เครือข่ายพลังงานภาคประชาชนหลายกลุ่มนัดแต่งดำเตรียมยื่นหนังสือถึง “ประยุทธ์” หัวหน้า คสช.พรุ่งนี้ ขอให้ทบทวนการแต่งตั้ง “ปิยสวัสดิ์-พรชัย-คุรุจิต” ไปเป็นบอร์ด ปตท. เหตุมีข้อมูลชี้ชัดผลงานที่ผ่านมาพบประโยชน์ทับซ้อนเอื้อกลุ่มทุน หวั่นกระทบภาพลักษณ์ คสช.ไม่ได้คืนความสุขคนไทยแน่
พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 30 มิ.ย. เวลาประมาณ 09.59 น. ที่กองทัพบก เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ สภาธรรมาภิบาล สภาปฏิรูปพลังงานไทย กองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย เครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานไทย ฯลฯ จะนัดเครือข่ายและประชาชนที่สนใจแต่งชุดดำเพื่อทำการยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ดปตท. 3 คน ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และนายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน
“เหตุผลที่เราคัดค้าน 3 คนนี้เพราะเรามีข้อมูลค่อนข้างมากว่าไม่เหมาะสม เมื่อ คสช.มาเพื่อตอบโจทย์ที่จะดูแลคืนความสุขให้แก่ประชาชน แต่ 3 บุคคลนี้อดีตที่ผ่านมามีผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน หาก คสช.ไม่รับฟังก็จะมีผลกระทบว่าครั้งนี้ คสช.ทำเพื่อประโยชน์ตัวเองหรือบ้านเมืองกันแน่ และเรายืนยันว่าจะเกาะติดผลงานของคุณปิยสวัสดิ์แน่ และหากมีการดำเนินการใดๆ โดยเฉพาะการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งใหม่ก็คงจะต้องออกมาเคลื่อนไหวบนถนนอีกแม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับการถูกจับกุมก็ตาม” พ.ท.พญ.กมลพรรณกล่าว
ทั้งนี้ นายปิยสวัสดิ์ ในการปฏิบัติหน้าที่ รมว.พลังงานในรัฐบาลขิงแก่ ได้ทำการจัดสรรสัมปทานปิโตรเลียมสูงสุดถึง 30 แปลงภายในระยะเวลา 1 ปีกว่าที่อยู่ในรัฐบาลปี 2550 ขณะที่หากย้อนกลับไปเกือบทุกรัฐบาลกลับน้อยกว่ามาก เช่นสมัยนายชวน หลีกภัยให้เพียง 9 แปลง แม้แต่ยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรยังพิจารณาให้เพียง 19 แปลงทั้งที่อยู่ในวาระหลายปีกว่ามาก ขณะเดียวกันยังมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้สัมปทานไม่จำกัดจำนวนแปลง และ รมต.สามารถลดค่าสัมปทานได้ 90% ทั้งที่สัมปทานไทยได้น้อยอยู่แล้ว
นอกจากนี้ นายปิยสวัสดิ์ในช่วงที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีการถ่ายโอนทรัพย์สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในส่วนของโรงไฟฟ้าระยองให้ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือเอ็กโก้ โดยมีนายพรชัย รุจิประภา ร่วมจดทะเบียนบริษัท และเป็นกรรมการในบริษัทเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2537 เช่นเดียวกับการถ่ายโอนทรัพย์สินโรงไฟฟ้าราชบุรี ที่นายคุรุจิต นาครทรรพ ร่วมจดทะเบียนเป็น บมจ.ผลิตไฟฟ้า ราชบุรี และเป็นกรรมการในบริษัท เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2543
“ทั้ง 2-3 คนมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการถ่ายโอนการซื้อขายโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และ นายคุรุจิต และนายพรชัยเองตอนนั้นก็ไปนั่งบอร์ด กฟผ.ด้วย ซึ่งเราก็ได้ยื่นฟ้องร้องทั้ง 2 คนนี้ที่ศาลปกครองนนทบุรี และวันที่ 4 ก.ค.นี้ศาลฯ จะนัดสอบข้อมูล” พ.ท.พญ.กมลพรรณกล่าว