xs
xsm
sm
md
lg

อ้างขุดน้ำมันนอกเขตส.ป.ก. ป้องทุนฮ่องกง ปตท.ปัดมีเอี่ยวแค่รับซื้อน้ำมับดิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จับมือ คสช. ออกโรงปกป้องทุนต่างชาติ แถบริษัทอีโค่ฯ สัญชาติฮ่องกง ไม่มีการลักลอบเจาะน้ำมันในพื้นที่ สปก. มีสิทธิทำตามสัญญาสัมปทาน เหตุอยู่นอกเขต และจ่ายค่าภาคหลวงตลอดร้อยละ 12-15 รับมี 5 ฐานอยู่ในพื้นที่ สปก. สั่งระงับไปแล้วปี 54 ถ่อมตัวไทยไม่ได้มีพลังงานเยอะเหมือนตะวันออกกลาง ขู่คนให้ข่าวร้อง คสช. เอาผิดหาบิดเบือน ด้านปตท. ยันรับซื้อน้ำมันดิบถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตปิโตรเลียมของบริษัทผู้รับสัมปทานในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่เพชรบูรณ์

จากกรณีที่ พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส กรรมาธิการพลังงานวุฒิสภา ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัท อีโค่ โอเรียน รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีสัญชาติฮ่องกง ทำการลักลอบขุดเจาะน้ำมันดิบในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ต.บ่อรัง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ นั้น

วานนี้ (19 มิ.ย.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่ลักลอบผลิตน้ำมันในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ที่ จ.เพชรบูรณ์ ว่า ไม่มีการลักลอบผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท อีโค่ โอเรียน รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติฮ่องกง แต่อย่างใด ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีสิทธิในการดำเนินการในพื้นที่สัมปทาน และได้ดำเนินการเสียค่าภาคหลวงปิโตรเลียมมาตลอด คิดเป็นร้อยละ 12 -15 เป็นเงินจำนวนประมาณ 1,500 ล้านบาท

สำหรับการใช้ประโยชน์ในที่ดินของส.ป.ก. ในจ.เพชรบูรณ์นั้น เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.52 บริษัทอีโค่ฯ ได้รับอนุมัติผลิตบ่อรังเหนือ จำนวน 39.39 ตารางกิโลเมตร ซึ่งบางส่วนมีเนื้อที่ประมาณ 43 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา อยู่ในเขตที่ดินของส.ป.ก.ท้องที่จ.เพชรบูรณ์ โดยมีฐานผลิตจำนวน 6 ฐาน แต่วันที่ 2 พ.ค.55 บริษัทได้รับหนังสือแจ้งจากส.ป.ก. ว่าพื้นที่ผลิตทั้ง 6 ฐานดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของส.ป.ก. จึงได้หยุดทำการผลิตโดยทันที แต่ภายหลังได้มีการตรวจสอบจากส.ป.ก. และมีหนังสือลงวันที่ 25 ธ.ค.55 แจ้งไปยังบริษัทว่า พื้นที่ L44 - v ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ฐานผลิตดังกล่าวไม่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน บริษัทจึงเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวเพียงแหล่งเดียวอีกครั้งในวันที่ 26 ธ.ค.55 ปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย142 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขอยืนยันว่าประเด็นลักลอบผลิตและเรื่องไม่เสียค่าภาคหลวงปิโตรเลียมไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด

นายทรงภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาพรวมปัจจุบันประเทศไทยมีทรัพยากรปิโตรเลียมที่ขุดได้จากแปลงสัมปทานภายในประเทศไม่ถึงร้อยละ 1 ของโลก และมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ จัดอยู่ที่ประเทศที่ต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ฉะนั้น อย่าไปเชื่อว่าประเทศไทยเหมือนซาอุดิอาระเบีย หรือประเทศเพื่อนบ้านบางแห่งน

"ไทยไม่ได้มีแหล่งพลังงานมหาศาลขนาดนั้น โดยขณะนี้ประเทศไทยต้องใช้น้ำมันประมาณ 1 ล้านบาเรลต่อวัน แต่กำลังการผลิตน้ำมันดิบภายในประเทศของไทย อยู่ที่อัตราเฉลี่ยประมาณ 1.4 แสนบาเรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ขณะที่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบ ถึง 8.5 แสนบาเรลต่อวัน ขณะเดียวกัน ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดบทลงโทษกับคนที่ออกมาให้ข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง"

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า เนื่องจากฐานดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และเป็นไปตามกรอบกฎหมายทุกประการ จึงดำเนินการต่อได้ และไม่ว่าพื้นที่ไหนเสียค่าภาคหลวงเท่ากันหมด

ด้านนายสรากร กุลธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการเผยแพร่ข่าวการลักลอบผลิตปิโตรเลียมของบริษัทผู้รับสัมปทานในพื้นที่ ส.ป.ก. จังหวัดเพชรบูรณ์ ผ่านสื่อต่างๆ ว่า บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่มีสิทธิในการดำเนินงานในการประกอบกิจการด้านปิโตรเลียม ในพื้นที่ผลิตสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 3/ 2546/ 60 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L44/ 43 และสัมปทานเลขที่ 5/ 2546/ 62 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L33/ 43 โดยปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดเพียง 4,790 บาร์เรลต่อวัน (ข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ณ เดือนพฤษภาคม 2557)

ทั้งนี้ ปตท. ขอยืนยันว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการประกอบกิจการผลิตปิโตรเลียมใน จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามที่เป็นข่าว นอกจากการรับซื้อน้ำมันดิบทั้งหมดเพื่อใช้ภายในประเทศ ที่มีการทำสัญญาซื้อขายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2561 โดยส่งต่อให้โรงกลั่นในประเทศ ซึ่งปริมาณดังกล่าวคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 2 ของการผลิตน้ำมันดิบในประเทศเท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบถึงประมาณร้อยละ 80 เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น