ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กระทรวงพลังงานเดินหน้าปฏิรูปพลังงานประเทศ ลงพื้นที่ขอนแก่น เพื่อรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นในพื้นที่ กำหนดทิศทางแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้าฯ เผยจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเพื่อลดการนำเข้าพลังงาน หลังความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศเพิ่มต่อเนื่องทุกปี
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่โรงแรมพลูแมนขอนแก่น กระทรวงพลังงาน เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็น “ทิศทางพลังงานไทย...ในภาคอีสาน” โดยมี นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อจัดทำแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP โดยนำความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งเวทีที่ จ.ขอนแก่น จ.เชียงใหม่ และ จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนสรุปแผนเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี ระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2579 ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้-เสียทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วยแผนการจัดหาเชื้อเพลิง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า แผนพัฒนาพลังงานทดแทน และแผนอนุรักษ์พลังงาน ให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนหน้า
หลังจากนั้น จะรวบรวมข้อมูลให้คณะกรรมการของกระทรวงฯทั้ง 9 ชุด พิจารณา และหารืออีกครั้ง ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายนนี้ และจัดทำเป็นพีดีพีฉบับใหม่ของประเทศต่อไป
นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า จากสถิติความต้องการใช้พลังงานพบว่า เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเกือบทุกปีตามการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้าระยะยาว จำเป็นต้องดำเนินการสำรวจ และพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ภาคอีสาน เฉพาะที่ จ.ขอนแก่น มีการผลิตปิโตรเลียมจาก 2 แหล่ง คือ แหล่งน้ำพอง 12 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งสินภูฮ่อม 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนหนึ่งส่งไปโรงไฟฟ้าน้ำพอง และอีกส่วนหนึ่งไปผลิต NGV ซึ่งปริมาณก๊าซธรรมชาติกำลังจะหมดลง จำเป็นต้องจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงใหม่มาทดแทน
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่มารับฟังความคิดเห็น ถึงความเหมาะสมต่อวิถีชีวิตในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสานมีข้าวพันธุ์ดีอยู่มาก เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เศษวัสดุทางการเกษตรที่มีมาก มีมูลค่าสามารถนำไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงได้
“เป็นการรับฟังความเห็น เปิดให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงาน จะทำให้ข้อมูลในเชิงพื้นที่เพิ่มมากขึ้น นำไปปรับปรุงแผนพลังงานให้สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต”