xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” จี้ปฏิรูปพลังงาน บี้ ปตท.ขายหุ้นบางจาก-แยกท่อก๊าซฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปิยสวัสดิ์” จี้เร่งปฏิรูปพลังงาน หลังปริมาณสำรองปิโตรเลียมในอ่าวไทยลดน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้ไทยต้องสูญเงินนำเข้าพลังงานปีละ1 ล้านล้านบาท โดยเสนอให้เร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนแท้จริง และแข่งขันสมบูรณ์ รวมทั้งสกัดนักการเมืองเข้ามาสูบเลือดรัฐวิสาหกิจ พร้อมทั้งจี้ ปตท.แยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ออกมา และขายหุ้นโรงกลั่นบางจากฯ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ด้าน ปตท.เผยเตรียมแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ เปิดทางบุคคลที่ 3 เข้ามาใช้ได้ รวมทั้งไม่ยึดติดถือหุ้นโรงกลั่นบางจากฯ แต่ขอให้รัฐมีนโยบายที่ชัดเจนออกมา

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาเรื่องพลังงานไทย ปฏิรูปอย่างไรให้ถูกทาง จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ วันนี้ (7 พ.ค.) ว่า ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าพลังงานสุทธิปีละ 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องเร่งให้เกิดการปฏิรูปพลังงานขึ้น เนื่องจากปริมาณสำรองปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีจำกัด ซึ่งนับวันจะลดน้อยถอยลง ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงกว่าราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทยมาก ส่งผลให้ค่าไฟปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องนับจากนี้ไปหากไม่สามารถปรับโครงสร้างพลังงานได้

ที่ผ่านมาราคาขายเอ็นจีวีอยู่ที่ 10.50 บาท/กก. ต่ำกว่าราคาเนื้อก๊าซฯ ที่ได้จากแหล่งก๊าซฯ โดยไม่รวมค่าท่อฯ ทำให้รถยนต์หันมาใช้เอ็นจีวีกันมากขึ้น เช่นเดียวกับก๊าซแอลพีจี โดยให้กลุ่มผู้ใช้เบนซิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้เบนซิน 95 เป็นผู้อุดหนุนมาก ซึ่งไม่ยุติธรรม จำเป็นต้องมีการปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน และไม่เอาใจประชาชนระยะสั้นแต่สร้างความเสียหายแก่ประเทศในระยะยาว

นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อไปว่า การปฏิรูปพลังงานที่ต้องเร่งดำเนินการ มีดังนี้ คือ 1. การปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ทุกภาคส่วน 2. ราคาพลังงานจะต้องสะท้อนการแข่งขันสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจน้ำมันสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่ามีการฮั้วราคาหรือไม่ เนื่องจาก ปตท.มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น จึงอยากเห็นการแข่งขันที่แท้จริง และทำอย่างไรที่ ปตท.จะลดส่วนแบ่งการถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันลง เช่น โรงกลั่นบางจากที่ถือหุ้นอยู่ 27.22% โรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียมฯ ถืออยู่ 36% เป็นต้น

3. ให้รัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น ปตท. การบินไทย และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่วนท่อก๊าซฯ ควรแยกออกมาเป็นบริษัทออกจาก ปตท. โดยเบื้องต้น ปตท.ถือหุ้น 100% หลังจากนั้นให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และลดการผูกขาด 4. เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง ควรแยกการกำกับนโยบายออกจากการกำกับดูแล โดยกระทรวงพลังงานไม่ควรส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจพลังงาน ซึ่งกระทรวงอื่นก็ควรทำเช่นเดียวกัน เช่นการส่งปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นกรรมการในการบินไทย เป็นต้น หากมีการตั้งข้าราชการเข้ามาเป็นกรรมการ ก็ควรพิจารณาผลตอบแทนที่จะได้รับจากการเป็นกรรมการบริษัทฯนั้นๆ ไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากรับเงินเดือนราชการอยู่แล้ว โดยส่วนเกินให้ส่งคืนคลังเพื่อแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และการลำเอียง และเพิ่มความเข้มข้นในการตั้งกรรมการ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ อันจะทำให้การเมืองครอบงำได้ยากขึ้น และ 5. การอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อไป

“การนำรัฐวิสาหกิจออกห่างจากการเมืองเป็นเรื่องที่ดีที่สุด มองว่าการทวงคืนกลับมาเป็นของรัฐเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่จะถูกการเมืองแทรกแซงและแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้องค์กรอ่อนแอ ซึ่งการแทรกแซงจากภายนอกทั้งกลุ่มผลประโยชน์และการเมืองที่เข้าไปล้วงลูกรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งการแสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องการให้ใบอนุญาต รง.4 เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่ควรเร่งแก้ไข”

นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานยังไม่สามารถเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ที่ 21 ได้ หลังจากมีการถกเถียงเรื่องรูปแบบการจัดเก็บรายได้จากการให้สัมปทาน ทำให้ปริมาณสำรองพลังงานที่พิสูจน์แล้วลดลงต่อเนื่อง หากไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องนี้ได้โดยเร็วเชื่อว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากมีแปลงสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่งของ ปตท.สผ.และเชฟรอนที่จะสิ้นสุดอายุลง จำเป็นต้องหาข้อสรุปให้ได้เพื่อให้เอกชนสามารถวางแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวได้ โดยเห็นว่าระบบดังกล่าวที่ใช้อยู่ก็ดีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ รัฐต่องเร่งตั้งกรรรมการร่วมจากตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงานและรัฐสภา เพื่อเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว มิฉะนั้นไทยต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งดึงพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมที่แต่ละปีมีการผลิตน้ำมันดิบแค่ 1 พันบาร์เรล/วันมานานหลายปี เข้ามาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อให้มืออาชีพเข้ามาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าว

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตนได้รับตำแหน่งใหม่เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับมอบนโยบายในการดำเนินการแยกท่อก๊าซฯ ออกจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาการขาดทุนจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) การดูแลธุรกิจไฟฟ้า โดยนำบริษัท จีพีเอสซี จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมไปถึงสร้างความยั่งยืนธุรกิจวิศวกรรม ความปลอดภัย รวมถึงแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งธุรกิจถ่านหิน และธุรกิจไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้ ปตท.สามารถใช้ทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยเห็นว่าถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในการผลิตไฟฟ้า เพราะไม่สามารถพึ่งพาก๊าซฯ ได้อีก พบว่าทุกครั้งที่มีการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ จะมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าขาดเกิดขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะทบทวนนโยบายการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้เกิดสมดุล ส่วนการลดการถือหุ้นในโรงกลั่นบางจากฯ ลงนั้นคงต้องรอนโยบายรัฐที่ชัดเจนว่าจะให้ ปตท.ลดการถือหุ้นลง โดยยอมรับว่า ปตท.เองก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรหากขายหุ้นบางจากออกไป แต่ควรได้ราคาที่เหมาะสม เช่นเดียวกับนโยบายการขายหุ้นโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมฯ ซึ่ง ปตท.ก็พร้อมแต่รอจังหวะตลาดที่ดี

สำหรับมูลค่าท่อก๊าซฯ ทั้ง 4 เส้นอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท ถูกแยกออกมาอยู่ในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน นับจากนี้ก็คงต้องวางกติกาให้ชัดเจนในการเปิดให้บุคคลที่สาม (Thrid Party) ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยพบว่ามีท่อก๊าซฯ บางเส้นที่ไม่ค่อยได้ใช้ แต่ก็มีบางเส้นที่อาจใช้เกินความสามารถของท่อฯ ได้ ส่วนรูปแบบว่าจะแยกเป็นบริษัทออกจาก ปตท.หรือจะตั้งกองทุนฯ ขึ้นมานั้นคงต้องพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าภายในปีนี้จะมีความชัดเจนขึ้น ส่วนปัญหาการขาดทุนจากธุรกิจเอ็นจีวีปีละ 2 หมื่นล้านบาทก็คงต้องมาพิจารณาว่ากลุ่มบุคคลใดบ้างควรได้รับสิทธิการอุดหนุนการใช้ในราคาถูก ไม่ใช่ทุกคน และเห็นว่ารถบรรทุกอาจไม่เหมาะที่จะใช้เอ็นจีวี ก็คงต้องหารือกันว่าจะปรับไปใช้ LNG แทนดีหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น