xs
xsm
sm
md
lg

จับตางบ2ล้านล. หวั่นขรก.พลังงานเอื้อปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ประยุทธ์” สั่งเคลียร์ท่องบฯ 57 ใน 2 สัปดาห์ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัดฝุ่นเมกะโปรเจกต์ 2 ล้านล้าน กลุ่มปฏิรูปพลังงานเห็นพ้องคสช.ตรึงราคาดีเซล และลดขึ้นก๊าซLPGภาคครัวเรือนลงอยู่ที่ 22.63 บาท/กก. ด้านสมาคมผู้ค้าก๊าซหุงต้มตบเท้ายื่นหนังสือวันนี้ หนุนตรึงราคาLPG ขณะที่อดีตส.ส.ปชป.เตือน คสช. อย่าเชื่อ ขรก.พลังงาน หวั่นถูกหลอก แนะเลิกนโยบาย ยิ่งลักษณ์ "ม.ล.กร" ชวนคนไทยแสดงออกหนุน คสช. ตรึงราคา LPG เชื่อทุนพลังงานเตรียมค้าน

เมื่อเช้าวานนี้ (2 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนินนอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เชิญรองหัวหน้าคสช. ประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รวมถึง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. ร่วมประชุมหารือ ภายหลังจากที่ได้มอบหมายให้หัวหน้าส่วนต่างๆไปประชุมส่วนย่อยทั้ง 7 กลุ่มงาน ที่ได้รับผิดชอบในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มงานเศรษฐกิจ ซึ่งหัวหน้า คสช. ให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้เชิญสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกระทรวงการคลัง เข้าบรรยายสรุปผลงานดำเนินการที่ผ่านมา รวมถึงแผนงานเร่งด่วน แผนการจัดการ การบูรณาการ เสนอเป็นโรดแมป เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการปฎิบัติต่อไป รวมถึงการตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป และสถานการณ์ล่าสุดทางการเมือง หลัง คสช. เข้ามาควบคุมการปกครองประเทศมาเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าบันทึกภาพ และติดตามการประชุมภายใน บก.ทบ. เด็ดขาด ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ต่อมาเวลา 13.30 น. พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. แถลงว่า เมื่อช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงาน 7 ฝ่าย และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งได้มีการวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ไปยังทุกจังหวัดด้วย โดยเป็นการรับทราบแผนการจัดทำงบประมาณ และเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฝากให้นำเรื่องความร่วมมือให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เข้าถึงทรัพยากรอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และการทำให้ดัชนีความสุขของประชาชนเพิ่มขึ้น บรรจุเข้าไปในแผนด้วย

ส่วนความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่ยังค้างอยู่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ฝ่ายเศรษฐกิจ จัดทำรายงานการสรุปแผนการใช้งบประมาณให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนจะนำเสนอที่ประชุมอีกครั้ง

ขณะที่ พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช.กล่าวถึง ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งปัญหาแผ่นดินไหว พายุฤดูร้อน และภัยพิบัติต่างๆ ว่า ขณะนี้ คสช.ได้ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมความพร้อมดูแลช่วยเหลือ และบรรเทาปัญหาของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการคณะทำงานด้านสังคมจิตวิทยานั้น ขณะนี้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ก็อยู่ในระหว่างการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในโครงการเร่งด่วน เช่น การทบทวนโครงการแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.)

***จ่อรื้อ2ล้านล.-ทำรถไฟทางคู่ต้องโปร่งใส

พ.อ.ณัฐวัฒน์ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับทราบผลการประชุมฝ่ายเศรษฐกิจที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้า คสช.รับผิดชอบอยู่ โดยในกรณีโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท นั้น ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานทีเกี่ยวข้องนำกลับไปพิจารณา ว่าโครงการใดมีประโยชน์กับประชาชน โดยเน้นต้องมีกระบวนการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถตรวจสอบได้ และต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ด้วย โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ คาดว่าสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ แต่ต้องมีการศึกษาเส้นทางที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ให้กลับไปศึกษารายละเอียด และต้องไม่กระทบวินัยการเงิน การคลัง หากจะเดินหน้า อาจเป็นการร่วมทุนกับเอกชน โดยใช้เงินลงทุนในประเทศเป็นหลัก

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น พ.อ.ณัฐวัฒน์ กล่าวว่า หัวหน้าคสช. ได้มอบหมายให้ไปศึกษาระบบป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ และให้ป้องกันโครงการในลักษณะเบี้ยหัวแตก ที่ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ให้เน้นนำโครงการในพระราชดำริ

สำหรับด้านราคาพลังงาน หัวหน้า คสช. ให้นโยบายว่า ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดในภาพรวม แต่จำเป็นต้องหามาตรการอื่นมาช่วย เช่น กองทุนน้ำมัน และอยากให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนไทย ที่อยากใชัน้ำมันราคาถูก

***ส.อ.ท.ชง7มาตรการเสนอคสช.ปลุกศก.

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา ซึ่งจะมีทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยมี 7 มาตรการเร่งด่วน เช่น จัดตั้งคณะกรรมการบริหารส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ การตั้งคณะทำงานดูแลเศรษฐกิจชายแดน ซี่งการขับเคลื่อนบางประเด็นทำได้รวดเร็ว เช่น การจ่ายเงินให้กับชาวนาในโครงการจำนำข้าว และการส่งสัญญาณเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

***หนุนตรึงดีเซล-ลดLPGครัวเรือน

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหนึ่งในกลุ่มปฏิรูปพลังงาน เปิดเผยกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไมเกินลิตรละ 30 บาท และสั่งลดราคาก๊าซแอลพีจีสำหรับภาคครัวเรือนลง 50สตางค์/กก.มาอยู่ที่ 22.63 บาท/กก.อิงราคาเดือนพ.ค. 57 ว่า เป็นโอกาสดีที่คสช.จะปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบอย่างจริงจังทั้งน้ำมันก๊าซแอลพีจี และอื่นๆ โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ซึ่งทางกลุ่มปฏิรูปพลังงานเห็นว่าโครงสร้างราคาพลังงานในปัจจุบันมีการบิดเบือน อาทิ เบนซิน 95 ควรปรับลดราคาลงมา และจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

โดยยอมรับว่าการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบไม่อาจทำเสร็จได้ภายใน 1-2 เดือน ในยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังใช้เวลา 2-3 ปีในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน

"ในส่วนของแอลพีจีจะปรับราคาเป็นเท่าไหร่นั้น คงต้องมาศึกษาทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมา กำหนดราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ใช้มาตั้งแต่ปี2550 ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบหรือราคาก๊าซธรรมชาติปรับมาแล้ว 40% ขณะที่ราคาแอลพีจีตลาดโลก 816 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดังนั้นราคาแอลพีจีต้องดูให้เหมาะสมเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เช่นเดียวกับดีเซลที่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้อยมากจากเดิมที่เคยจัดเก็บ 5.30 บาท/ลิตร จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ที่เสียภาษีมากกว่า "

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงแนวทางการการปฏิรูปพลังงานทดแทนว่า นอกจากจะยุบคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง รง.4 แล้ว คสช.ควรกำหนดให้โรงไฟฟ้าอยู่ในโรงงานจำพวกที่ 1 ไม่ต้องขอ รง.4 ขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเท่านั้น และ การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์ รูฟท็อป) ไม่ควรจัดอยู่ในกลุ่มโรงงาน โดยให้มีการแก้นิยาม พรบ.โรงงานเพื่อไม่ให้มีนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ในเรื่องนี้ และโครงการโซลาร์รูฟท็อป มีการติดตั้งเพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับประชาชนที่ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปมา กขึ้นก็จะลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า

นายปิยสวัสด์ กล่าวถึงข้อเสนอปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทฯหรือรัฐวิสากิจที่รัฐถือหุ้นอยู่ว่า ทางกลุ่มปฏิรูปพลังงานมีข้อเสนอชัดเจนว่า การแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นกรรมการในบริษัท(มหาชน) และรัฐวิสาหกิจ โดยอยากให้บังคับใช้ในทุกรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นใหญ่ไม่ใช่เฉพาะพลังงาน ทั้งการบินไทย การไฟฟ้า และทอท.เป็นต้น โดยคำนึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยบุคคลที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล ไม่ควรเป็นกรรมการในบริษัท(มหาชน)ที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐควรแยกการกำหนดนโยบายออกจากการกำกับดูแล การตั้งคนเข้าเป็นกรรมการต้องมีความโปร่งใส อิงมาตรฐานสากลของโลก

โดยรัฐบาลที่แล้วตั้งคนใกล้ชิดเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะดำเนินการปรับเปลี่ยนคนที่เป็นกรรมการโดยยึดกติกามาตรฐานสากล เช่น อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน มีหน้าที่ให้ใบอนุญาตปั๊มน้ำมัน คลังน้ำมันไม่ ควรเป็นกรรมการในบมจ.ปตท. , อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ให้ใบอนุญาตสัมปทานปิโตรเลียม ก็ไม่ควรเป็นกรรมการในบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น

ที่ผ่านมา รัฐสูญเสียรายได้จากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรปีละ 1 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้น 3 แสนล้านบาท และการอุดหนุนราคาแอลพีจีนำเข้าทำให้ต้องเสียเงินกองทุนน้ำมันเพื่ออุดหนุนส่วนต่างราคาไปแล้ว 2 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับความเสียหายจากการจำนำข้าวรัฐบาลที่แล้ว 5 แสนล้านบาท

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในกลุ่มปฏิรูปพลังงาน กล่าววว่า การที่คสช.สั่งลดราคาแอลพีจี และ ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร เชื่อว่าเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาค่าครองชีพ มองว่าไม่เสียหายอะไร ความเห็นส่วนตัวเห็นว่าควรทำระยะสั้นไม่เกิน 1-2 เดือน และเร่งศึกษาปรับโครงสร้างพลังงานให้สะท้อนต้นทุนโดยเร็ว โดยในส่วนของดีเซลนั้นหากปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตก็ควรจะปรับขึ้น 2-3 บาท/ลิตร ก็เพียงพอ

ด้าน นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) เปิดเผยวานนี้ (2มิ.ย.) สมาคมฯได้ ยื่นหนังสือถึงพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเกี่ยวกับแนวทางการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีโดยเห็นด้วยที่ชะลอการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน โดยต้องการให้มีการพิจารณาปรับโครงสร้างราคาภาพรวมให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นของราคาทั้งแอลพีจีครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี

ทั้งนี้ คสช.ควรพิจารณาถึงปริมาณการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศที่ขณะนี้ต้องชดเชยราคาโดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่ามีสัดส่วนการนำมาใช้อย่างไรและมีราคาเท่าใดแน่ และที่สำคัญการขึ้นราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนที่ผ่านมามีการครอบคลุมภาระต้นทุนไปมากน้อยเพียงใดแล้ว

อย่างไรก็ตามราคาแอลพีจีครัวเรือนและขนส่งจำเป็นที่จะต้องเป็นราคาเดียวกันและหากมองข้อเท็จจริงภาคขนส่งนั้นควรจะสูงกว่าด้วยซ้ำไปเนื่องจากมีทางเลือกการใช้มากมายทั้ง NGV แก๊สโซฮอล์ต่างจากครัวเรือนที่ไม่มีทางเลือกอื่นและการปรับขึ้นเมื่อเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้วก็จึงพิจารณาโดยช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสดีที่สุดเพราะเป็นช่วงแอลพีจีตลาดโลกจะอยู่ในช่วงขาลงหากจะปรับโครงสร้างก็จะง่ายสุด

นายเสมอใจ สุขสุเมธ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ยืนยัน ในเดือนนี้ไม่มีการปรับเพิ่มราคาแก๊สหุงต้มภาคครัวเรือนอีก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม หลังจาก คสช.ประกาศให้ตรึงราคาไว้เท่ากับราคาในเดือนพฤษภาคม ทำให้ราคาล่าสุดที่จะจำหน่ายในเดือนนี้ อยู่ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม ตามเดิม และ คสช.ยังให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท ต่อไป

***แนะลดราคาแก๊สหุงต้มให้เท่าภาคขนส่ง

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ตรึงราคาแก๊สหุงต้มไว้ที่ กิโลกรัมละ 22.63 บาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่มีการขยับเดือนละ 50 สตางค์ตามนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตังแต่เดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายปรับราคาจากเดิม กิโลกรัมละ18.13 บาท ให้ถึง 24.82 บาท ซึ่งจะขยับราคาได้ตรงตามเป้าหมายในเดือนกันยายน 2557 ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มาตรการที่ถูกต้อง ควรลดราคาแก๊สหุ่งต้มลงที่ 1.25 บาท ไม่ใช่ตรึงราคาไว้ เนื่องจากในขณะนี้แก๊สภาคครัวเรือน สูงกว่าภาคขนส่ง 1.25 บาท คือ ราคาภาคขนส่งอยูที่ 21.38 บาท แต่ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 22.63 บาท สิ่งที่คสช.ควรทำคือการลดราคาภาคครัวเรือนให้เท่าภาคขนส่ง และการปฏิรูปพลังงาน ไม่ใช่การเอา ปตท.กลับมา เนื่องจากต้องเสียเงินสี่แสนล้าน แต่ควรเอาระบบท่อคืนมาทั้งระบบ ซึ่งจะมีข้อดี คือ มีเอกชนเข้ามาแข่งขันเรื่องโรงแยกก๊าซ เพราะในขณะนี้ถูกผูกขาดโดย ปตท. ทำให้กำไรมหาศาลและราคาแก๊สแพง

“ผมอยากเห็นการทำรัฐประหารสำเร็จเรื่องการปฏิรูป ไม่เช่นนั้นจะเป็นเพียงแค่แย่งชิงอำนาจการปกครอง ผมมั่นใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนดี แต่อย่าเชื่อข้าราชการกระทรวงพลังงานร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะพึ่งพาปตท. จึงจะปกป้องผลประโยชน์ ปตท.เต็มที่ ในระยะยาวควรจะต้องยกเลิกการลอยตัวพลังงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะที่อ้างว่าจะต้องปรับราคาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนนั้น ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าราคาต้นทุนที่มีการระบุนั้นเป็นตัวเลขที่ถูกต้องหรือไม่” นายอรรถวิชช์ กล่าว

***"ม.ล.กร"เชื่อทุนพลังงานเตรียมค้าน

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี โพสต์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก "คุยกับหม่อมกร" ว่า เป็นที่คาดหมายได้ว่าในช่วง2-3 วันต่อจากนี้กลุ่มผลประโยชน์พลังงานในคราบนักวิชาการจะออกมาค้าน คสช. เรื่องการชะลอการขึ้นราคาก๊าสหุงต้มภาคครัวเรือนอย่างแน่นอน

ดังนั้น ขอให้พี่น้องภาคประชาชนร่วมแสดงการสนับสนุน คสช.ในการตัดสินใจยับยั้งการขึ้นราคาพลังงานครั้งนี้ รวมถึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการใช้ก๊าซหุงต้มของภาคธุรกิจปิโตรเคมีที่ใช้ในปริมาณมากและในราคาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 20 บาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น