๊าซเอราวัณ
ประการที่ 5 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อ้างว่าจะมีระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิตในร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน โดยไม่กำหนดให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เป็นผู้ถือครองและบริหารทรัพย์สินปิโตรเลียมด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีเจตนาที่จะไม่ให้เกิดระบบจ้างผลิตอย่างแท้จริงเสียตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะในระบบจ้างผลิตนั้น ปิโตรเลียมที่ผลิตได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ บริหารโดยรัฐ และรัฐเป็นผู้ขายปิโตรเลียมทั้งหมดโดยผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และเอกชนอื่นใดจะขายปิโตรเลียมแทนรัฐไม่ได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า จะไม่ใช้ระบบจ้างผลิต แม้แต่กับแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ซึ่งมีศักยภาพและปริมาณปิโตรเลียมสูงสุดของประเทศไทยในปัจจุบัน เพราะมีเจตนาไม่ต้องการให้รัฐขายปิโตรเลียมด้วยตนเองใช่หรือไม่ จึงเหลือเพียงระบบที่อ้างว่าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อต้องการให้เอกชนผู้ได้รับสิทธิผลิตปิโตรเลียม เป็นผู้ขายปิโตรเลียมแทนรัฐเสียก่อน จึงค่อยแบ่งผลประโยชน์แก่รัฐในภายหลัง

การกระทำเช่นนี้ จึงไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่รัฐถือครองกรรมสิทธิ์ บริหารปิโตรเลียม และขายปิโตรเลียมด้วยตนเองได้อย่างแท้จริง แต่กลับปล่อยให้เอกชนผู้ได้รับสิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมสามารถใช้ช่องว่างนี้ขายปิโตรเลียมผ่านบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือของตนเอง ในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลบเลี่ยงการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่รัฐได้

การใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตตามร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานนั้น ไม่ใช่ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” ที่รัฐเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมทั้งหมด แล้วจึงแบ่งปิโตรเลียมที่ผลิตได้ให้เอกชนตามหลักการมาตรฐานสากล แต่กลับกลายเป็น “ระบบแบ่งปันผลประโยชน์”ที่ต้องพึ่งพาเอกชนขายปิโตรเลียมแทนรัฐ แล้วรัฐจึงคอยรับผลประโยชน์ที่เอกชนจะแบ่งให้ นี่คือจุดอ่อนลักษณะเดียวกันกับระบบสัมปทานเดิมที่ไม่มีหลักประกันในการสร้างผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ ทั้งยังไม่สามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้อย่างแท้จริง

ยิ่งไปกว่านี้ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ยังไม่มีการระบุถึงการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่ประการใดทั้งสิ้น ระบบแบ่งปันผลผลิตภายใต้ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน จึงเป็นการอำพรางและถูกบิดเบือนกลายเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่คล้ายคลึงกับระบบสัมปทานเดิมเป็นอย่างมาก เพราะปิโตรเลียมที่ผลิตได้มานั้นอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์การบริหารจัดการของเอกชน ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ

คปพ. จึงมีขอเรียกร้อง ดังนี้ 1. จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อมาถือครองกรรมสิทธิ์และขายปิโตรเลียม ให้มีประสิทธิภาพโปร่งใสและตรวจสอบได้จากทุกภาคส่วน ภายใน 6 เดือน 2. ให้ยุติแนวทางการประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตในแหล่งเอราวัณและบงกชตามแนวทางของกระทรวงพลังงาน เพื่อป้องกันล็อคสเปคเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม โดยให้จัดการประมูลแข่งขันด้วยระบบจ้างผลิต ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพื่อรัฐจะสามารถถ่ายโอนการดำเนินการการผลิตได้ทันทีนับแต่วันที่ได้ผู้รับจ้างผลิตและสามารถดำเนินการได้เมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทานของรายเดิม

และ 3.ให้รัฐบาลร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเวทีสาธารณะเปิดเผยเนื้อหาและทำประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า มติ กพช.ที่ให้ประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแห่ง และหากไม่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูลก็จะใช้การเจรจากับผู้สัมปทานรายเดิมนั้น ขอให้นายกรัฐมนตรี สังเกตให้ดี เพราะจะเห็นกลไกแปลกๆ ที่พยายามจะลักไก่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการชงเรื่องเสนอต่ออายุสัมปทานแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณ โดยไม่รอให้แก้กฎหมายเสร็จตามที่นายกฯ เคยให้แนวทางไว้เมื่อปีที่แล้วช่วงที่มีปัญหาจะเปิดประมูลสัมปทานรอบที่ 21

“ปริมาณก๊าซในทั้งสองแหล่งมากกว่าการสัมปทานรอบพลังงานในรอบที่ 21 เสียอีก และหากย้อนรอยเรื่องการคืนท่อก๊าซ ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)เพิ่งส่งเรื่องให้ฟ้องร้องกันว่า ท่อก๊าซส่งคืนหลวงไม่ครบนั้น นายกฯ เคยแปลกใจหรือไม่ว่า กรณีที่หน่วยงานรัฐส่งรายงานต่อศาลว่า ได้ส่งท่อก๊าซครบแล้วนั้นอยู่ในช่วงการเปลี่ยนรัฐบาล คือรัฐบาลเก่ารักษาการรัฐบาลใหม่ยังไม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ช่วงเวลานั้นแหละครับ จะเรียกว่าเล่นทีเผลอ หรือลักไก่หรือไม่ หรือจะเป็นเหตุบังเอิญในช่วงดังกล่าว จึงขอให้นายกฯ ได้พิจารณาข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง...."

ท่านนายกฯ โปรดระวัง ..... ทรัพยากรธรรมชาติสาธารณสมบัติของแผ่นดินกำลังจะถูกปล้นเงียบ(อีกครั้ง) ??



กำลังโหลดความคิดเห็น