xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โรดแม็ป “คสช.” สานต่อเมกะโปรเจ็กต์ ทบทวนกู้ 2 ล้านล. จ้องรื้อบอร์ดรสก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ขุนพลด้านเศรษฐกิจของ คสช.
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การชะลอตัวของเศรษฐกิจตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เป็นโจทย์ใหญ่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องแสดงฝีมือในการแก้ไขให้ผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้เช่นเดียวกันกับปัญหาด้านการเมืองและความมั่นคง และนั่นทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เรียกประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ การเงิน การธนาคาร และการคลัง รวมทั้งภาคเอกชน เพื่อชี้แจงแนวทางการบริหารงานด้านเศรษฐกิจพร้อมกับกางโรดแม็ปให้ทุกภาคส่วนร่วมเดินไปด้วยกัน ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิมนักแต่อาจจะมีการทบทวนและรื้อใหม่ในบางเรื่อง
 
โรดแม็ปเศรษฐกิจและนโยบายเร่งด่วนที่หัวหน้าคณะคสช.ชี้แจงต่อที่ประชุมในวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับสั่งการให้ทุกหน่วยงานด้านเศรษฐกิจไปรวบรวมมาตรการเกี่ยวกับการลดค่าครองชีพของประชาชนมาเสนอต่อคสช.นั้น มีรายละเอียด ดังนี้
 
1. จะเน้นการบริหารระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาคเอกชนเป็นหลัก 2. ให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างเสรี 3. ส่งเสริมนโยบายการค้าเสรี 4. ลดบทบาทรัฐวิสาหกิจที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ 5. ขจัดอุปสรรคการค้าต่างประเทศให้คล่องตัว ทั้งนี้ คสช. เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ 6. สนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 7. ไม่ก่อหนี้เกินตัวและรักษาวินัยการคลัง 8. ขจัดความไม่เป็นธรรมในระบบพ่อค้าคนกลาง 9. แก้ไขปัญหาแรงงานอย่างบูรณาการ
 
สำหรับนโยบายเร่งด่วนอีก 5 ข้อ ที่ทาง คสช. จะเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระแก่ชาวนาในโครงการจำนำข้าว 2. เร่งแก้ไขปัญหาการขอใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมที่ล่าช้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน 3. เน้นเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 ที่ยังค้างท่ออยู่ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 7 พันล้านบาท 4. เริ่มกระบวนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบรถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ในเขต กทม.และปริมณฑล 5. เร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนก.ย.นี้
 
นอกจากนั้น ยังกำหนดนโยบายที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายเร่งด่วน ดังนี้ 1. ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและขจัดปัญหาการทุจริต 2. ปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างเป็นธรรม 3. ทบทวนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเน้นให้มีการจัดเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้สูงมากขึ้น และดึงผู้มีรายได้เข้ามาในระบบมากขึ้น 4. ส่งเสริมการค้าชายแดน ผ่านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5. ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น 6. ทบทวนกองทุนนอกงบประมาณต่าง ๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสตรี โดยหากเป็นกองทุนที่ไม่เป็นประโยชน์ก็พร้อมที่จะทบทวน 7. ส่งเสริมให้มีการดูแลเกษตรกรชาวนาอย่างเป็นระบบ
 
นโยบายเร่งด่วนของ คสช. ที่ให้เริ่มกระบวนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และเร่งรัดจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ให้แล้วเสร็จในก่อนเดือนก.ย.นี้ ทางนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้ออกมารับลูกสานต่อทันที
 
ในส่วนของการจัดงบประมาณ ประจำปี 2558 นั้น สำนักงบประมาณ ได้เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ให้ คสช.พิจารณา เพื่อให้การจัดทำเสร็จเรียบร้อยทันตามกำหนดเวลาที่จะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 22 ก.ย. 2557 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2557  โดยกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณปี 2558 อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีงบประมาณ 2557 และจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลจำนวน 2 แสนล้านบาท มีสัดส่วนงบประมาณลงทุนอยู่ที่ 17.5% ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2557 โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ ได้แก่ สภาพัฒน์, กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 30 พ.ค. 2557
 
การจัดทำงบประมาณ ประจำปี 2558 จะยังคงยึดเป้าหมายจัดทำงบประมาณสมดุล ภายในปี 2560 โดยงบประมาณปี 2558 จะขาดดุลน้อยกว่าปีงบประมาณปัจจุบันที่ขาดดุลอยู่ที่ 250,000 ล้านบาท หรือมีวงเงินงบประมาณทั้งหมด 2.525 ล้านล้านบาท มีรายได้ 2.275 ล้านล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกู้
 
สำหรับการล้างท่อเงินงบประมาณประจำปี 2557 ที่ยังคั่งค้างอยู่นั้น นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเบิกงบประมาณปี 2557 ณ วันที่ 16 พ.ค. มียอดเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 1.33 ล้านล้านบาท จากยอดทั้งหมด 2.096 ล้านล้านบาท รายจ่ายงบลงทุนเบิกจ่ายไปแล้ว 181,940 ล้านบาท จากยอดทั้งหมด 428,386 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 9 จึงน่าเป็นห่วงมาก เพราะหลายโครงการแม้จะได้ผู้รับเหมาแล้ว แต่ยังไม่กล้าลงนามสัญญา เพราะไม่มั่นใจการตัดสินใจของ ครม.รักษาการ
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความชัดเจนแล้ว การบริหารงานโดย คสช. สามารถตัดสินใจการลงทุนได้ ดังนั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังให้มีเงินลงทุนออกสู่ระบบเร็วขึ้น สำนักงบประมาณจึงเตรียมเชิญส่วนราชการประชุม เพื่อหารือแผนการลงทุนใน 20 โครงการหลักที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท หากเป็นโครงการที่จำเป็นเร่งด่วน คสช.ให้นโยบายมาแล้วว่าให้เสนอขึ้นไปเพื่อพิจารณาเดินหน้าการลงทุนได้ ส่วนโครงการลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนมากที่ยังไม่ได้ลงทุนต้องมาพิจารณาดูว่าจะเดินหน้าลงทุนอย่างไร ซึ่งต้องเสนอให้ คสช.พิจารณาเช่นกัน
 
ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อมั่นว่า เมื่อ คสช.ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจออกมาแล้ว มีการเดินหน้าโครงการลงทุนภาครัฐ การออกธรรมนูญการปกครอง การตั้งรัฐบาล และสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูป จะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่น มองเห็นว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารหลังจากได้แก้ไขในหลายเรื่องแล้ว เมื่อเงินงบประมาณออกได้ตามปกติ คาดว่าเศรษฐกิจปี 2558 จะขยายตัวได้สูงกว่าปี 2557 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5
 
ส่วนนโยบายเร่งด่วนของ คสช. ที่ให้เริ่มกระบวนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า ในงบประมาณประจำปี 2558 จะมีเรื่องของโครงการรถไฟรางคู่ ในหมวดการลงทุนโลจิสติกส์ รวมถึงโครงการป้องกันน้ำท่วม ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง สำนักงบประมาณ อาจจะยังไม่ใส่ไว้ในโครงการการลงทุน
 
การกล่าวถึงโครงการลงทุนโดยเฉพาะโครงการป้องกันน้ำท่วมของผู้อำนวยการสำนักงาน ประมาณ ทำให้มีกระแสเสียงห่วงกังวลจากสังคม เพราะโครงการดังกล่าวมีข้อบกพร่องในกระบวนการพิจารณาโครงการ และศาลปกครองได้ให้ชะลอโครงการออกไปจนกว่าจะมีกระบวนการดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมายโดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน
 
อย่างไรก็ตาม คสช. มีความชัดเจนในนโยบายการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้เกิดความต่อเนื่อง โดยพล อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยหลังประชุมรับทราบนโยบายผู้บริหารหน่วยงานข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ว่า จะนำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ทั้งระบบน้ำ ราง ถนน อากาศ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งอยู่ในโครงการ 2 ล้านล้านบาท นำไปเสนอให้ประธานคณะที่ปรึกษาคสช. เพื่อทบทวนจัดทำแผนแม่บทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์
 
  พล.อ.อ.ประจิน ยืนยันว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานทุกด้าน คสช.จะให้ความสำคัญและเดินหน้าต่อในทุกระบบ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันได้ โดยโครงการไหนหากทำก่อนก็จะเริ่มก่อน เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ แต่ต้องมาดูรายละเอียด ข้อขัดข้องว่ามีอุปสรรคใดบ้าง เช่น งบประมาณ กระบวนการพิจารณา กฎหมาย ที่ดิน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเข้าไปดูว่าตรงไหนต้องปรับปรุง ถ้าโครงการไหนพร้อมก็จะเดินหน้าได้ทันทีเพื่อให้ระบบคมนาคมเดินหน้าได้สมบูรณ์
 
สำหรับโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิให้รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน และสนามบินดอนเมืองเป็น 30 ล้านคน คาดว่าจะเดินหน้าต่อได้ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการที่ให้ความสนใจโดยพิจารณาว่าเส้นทางใดทั้งกรุงเทพ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อดูว่าโครงการใดขัดข้องบ้าง ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาและน่าจะดำเนินการต่อได้หากสามารถแก้ไขอุปสรรคด้านต่างๆ
 
ไม่เฉพาะแต่เร่งรัดจัดทำงบประมาณและการลงทุนซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือโครงการเมกะโปรเจ็กต์ภายใต้เงินกู้ 2 ล้านล้านเท่านั้น คสช.ยังลงรายละเอียดทุกเม็ด โดยในส่วนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่ รมว.คลัง เปิดเผยว่า พล.อ.อ.ประจิน สั่งการให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับเปลี่ยนคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมากรรมการของรัฐวิสาหกิจบางรายเข้ามาเป็นกรรมการด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง
 
เรื่องนี้ พล.อ.ประจิน สั่งการให้กระทรวงการคลัง จัดทำรายละเอียดคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจทั้งหมดทุกแห่งให้ คสช. โดยให้ระบุด้วยว่า กรรมการแต่ละคนเป็นใคร ถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลไหน หรือใครเป็นผู้แต่งตั้งเข้าไปเป็นกรรมการ ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้ส่งรายละเอียดทั้งหมดให้กับ คสช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในวันที่ 31 พ.ค. พล.อ.ประจิน ได้เรียกผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมประชุมหารือด้วย
   
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นเรื่องการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งมีเสียงเรียกร้องจากสังคมเซ็งแซ่เพราะเดือดร้อนถ้วนหน้าจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นเป็นลูกโซ่จากราคาพลังงานแพงนั้น ทางคสช.ยังไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาแต่อย่างใด มีแต่กระแสข่าวปล่อยในโซเชียลมีเดียว่า คสช.จะลดราคาน้ำมันให้ถูกลงเท่านั้นและกระแสข่าวนี้ก็แผ่วหายไปกับสายลม

แต่ที่แน่ๆ คือ การเตรียมเสนอโครงการเร่งด่วนของกระทรวงพลังงานต่อคสช. ซึ่งเรื่องนี้ นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานแห่งชาติ (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้หารือในโครงการเร่งด่วนที่ต้องขออนุมัติ เพื่อให้นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำเสนอต่อคสช. ประกอบด้วย โครงการเร่งด่วนที่จะเสนอ คือ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะโรงทดแทนหน่วยที่ 4-7 กำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ และโครงการก่อสร้างสายส่งขนาด 500 kV จากภาคกลางสู่ภาคใต้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังจากทั้งสองโครงการยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีทำให้ล่าช้ากว่ากำหนดที่ตั้งเป้าไว้
 
ส่วนโครงการเร่งด่วนลำดับรองลงมาจะนำเสนอในครั้งต่อไป คือการขออนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ และการปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซแอลพีจีในทุกภาคการใช้ให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม

การโชว์ผลงานชิ้นโบแดงใช้หนี้จำนำข้าวให้ชาวนาทำให้คสช.ได้รับปรบมือกราวใหญ่ก็ใช่อยู่ แต่สำหรับการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนด้วยการสานต่อเมกะโปรเจ็กต์ และเงินกู้ 2 ล้านล้าน มรดกบาปจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น ไม่แน่ว่า คสช.จะได้รับดอกไม้หรือก้อนอิฐ
 

กำลังโหลดความคิดเห็น