xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ห้ามวิจารณ์ ! ชง คสช.จัดให้ สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่

เผยแพร่:

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่รู้ว่าการออกคำสั่งห้ามวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่เพิ่งกลับลำประนีประนอมกับบรรดาสมาคมสื่อฯ ไปหยกๆ เป็นเพราะว่านับจากนี้ไปจะมีแต่ “งานใหญ่” ที่คสช.ต้องตัดสินใจ และแน่นอนย่อมเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยตามมา หรือไม่ เพราะตัวอย่างกรณีการอนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางออกนอกประเทศที่มีเสียงไม่เห็นด้วยทั่วบ้านทั่วเมืองทำเอา คสช. เสียรังวัดไปหลายขุมเหมือนกัน

นี่ก็อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังจะตามมา เป็นไฟท์บังคับที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และไม่ว่าจะตัดสินใจช้าหรือเร็วไปต่างก็มีกระทบต่อ คสช. ทั้งนั้น นั่นคือ การเปิดสัมปทานและต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียม ที่มีเสียงจากข้าราชการระดับสูงและทุนพลังงาน เร่งเร้าคสช.ให้รีบตัดสินใจเดินหน้า โดยงานนี้มีม้าอาสาที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนคืออธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐและบอร์ดปตท. ออกโรง ชงเรื่อง ผลักดันเต็มเหนี่ยวเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศหรือนัยหนึ่งคือแผนความมั่นคงในธุรกิจของกลุ่มทุน

ภารกิจสำคัญของนายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และหมวกอีกใบคือ กรรมการปตท. (บอร์ดปตท.) ชุดใหม่ถอดด้ามที่ คสช.แต่งตั้ง ที่ต้องเร่งผลักดันให้ คสช. ตัดสินใจอย่างเร่งด่วนสำหรับแผนการใหญ่ใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย

หนึ่ง การเปิดสัมปทานรอบใหม่ครั้งที่ 21 ซึ่งล่าช้ามา 2 ปี โดยนายคุรุจิต ให้เหตุผลว่า เนื่องจากขณะนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มทยอยหมดลง ซึ่งต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจาก คสช. ว่าจะให้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร หากคสช.เห็นชอบ กรมเชื้อเพลิงฯ พร้อมจะประกาศให้เอกชนยื่นขอสัมปทานได้ภายใน 3 - 5 เดือน

นอกจากนั้น ขณะนี้ กรมเชื้อเพลิงฯ กำกำลังทบทวนพื้นที่แปลงสัมปทานที่เหลืออยู่จะนำมาเปิดประมูลใหม่ในพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้มี 27-29 แปลง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และอีกส่วนหนึ่งอาจจะมีอ่าวไทย ซึ่งที่ผ่านมามีการคืนสัมปทานกลับมาบ้างซึ่งคงต้องพิจารณาว่าจะเลือกสัมปทานไหนมาเปิดสัมปทานรอบใหม่

สอง การต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศ 60% ได้แก่ สัญญาของบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิต กำลังการผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุต แหล่งบงกชที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ แหล่งบงกช 630 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งบงกชใต้ 320 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยทั้ง 2 สัญญาจะหมดอายุในเดือนเมษายน 2565

สาม การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งหาก คสช.มีนโยบายในเรื่องนี้ออกมาก็สามารถสานต่อในการเจรจาได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องของรัฐต่อรัฐ

ทั้ง 3 เรื่อง หินๆ ทั้งนั้น และแต่ละเรื่องก็ทำให้หลายคนมีอันเป็นไป อย่างเรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ก็ทำให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ หมดอำนาจวาสนาและทำให้เรื่องเปิดสัมปทานฯ ยังค้างคามาจนบัดนี้

ส่วนเรื่องต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมล่วงหน้า ก็เป็นเรื่องที่สังคมกังขาคลางแคลงใจไม่เลิกต่อการกระทำของ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ซึ่งนั่งเป็นประธานบอร์ดปตท.ในปัจจุบัน

สำหรับเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หนักสุดไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังต้องระหกระเหินอยู่ในต่างประเทศ หรือรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หรือรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งปรารถนาอย่างยิ่งที่จะหยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเจรจาแต่สุดท้ายก็เอาตัวไม่รอดกันทั้งสิ้น

ความหาญกล้าของม้าอาสา อย่างนายคุรุจิต จะมีผลลงเอยเช่นใด น่าสนใจใคร่ติดตามอย่างยิ่งยวด

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของอธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ ก็ใช่ว่าจะมีแต่ระบบสัมปทานแบบเดิม เพราะว่า นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมีผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บอกว่า ในเรื่องการต่อสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ ได้เสนอกระทรวงพลังงานไป 3 แนวทางหลัก คือ

1.ระบบสัมปทานที่จ่ายค่าภาคหลวง ภาษีผลตอบแทนพิเศษ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน 2.ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ Production Sharing Contract ซึ่งเป็นข้อเสนอจากภาคประชาชน โดยกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน นำโดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ และ 3.ระบบจ้างผลิต หรือ Service Contract ซึ่งแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะเลือกแนวทางใดที่เหมาะสม

ประเด็นการตัดสินใจที่สำคัญของคสช. ทั้งการเปิดสัมปทานรอบใหม่และการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียม คือ จะเลือกแนวทางไหนที่ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด แน่นอน หากเลือกตามแนวทางเดิม กลุ่มทุนพลังงานย่อมรู้สึกยินดีปรีดา เพราะเป็นระบบที่กลุ่มทุนได้รับผลประโยชน์ตลอดการให้สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต เป็นระบบที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพิ่งพูดถึงและนำเสนอต่อคสช.ไปพร้อมๆ กัน

ที่น่าสนใจคือ สองระบบหลังนี้ กรมเชื้อเพลิงฯ ชงเรื่องเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย อย่างไร เป็นการชงขึ้นไปเพื่อตีตก หรือเพื่อให้เห็นว่านี่ไม่ได้เสนอแต่สัมปทานแบบเดิมเท่านั้น มีทางเลือกใหม่ที่เรียกร้องกันด้วย หรือเปล่า?

นอกจากนั้นแล้ว การให้สัมปทานปิโตรเลียม หรือการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมนั้น ประเด็นสำคัญที่กรมเชื้อเพลิงฯ ไม่พูดถึงก่อนที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ก็คือ การย้อนกลับมาที่ต้นทางคือ การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ที่ใช้มานมนานไม่ทันสมัยเสียใหม่

นางสาวรสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน เสนอไว้ก่อนหน้านี้ว่า สัมปทานยุคThailand 1 ที่ให้สัมปทานไปตั้งแต่ 2514 ที่จะหมดสัมปทานในปี 2565-2566 ตาม พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 ไม่สามารถให้ต่อสัมปทานได้อีกตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย หากมีปริมาณปิโตรเลียมเหลืออยู่ ควรที่รัฐบาลจะดำเนินการจ้างผลิต แทนการให้สัมปทานต่อ แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกวิธีจ้างผลิต หรือให้สัมปทานต่อ ก็ต้องแก้ไข พ.ร.บ ปิโตรเลียม ทั้ง 2 กรณี เพราะ พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 ระบุว่า การผลิตปิโตรเลียมต้องเป็นสัมปทานเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีเวลาในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมก่อน

“พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 มีอายุ 43ปี แล้วสมควรมีเปลี่ยนแปลง แก้ไขให้ทันสมัยขึ้น ด้วยการเปลี่ยนระบบจากสัมปทานที่ยกกรรมสิทธิให้เป็นของเอกชน มาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ที่เป็นการเปลี่ยนกรรมสิทธิในปิโตรเลียม ข้อมูล และอุปกรณ์กลับมาเป็นของประเทศอีกครั้ง”

“แหล่งปิโตรเลียมที่รัฐบาลให้สัมปทานไปแล้ว ที่เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการผลิตคือ 202,722.68ตารางกิโลเมตร ส่วนพื้นที่ที่มีการผลิตมีเพียง 17,418.419 ตารางกิโลเมตร (ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน หน้า54-55) จะเห็นได้ว่ามีพื้นที่ที่ให้สัมปทานไปแล้วอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้ทำการผลิต จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบร้อนให้เพิ่มอีก เป็นการปล่อยให้เอกชนมาจองพื้นที่แบบจับเสือมือเปล่า เพื่อไปหากำไรจากการขายกรรมสิทธิต่อ การให้สัมปทานปิโตรเลียมของไทยเป็นการให้เอกชนมีกรรมสิทธิเหนืออธิปไตยทางดินแดนของประเทศ ซึ่งประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบ และแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเสียก่อน เพราะต่างชาติที่ได้สัมปทานพื้นที่ของไทย มีการนำไปเทรดกันในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

“อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการในวุฒิสภา เมื่อกุมภาพันธ์ 2557 ว่ากรณีของแหล่งนงเยาว์ และแหล่งมโนราห์ ซึ่งเป็นสัมปทานของบริษัทเพิร์ลออย ถูกบริษัทมูบาดาลาของตะวันออกกลางเทคโอเวอร์ในตลาดหุ้นที่สิงคโปร์ และทำกำไรให้บริษัทเพิร์ลออยไป 5,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆจากการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ ที่บริษัทเอกชนต่างชาตินำผืนแผ่นดินไปไปค้าขายในตลาดหุ้น”

อดีตส.ว.กรุงเทพฯ เรียกร้องต่อกระทรวงพลังงานว่า ควรต้องรับฟังเสียงของประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ไม่ควรดึงดันทำตามความต้องการของกลุ่มธุรกิจพลังงาน โดยหลงลืมผลประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชน และประชาชนคาดหวังว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะไม่เร่งรัดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ21 ตามความต้องการของกลุ่มธุรกิจพลังงาน และจะนำประเด็นนี้ไปเป็นเรื่องหนึ่งที่จะมีการพิจารณาในสภาปฏิรูปที่จะมีการตั้งขึ้นต่อไป

ถึงที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานบอร์ด กพช. จะตัดสินใจเช่นใด จะทำตามประสงค์ของกลุ่มทุนพลังงาน หรือฟังเสียงประชาชน คำตอบอาจจะไม่ได้อยู่ในสายลม เพราะที่ผ่านมาก็พอมองเห็นแล้วว่า หัวหน้าคสช. โอนเอียงไปทางไหน ?


กำลังโหลดความคิดเห็น