xs
xsm
sm
md
lg

ระดมทำแผนผลิตไฟ 20 ปีจ่อลดใช้ก๊าซฯ สกัดค่าไฟทะลุ 6 บาท/หน่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานนำร่องเปิดเวทีระดมความเห็นทิศทางพลังงานไทยเพื่อจัดทำแผนผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปีใหม่ ก่อนเปิดเวทีต่างจังหวัดอีก 3 ครั้ง คาดสรุปแผนเสนอ ครม.เห็นชอบได้ ต.ค.-พ.ย.นี้ หวังลดพึ่งก๊าซฯ ให้เหลือ 30% ผลิตไฟสกัดค่าไฟแพงทะลุ 6 บาท/หน่วย มองถ่านหินสะอาด พลังงานทดแทน พร้อมรับลูก “บิ๊กตู่” ลดการใช้ไฟให้มากสุด



นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็น “ทิศทางพลังงานไทย” ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ (29 ส.ค.) ว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี ระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2579 ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภาคทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนหน้า หลังจากนั้นจะรวบรวมข้อมูลให้คณะกรรมการของกระทรวงฯ ทั้ง 9 ชุด พิจารณาและหารืออีกครั้ง ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน และจัดทำเป็นพีดีพีฉบับใหม่ของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวสิ่งที่คาดหวังคือการทำให้อัตราค่าไฟฟ้าเป็นอัตราที่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้เนื่องจากไทยกำลังจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้นที่ต้องการค่าไฟที่ไม่แพงจนเกินไปแต่นักลงทุนเองก็ต้องการเห็นค่าไฟที่ชัดเจนในระยะยาวว่ามีทิศทางอย่างไรแน่ ซึ่งพบว่านักลงทุนบางรายจากต่างประเทศไม่กล้าตัดสินใจลงทุนในไทยเพราะไม่รู้ว่าอนาคตค่าไฟในไทยจะไปในทิศทางใดกันแน่

“ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้เน้นย้ำเรื่องแผนพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดการใช้ไฟให้มากที่สุดเพื่อลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งแผนพีดีพีก็จะนำสิ่งนี้เข้าไปประกอบ เพราะขณะนี้ไทยมีการนำเข้าพลังงานมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี และยังมีการใช้ที่โตขึ้น 4.5% ต่อปี หากลดลงได้ 2% ก็จะทำให้เงินทุนที่ต้องสำรองสำหรับสร้างความมั่นคงพลังงานลดลงไปด้วย” นายอารีพงศ์กล่าว

ปัจจุบันสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 70% แผนพีดีพีฉบับปัจจุบัน ท้ายแผนสัดส่วนจะลดลงเหลือ 57% ส่วนแผนใหม่มีความตั้งใจที่จะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ให้เหลือ 30% และอื่นๆ ให้เป็นสัดส่วนนี้ในการถ่วงความสมดุล ซึ่งก็จะมองไปยังโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดเข้ามาเพิ่มด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีถ่านหินสะอาดนั้นก็จะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้ที่จะจัดขึ้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาถึงปัญหาต่างๆ ที่เข้าใจว่าภาคใต้มีเรื่องของการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันก็มีความต้องการใช้ไฟมากกว่ากำลังผลิตที่มีอยู่ต้องส่งไปยังส่วนกลาง ส่วนกรณีนิวเคลียร์จะมีหรือไม่ในแผนคงจะต้องมาคำนึงถึงถ่านหินสะอาดก่อนซึ่งหากเดินหน้าไปได้นิวเคลียร์ก็อาจไม่จำเป็น นอกจากนี้จะให้ความสำคัญของพลังงานจากขยะ ชีวมวล มากขึ้น ฯลฯ

นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ราคาก๊าซฯ อ่าวไทยปัจจุบันเฉลี่ย 8 เหรียญต่อล้านบีทียู ขณะที่ก๊าซนำเข้าในรูปของเหลวหรือแอลเอ็นจีอยู่ที่ 15 เหรียญต่อล้านบีทียู อนาคตหากไทยไม่สามารถจัดหาแหล่งพลังงานในประเทศเพิ่มขึ้นก็จะทยอยหมดสัดส่วนการนำแอลเอ็นจีก็จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากไทยยังผลิตไฟจากก๊าซฯ ในสัดส่วนที่สูงก็จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ซึ่งตามแผนเดิมปลายแผนไทยจะมีค่าไฟฟ้าสูงเฉลี่ย 5-6 บาทต่อหน่วย
กำลังโหลดความคิดเห็น