บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส โชว์หลักฐานโต้ลักลอบขุดเจาะ ผลิตน้ำมัน ยันทำถูกต้องตามกฎหมาย 5 ปีที่ผ่านมาจ่ายผลตอบแทนให้รัฐเพียบ ทำหนังสือให้ “คสช.” ตั้งคณะทำงานเข้าตรวจสอบเพื่อแสดงความโปร่งใส พร้อมเตรียมฟ้องร้องคดีอาญาเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง “พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส” ผู้กล่าวเท็จแต่ยังไม่คิดฟ้องสื่อ
นางสาวมนสิชา การุณยฐิติ ผู้จัดการฝ่ายบริหารและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีที่ พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ได้กล่าวหาบริษัทลักลอบดำเนินกิจการขุดเจาะ สำรวจ ผลิตน้ำมันดิบโดยผิดกฎหมายระหว่างปี 2551-2555 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จโดยสิ้นเชิง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนและเสียหายต่อภาพลักษณ์บริษัทฯ ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็ว อีกทั้งเตรียมจะส่งเรื่องให้สำนักงานทนายความดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งแก่ พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส ภายในสัปดาห์หน้า
“บริษัทฯ มีความจริงใจ จึงขอให้ คสช.ตั้งคณะทำงานเข้ามาตรวจสอบได้เลยเพราะคิดว่าน่าจะโปร่งใสที่สุด และจะยื่นฟ้องผู้ที่ดำเนินการกล่าวเท็จเป็นหลัก ส่วนกรณีโทรทัศน์ช่อง7 รวมถึง TNN เป็นเพราะได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวเราเองก็จะได้ชี้แจง ซึ่งเราเองยังไม่คิดที่จะฟ้องสื่อดังกล่าว” น.ส.มนสิชากล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอชี้แจงข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 1. บริษัทฯ ลักลอบการขุดเจาะ สำรวจ และผลิตน้ำมันดิบ ซึ่งขอปฏิเสธข้อกล่าวหายืนยันว่าได้ทำตามขั้นตอนกฎหมายทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ตามที่ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2546/60 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L44/43 และสัมปทานเลขที่ 5/2546/62 แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกหมายเลข L33/43 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ตั้งแต่ปี 2546 โดยมีพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และได้รับการอนุญาตกำหนดให้เป็นพื้นที่ผลิต จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในปี 2552
“น้ำมันดิบที่ผลิตขึ้นมาได้ บริษัทฯ จะต้องทำการตกลงซื้อขายกับคู่ค้า ซึ่งในที่นี้คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ปตท.ได้กำหนดให้นำไปส่งที่โรงกลั่นน้ำมันบางจากซึ่งบริษัทฯ ไม่สามารถจะไปขายกับโรงกลั่นอื่นได้เลยเพราะโรงกลั่นทุกโรงจะถูกควบคุมปริมาณการกลั่น โดยกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน และกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง” น.ส.มนสิชากล่าว
ส่วนของการผลิตน้ำมันดิบในพื้นที่ ส.ป.ก.นั้น นางสาวมนสิชากล่าวว่า ในอดีตเคยมีการผลิตจริง แต่เป็นการผลิตโดยเปิดเผย ไม่ได้ลักลอบผลิต เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับสัมปทานผลิตปิโตรเลียม และขออนุญาตทั้งการขุดเจาะสำรวจ และขออนุญาตผลิตปิโตรเลียม จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งได้ทำหนังสือขอความยินยอมให้เข้าใช้ที่ดินเพื่อการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ จากสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จังหวัดเพชรบูรณ์ แล้ว เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 และหนังสือคำขอในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553
อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 ทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ หยุดผลิตปิโตรเลียมบนที่ดินดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ด้วยเหตุที่การให้ความยินยอมที่ผ่านมานั้นให้เฉพาะแก่การสำรวจปิโตรเลียมเท่านั้น ซึ่งบริษัทฯ ก็ได้หยุดการผลิตน้ำมันตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นมา ถึงแม้ว่าบริษัทฯ จะเข้าใจดีว่า ส.ป.ก.ไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจ อนุญาตให้ผลิตน้ำมัน หรือสั่งให้หยุดการผลิตน้ำมันได้ แต่เป็นอำนาจของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นขอทุเลาคำสั่ง และยื่นคำขอรับความยินยอมในการใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการนำทรัพยากรปิโตรเลียมในที่ดินเข้าสู่กระบวนการผลิตปิโตรเลียมสำหรับ 5 พื้นที่ฐานเสร็จสมบูรณ์ โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา สำหรับอีก 1 พื้นที่ฐานบนแปลง L44-V นั้น บริษัทฯ ยังคงดำเนินการผลิตปิโตรเลียมต่อไป เนื่องจากไม่ได้อยู่เขต ส.ป.ก.
สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทฯ หลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าภาคหลวงมานาน 5 ปี จนทำให้รัฐสูญเสียรายได้มหาศาลนั้น บริษัทฯ ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบันบริษัทฯ ได้เสียค่าภาคหลวงให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท โดยชำระในอัตราแบบขั้นบันไดตามระดับการผลิตในอัตราร้อยละ 5-15 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขาย ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังได้จ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษให้แก่รัฐอีกกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากอัตราจัดเก็บ 0-75% ของกำไรปิโตรเลียมรายปี ซึ่งบริษัทฯ เคยจ่ายในอัตราที่สูงถึง 42% นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังต้องนำเสียภาษีปิโตรเลียม ในอัตราร้อยละ 50 จากกำไรสุทธิ ให้แก่กรมสรรพากร โดยบริษัทฯ ได้จ่ายไปแล้วกว่า 3,400 ล้านบาทเช่นกัน ซึ่งหากรวมผลตอบแทนทั้งหมดที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่รัฐ มีจำนวนสูงถึง 7,300 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ไม่มีการปิดบังข้อมูลใดๆ ในการผลิตปิโตรเลียมและขายปิโตรเลียม และสามารถร้องขอข้อมูลการชำระค่าภาคหลวง และคำอธิบายทั้งหมดจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ตามขั้นตอน ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทฯ ไม่จ่ายภาษี และค่าภาคหลวงมากว่า 5 ปี นั้นเป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง