xs
xsm
sm
md
lg

ขานรับ “คสช.” ตรึงดีเซล-ลด LPG ครัวเรือน หนุนปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มปฏิรูปพลังงานเห็นพ้อง คสช.ตรึงราคาดีเซล และลดขึ้นก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนลงอยู่ที่ 22.63 บาท/กก. เพื่อเร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบอย่างจริงจัง โดยอาจต้องใช้เวลานานกว่า 1-2 เดือน แต่ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนอิงประโยชน์ระยะยาว

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหนึ่งในกลุ่มปฏิรูปพลังงาน เปิดเผยกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท และสั่งลดราคาก๊าซแอลพีจีสำหรับภาคครัวเรือนลง 50 สตางค์/กก. มาอยู่ที่ 22.63 บาท/กก. อิงราคาเดือน พ.ค. 57 ว่าเป็นโอกาสดีที่ คสช.จะปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบอย่างจริงจัง ทั้งน้ำมัน ก๊าซแอลพีจี และอื่นๆ โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ซึ่งทางกลุ่มปฏิรูปพลังงานเห็นว่าโครงสร้างราคาพลังงานในปัจจุบันมีการบิดเบือน อาทิ เบนซิน 95 ควรปรับลดราคาลงมา และจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

โดยยอมรับว่าการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบไม่อาจทำเสร็จได้ภายใน 1-2 เดือน แต่อย่างน้อยให้มีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์ประเทศชาติในระยะยาว ซึ่งการปรับโครงสร้างราคาพลังงานต้องใช้เวลาและจังหวะที่เหมาะสมด้วย ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังใช้เวลา 2-3 ปีในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน

“ในส่วนของแอลพีจีจะปรับราคาเป็นเท่าไหร่นั้นคงต้องมาศึกษาทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมา กำหนดราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบหรือราคาก๊าซธรรมชาติปรับมาแล้ว 40% ขณะที่ราคาแอลพีจีตลาดโลก 816 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดังนั้นราคาแอลพีจีต้องดูให้เหมาะสมเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เช่นเดียวกับดีเซลที่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้อยมากจากเดิมที่เคยจัดเก็บ 5.30 บาท/ลิตร จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ที่มีการเสียภาษีมากกว่า”

นายปิยสวัสดิ์กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปพลังงานทดแทนว่า นอกจากจะยุบคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง รง.4 แล้ว คสช.ควรกำหนดให้โรงไฟฟ้าอยู่ในโรงงานจำพวกที่ 1 ไม่ต้องขอ รง.4 ขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเท่านั้น และการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟทอป) ไม่ควรจัดอยู่ในกลุ่มโรงงาน โดยให้มีการแก้นิยาม พ.ร.บ.โรงงาน เพื่อไม่ให้มีนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ในเรื่องนี้ และโครงการโซลาร์รูฟท็อปมีการติดตั้งเพิ่มขึ้น

รวมทั้งสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ประชาชนที่ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น ก็จะลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า

นายปิยสวัสด์กล่าวถึงข้อเสนอปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทฯ หรือรัฐวิสากิจที่รัฐถือหุ้นอยู่ว่า ทางกลุ่มปฏิรูปพลังงานมีข้อเสนอชัดเจนว่า การแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นกรรมการในบริษัทมหาชน และรัฐวิสาหกิจ โดยอยากให้บังคับใช้ในทุกรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะพลังงาน ทั้งการบินไทย การไฟฟ้า และ ทอท.เป็นต้น โดยคำนึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยบุคคลที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล ไม่ควรเป็นกรรมการในบริษัทมหาชนที่เกี่ยวข้อง

โดยรัฐควรแยกการกำหนดนโยบายออกจากการกำกับดูแล การตั้งคนเข้าเป็นกรรมการต้องมีความโปร่งใส อิงมาตรฐานสากลของโลก โดยรัฐบาลที่แล้วตั้งคนใกล้ชิดเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะดำเนินการปรับเปลี่ยนคนที่เป็นกรรมการโดยยึดกติกามาตรฐานสากล เช่น อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน มีหน้าที่ให้ใบอนุญาตปั๊มน้ำมัน คลังน้ำมัน ไม่ควรเป็นกรรมการใน บมจ.ปตท., อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ให้ใบอนุญาตสัมปทานปิโตรเลียม ก็ไม่ควรเป็นกรรมการใน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และปลัดกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ควรเป็นกรรมการ บมจ.ปตท. เป็นต้น และควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับกระทรวงอื่นๆ ด้วย เช่น ปลัดกระทรวงคมนาคมไม่ควรเป็นกรรมการใน บมจ.การบินไทย เป็นต้น

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในกลุ่มปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า การที่ คสช.สั่งลดราคาแอลพีจี และตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร เชื่อว่าเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาค่าครองชีพ มองว่าไม่เสียหายอะไร ความเห็นส่วนตัวเห็นว่าควรทำระยะสั้นไม่เกิน 1-2 เดือน และเร่งศึกษาปรับโครงสร้างพลังงานให้สะท้อนต้นทุนโดยเร็ว โดยในส่วนของดีเซลนั้นหากปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตก็ควจะปรับขึ้น 2-3 บาท/ลิตรก็เพียงพอ เพราะยังหากอุดหนุนทั้งแอลพีจี ดีเซล และเอ็นจีวีต่อไปจะไม่ส่งผลดีต่อประเทศ

ที่ผ่านมารัฐสูญเสียรายได้จากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ปีละ 1 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้น 3 แสนล้านบาท และการอุดหนุนราคาแอลพีจีนำเข้าทำให้ต้องเสียเงินกองทุนน้ำมันเพื่ออุดหนุนส่วนต่างราคาไปแล้ว 2 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับความเสียหายจากการจำนำข้าวรัฐบาลที่แล้ว 5 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น