“ครม.” เห็นชอบขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลออกไปอีก 1 เดือน สิ้นสุด 28 ก.พ.นี้ตามความเห็นชอบของ กกต.ที่ให้การพิจารณาต่ออายุมาตรการดังกล่าวให้เป็นเดือนต่อเดือน จับตาน้ำมันโลกเริ่มดิ่ง มีลุ้นช่วงปลายสัปดาห์ราคาเบนซิน-โซฮอล์อาจลดลงได้
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 57 ที่ประชุมได้มีมติให้ขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลออกไปอีก 1 เดือน โดยให้สิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. 57 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ที่ก่อนหน้านี้ที่ให้อนุมัติเดือนต่อเดือนแทนจากเดิมที่ ครม.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบให้ขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลออกไปอีก 3 เดือนจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 57 แล้วก็ตาม
“ทั้งนี้ เดิมการต่ออายุมาตรการภาษีฯ ดีเซลจะเสนอ ครม.ให้ดำเนินการเดือนต่อเดือน แต่ต่อมามีการยุบสภา ทาง ครม.จึงจำเป็นต้องยื่นให้ กกต.เป็นผู้พิจารณาเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน เนื่องจากหากไม่ต่ออายุฯ จะทำให้ราคาดีเซลต้องปรับขึ้นทันทีตามกรอบเดิมที่ลดลงไปคือ 5.30 บาทต่อลิตร ซึ่ง ครม.ก่อนหน้าได้เสนอให้ยืดเวลาไป 3 เดือนแต่ กกต.ให้ต่ออายุเดือนต่อเดือนแทน โดยล่าสุด กกต.ได้ขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลตั้งแต่วันที่ 1-28 ก.พ. 57” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ภาษีฯ ดีเซลหากที่สุดนโยบายการเมืองจะยกเลิกขยายเวลาก็จะต้องปรับราคาขึ้น ซึ่งก็จะมี 3 แนวทาง คือ 1. ปรับขึ้น 1.70 บาทต่อลิตรตามกรอบของกรมสรรพสามิตที่ได้ตั้งงบประมาณไว้ปีนี้ 2. ปรับขึ้นตามกรอบเดิมที่ลดลงคือ 5.30 บาทต่อลิตร และ 3. ปรับขึ้นตามเพดานสูงสุดที่เคยกำหนดไว้ 10 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ภาษีสรรพสามิตดีเซลนั้นเชื่อว่าจะเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหนเข้ามาแม้แต่คณะปฏิรูปประเทศเองก็คงไม่กล้าจะไปแตะเนื่องจากราคาน้ำมันได้ถูกนำมาเป็นประเด็นหาเสียงและเกี่ยวโยงกับการเมืองไปแล้ว
สำหรับทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกขณะนี้เริ่มปรับลดลงในภาพรวม เนื่องจากสภาพอากาศที่เคยหนาวเย็นจัดเริ่มบรรเทาลงทำให้การใช้น้ำมันลดต่ำลง ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดมีแนวโน้มจะไม่ต่อมาตรการคิวอี ซึ่งหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงปรับลดต่อเนื่องอีก 1-2 วัน เชื่อว่าปลายสัปดาห์โอกาสราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินจะลดลงก็มีสูงเนื่องจากขณะนี้ค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 1.60 บาทต่อลิตร