xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กูว่าแล้ว ... “ปิยสวัสดิ์” ประธานบอร์ดปตท.? คสช. ทำได้ นายแน่มาก !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทร์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การเร่งมือทำเรื่องเร่งด่วนคือการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซฯ ที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ตกปากรับคำต่อสังคมว่าจะรีบดำเนินการให้เสร็จเป็นอันดับแรก ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย แม้ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าต้องปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
 
แต่ไทม์ไลน์กว่าจะเห็นผลซึ่งพล.อ.อ.ประจิน บอกว่าต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นร่างปฏิรูปพลังงานภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ และจะใช้เวลาในการปฏิรูป 3 - 6เดือนนั้น มันเสี่ยงเกินไป เพราะเวลาฮันนีมูนของคณะรัฐประหารมักสั้นและมีตัวแปรอื่นมาทำให้ความตั้งใจไขว้เขว และอาจลงเอยด้วยการเสียของเสียเวลาเปล่าเหมือนที่ผ่านมา
 
อย่าเพิ่งฝันหวานไปไกลถึงการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานเรื่องอื่นๆ ทั้งการปฏิรูปแหล่งพลังงาน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม การแยกท่อก๊าซฯ การจัดหาเชื้อเพลิงอื่นสำหรับการผลิตไฟฟ้า แบบว่าเยอะไปหมด ขอเอาแค่เรื่องปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซฯ ที่ว่าจะทำเป็นอันดับแรกให้เห็นเป็นผลสำเร็จในระยะเวลา อันสั้นไม่เกินหนึ่งเดือนนี้ พิสูจน์ฝีมือวัดใจว่ากล้าลงมือจัดการกับเหลือบไรตัวเป้งที่สูบกินเลือดเนื้อเถือหนังมานมนานกันเสียก่อน
 
เผื่อว่าถึงตอนที่คสช. อยากสืบทอดอำนาจ ประชาชนจะได้ชูรักแร้หนุนให้อยู่ต่ออย่างเต็มที่เพราะเห็นผลงานชิ้นโบแดงที่ทำเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ผลงานแบบประชานิยมเหมือนที่พวกนักการเมืองชอบทำกัน และประชาชนจะได้มีความหวังว่าการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานด้านอื่นๆ จะตามมา และเชื่อว่า คสช. ทำได้จริง ไม่ได้โม้
 
หากฟังจากข่าวรั่วคำสารภาพของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. ที่ว่า เล่นไลน์วางแผนกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลนอมินีทักษิณ ชินวัตร แล้ว ทีมงานของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เตรียมการยึดอำนาจย่อมเก็บกำข้อมูลโครงสร้างกิจการด้านพลังงานของประเทศที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนเอาไว้ในมือมาก่อนหน้านี้แล้ว และรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร และใครทำอะไรเอาไว้บ้าง
 
เว้นเสียแต่ว่า คสช. ไม่ได้คิดถึงเรื่องปฏิรูปพลังงานอยู่ในหัวสมองมาก่อน พอๆ กับที่ กปปส. ไม่เห็นความสำคัญในประเด็นเรื่องปฏิรูปพลังงานในการปฏิรูปประเทศทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ กระทั่งเจอกระแสมวลชนกดดัน กปปส. จึงส่งกุนซือสำคัญด้านพลังงาน มาเป็นหัวหอกเคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปพลังงานเวอร์ชั่น กปปส.

กุนซือคนสำคัญก็หาใช่ใครที่ไหน เขาคนนั้นคือ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทร์  นักแทคโนแครตด้านพลังงานของประเทศที่มีชื่อเสียง มีผลงานเอกอุ ผู้ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) (ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมาเป็นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. ในปัจจุบัน), อดีตกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และอดีตรมว.กระทรวงพลังงาน สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้เชิดชูทุนนิยมเสรี ไม่เว้นแม้แต่กิจการพลังงาน ซึ่งถือเป็นระบบสาธารณูปโภคของประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการวางโครงสร้างพลังงานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

คณะรัฐประหารชุดก่อนก็เรียกใช้บริการ ดร.ปิยสวัสดิ์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คสช.จะเรียกใช้บริการเช่นกัน และวันนี้ก็มีชื่อดร.ปิยสวัสดิ์ ขึ้นชิงตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. ซึ่งมีพรรคพวกหนุนเนื่องอยู่เบื้องหลังในนามกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน โดยวันที่ 27 มิ.ย.นี้ บอร์ดปตท.จะมีการประชุมพิจารณาแต่งตั้งกรรมการปตท.ชุดใหม่ พร้อมกับการลาออกของกรรมการชุดเก่า โดยกรรมการที่คาดว่าจะลาออกในวันดังกล่าว ประกอบด้วย นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ นายอินสอน บัวเขียว

ส่วนคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะได้รับแต่งตั้ง ประกอบด้วย 1.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 2.นายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน 3. นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ 4.นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ส่วนนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ยังคงนั่งเป็นกรรมการ ปตท. เช่นเดิม และหลังจากนั้น จะมีการประชุมบอร์ดปตท.ชุดใหม่อีกครั้ง และจะตั้งนายปิยสวัสดิ์ ขึ้นเป็นประธานบอร์ด ปตท.คนใหม่

เรียกว่านายปิยสวัสดิ์มาแรงตั้งแต่ต้นจนจบและไม่มีอะไรสามารถมาหยุดยั้งได้

ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานตรวจสอบในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ นางสาวรสนา โตสิตระกูล หรือ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ฯลฯ ไม่ปรากฏรายชื่อให้เข้าไปร่วมเป็นบอร์ด ปตท.ให้เห็นเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้น จึงทำให้อดเกิดคำถามไม่ได้ว่า หรือการวางบิลที่แปซิฟิกคลับประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า คนที่คุณก็รู้ว่าใครมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองเก่าแก่และลุงกำนันแค่ไหน

ถึงตอนนี้ ประชาชนคงอยากถาม พล.อ.อ.ประจิน ที่รับฟังข้อมูลเรื่องปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซฯ มาแล้ว 2 รอบจากกลุ่มคนที่มีความคิดสองขั้วว่าจะเลือกเชื่อข้อมูลจากฝ่ายไหน จะเชื่อถือข้อมูลจากฝ่ายกุนซือด้านพลังงานของ กปปส. พันธมิตรชิดใกล้ของ คสช. หน่วยงานราชการ และปตท. หรือว่าข้อมูลจากภาคประชาชน ซึ่งมีกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย นำโดยน.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กรุงเทพฯ ที่ได้รับเชิญเข้าประชุมให้ข้อมูลต่อคสช.
 
ประเด็นการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซฯ นั้น แม้ข้อมูลจะมาจากแหล่งเดียวกัน แต่มีการนำเสนอและมองต่างมุม ซึ่งพล.อ.อ.ประจิน ห่วงว่าอาจจะทำให้เกิดความสับสนต่อประชาชนจึงจะแก้ปัญหาด้วยการให้ข้อมูลให้ไปในทิศทางเดียวกันไม่มีการบิดเบือน
 
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับคสช.แล้วที่สำคัญมากกว่าความสับสนนั้นก็คือ การมองต่างมุมในข้อมูลที่มาจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซฯ ที่แตกต่างกัน เอาง่ายๆ อย่างเช่น ข้อเสนอของกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ที่เสนอว่า ราคาน้ำมันอิงสิงคโปร์ในปัจจุบันไม่มีความเป็นธรรม ขอให้เอาค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงหรือค่าใช้จ่ายเทียม ได้แก่ ค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทย, ค่าสูญเสียระหว่างทาง และค่าประกันภัยออกไป ยกเลิกกองทุนน้ำมัน และกำหนดค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ลิตรละ 1.50 บาท
 
ขณะที่ปตท.และกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ต้องการให้คงกองทุนน้ำมันเอาไว้เหมือนเดิม และให้ปรับโครงสร้างราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แปลไทยเป็นไทยก็คือ คงสูตรราคาเดิมอิงสิงคโปร์เอาไว้ เพราะนี่เป็นราคาตลาดโลกที่ยึดถือว่าถูกต้องเป็นธรรมมานมนานแล้ว ส่วนค่าการตลาดที่แอบขูดรีดประชาชนได้ง่ายๆ เหมาะสมดีแล้ว
 
ถามย้ำอีกครั้งว่า คสช. จะฟังใคร ความกล้าหาญอันดับแรกสุดจะกล้าตัดสินใจตัดค่าใช้จ่ายเทียมออกไปจากราคาน้ำมันไหม? เพราะเรื่องนี้ไม่ว่าจะอธิบายด้วยเหตุผลใดก็ฟังไม่ขึ้นทำไมต้องมาให้ประชาชนจ่ายอยู่ได้ เช่นเดียวกับค่าการตลาดจะควบคุมไม่ปล่อยให้บริษัทน้ำมันขูดรีดเพื่อเอากำไรเกินไปได้อย่างไร
 
ส่วนโครงสร้างราคาก๊าซฯ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้และกำไรที่ทำให้ปตท.ร่ำรวยมหาศาลนั้น ท้าทายคสช. ยิ่งกว่าเรื่องราคาน้ำมัน เอาง่ายๆ แค่เรื่องราคาก๊าซฯจากอ่าวไทยที่มีราคาถูกกว่า ปตท.เอาไปขายให้บริษัทลูกใช้ก่อน ส่วนราคาก๊าซฯที่ขายให้กับประชาชนคนไทยกลับแพงกว่า เพราะเป็นราคาก๊าซเฉลี่ย (Gas Pool Price) ที่มาจากสองแหล่ง คือ อ่าวไทยซึ่งมีราคาถูกกับก๊าซพม่าที่ปตท.ซื้อมาในราคาแพง และราคาก๊าซเฉลี่ยนี้ปตท.ยังขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย ทำให้ประชาชนเจอสองเด้งคือนอกจากจะต้องซื้อก๊าซฯแพงแล้วยังจ่ายค่าไฟแพง เนื่องจาก กฟผ. ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงถึง 70 - 80%
 
เรื่องก๊าซฯ นี้ เอาง่ายๆ และทำได้เลยทันที คือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่อนุมัติให้กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีสิทธิ์ใช้ก๊าซฯ จากอ่าวไทยพร้อมกับภาคครัวเรือน ถามว่า คสช.จะกล้าตัดสินใจให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไปต่อท้ายแถวผู้ใช้ก๊าซฯภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง โดยให้รวมอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม หรือต่อท้ายกลุ่มอุตสาหกรรม หรือไม่? ถ้ากล้าก็ต้องยกนิ้วให้ คสช. นายแน่มาก !
 
อย่างไรก็ตาม ระหว่างรีๆ รอๆ รอความหวังที่ไม่อยากให้เป็นแค่ลมๆ แล้งๆ อย่างน้อยก็ให้ข้อมูลเรื่องพลังงานอีกด้านหนึ่งที่มองมุมต่างจากเดิมเพื่อการตัดสินใจของ คสช. ทางกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย จึงนำเสนอข้อมูลในการประชุมกับพล.อ.อ.ประจิน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22มิ.ย. 2557 โดยสรุปดังนี้
 
1.ขอให้คสช.ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไปก่อน และควรแก้ไขกฎหมายสัญญาสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต
 
2.เสนอให้รัฐจัดตั้งบรรษัทด้านพลังงานที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้น 100% มาดูแลระบบสัมปทานเนื่องจากการแก้ปัญหาพลังงานต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำ
 
3.การบริหารจัดการก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจี ควรจะแแก้ไขมติ ครม. ปี2551 ที่กำหนดให้ปิโตรเคมีมีสิทธิ์ใช้ก๊าซในอ่าวไทยร่วมกับประชาชน โดยแก้ให้ประชาชนมีสิทธิ์ก่อนลำดับแรก ที่เหลือหากปิโตรเคมีไม่พอใช้ ต้องมีการนำเข้า ก็ให้ปิโตรเคมีนำเข้าในราคาตลาดโลกแทน ปัญหาการเรียกเก็บเงินกองทุนน้ำมันจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีก็จะหมดไป
 
4.ราคาน้ำมันที่อิงตลาดสิงคโปร์ในปัจจุบัน ควรอิงราคาหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์ ไม่ใช่อิงราคาหน้าโรงกลั่นบวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ฯลฯ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งปัจจุบันซึ่งขณะนี้มีการบวกส่วนนี้ไปประมาณ 70 สตางค์ต่อลิตร
      
5. เสนอให้แยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกมาจาก ปตท. ทั้งบนและทางทะเล ตามคำสั่งศาลปกครองเพื่อให้เกิดความธรรมต่อผู้ใช้
 
ขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ ตัวแทนจากกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ได้เสนอแนวทาง 6 แนวทางตามที่กลุ่มปฏิรูปฯ นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้แต่ลงรายละเอียดมากขึ้น เช่น การปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การปรับบทบาทของ บมจ.ปตท.ไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง แต่กองทุนน้ำมันฯไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทยที่จะให้จัดตั้งบรรษัทพลังงานมาดูแลระบบสัมปทานปิโตรเลียม เพราะการกำกับดูแลไม่ชัดเจนจะทำให้การเมืองเข้าแทรกแซงได้ และบทบาทจะทับซ้อนกับ ปตท. ส่วนการเปิดสัมปทานรอบใหม่ เสนอให้ดำเนินการโดยเร็ว

น่าสังเกตว่า การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซฯ และกองทุนน้ำมัน ทั้งสองกลุ่มซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละฟากฝั่งพอจะคุยกันได้ แต่สำหรับสัมปทานปิโตรเลียม อุตสาหกรรมต้นน้ำ ขุมทรัพย์มหาศาลของบรรษัทพลังงานข้ามชาติอย่างเชฟรอนที่ครองอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย ปตท.สผ. และเฮสส์ ยังไปกันคนละทาง
 
แต่นี่แหละคือภารกิจที่สำคัญที่แท้จริงของคสช.
 
ความกล้าหาญในการรื้อโครงสร้างกิจการพลังงานของชาติตั้งแต่ต้นน้ำที่อยู่ในมือของเชฟรอน ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ เป็นเดิมพันอันยิ่งใหญ่ของคสช.ที่อาจพังได้ง่ายๆ เพราะการเข้าแทรกแซงของบิ๊กเบิ้มอเมริกา ซึ่งจะต้องออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเต็มที่ด้วยข้ออ้างสารพัด ดังเช่นการนำร่องด้วยการลดเกรดประเทศไทยอยู่ในระดับ 3 ด้วยข้อหาค้ามนุษย์ แรงงานทาส และยังจะตามมาอีกหลายระลอก ตราบใดที่กระแสปฏิรูปโครงสร้างพลังงานยังไม่หยุด และคสช.ยังเดินหน้าเอาจริงไม่ยั้ง

เว้นเสียแต่ว่า สัญญาณที่ คสช. ส่งออกมาจากการโยนหินถามทางเรื่องการตั้งดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นประธานบอร์ด ปตท. จะสร้างความมั่นใจต่อพี่เบิ้มอเมริกาว่า ไม่ต้องห่วงกังวลปฏิรูปพลังงานของไทย ไม่ไปไกลถึงขั้นรื้อสัมปทานปิโตรเลียมแน่นอน ผลประโยชน์ของเชฟรอนซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ของอเมริกาจะไม่กระทบกระเทือน และอีกไม่นานจะมีการเปิดสัมปทานรอบใหม่ตามเสียงเรียกร้อง เผลอๆ อาจต่ออายุสัมปทานล่วงหน้าให้ก่อนเหมือนอย่างที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่มีรัฐมนตรีพลังงานในขณะนั้นชื่อ ดร.ปิยสวัสดิ์ จัดใส่พานถวายให้

เป็น win win ของเทคโนแครตผู้เอกอุด้านพลังงานของประเทศ เป็น win win ของเชฟรอนยักษ์พลังงานอเมริกา เป็น win win ของ ปตท. เป็น win win ของคสช. ที่จะได้อยู่รอดปลอดภัยไม่ถูกพี่เบิ้มต่อต้าน แต่เป็นความพ่ายแพ้ของประชาชนคนไทยที่หนีไม่พ้นเวรพ้นกรรม “หนีเสือปะจระเข้” เหมือนเดิม
 

กำลังโหลดความคิดเห็น