xs
xsm
sm
md
lg

“ทนุศักดิ์” ตำหนิ “พลังงาน” ไร้ฝีมือ แนะลดพึ่งพากองทุนน้ำมันฯ พยุงราคาดีเซล 30 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย
“ทนุศักดิ์” ตำหนิ “พลังงาน” ไร้ฝีมือในการทำงาน แนะลดพึ่งพากองทุนน้ำมันฯ พยุงราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ยอมรับรัฐยอมหั่นภาษียาวนานถึง 2 ปี ทำสูญรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพสามิต กล่าวถึงกรณีการเรียกคืนภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1.50 บาทต่อลิตร ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้มีการลดภาษีดังกล่าวมานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยยอมรับว่าคงไม่สามารถดำเนินการได้ในปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันผันผวนจากความกังวลในเรื่องของซีเรีย

“เดิมทีช่วงที่จะจัดทำงบประมาณ 2557 นั้น ได้เคยหารือกับกระทรวงพลังงานว่า การจัดเก็บเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะนั้น ซึ่งอยู่ในระดับ 3.40 บาทต่อลิตร ควรต้องแบ่งมาเป็นภาษีดีเซลส่วนหนึ่ง เพราะกระทรวงการคลัง ลดภาษีดังกล่าวมานานกว่า 2 ปีแล้ว และกองทุนน้ำมันเริ่มมีสถานะที่ดีขึ้น แต่เมื่อราคาน้ำมันยังผันผวนทำให้การเรียกคืนภาษีดีเซลต้องชะลอไป และต้องต่ออายุการลดภาษีเดือนต่อเดือนจนกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันดีขึ้น”

นอกจากนี้ หลักการในการจัดเก็บภาษีน้ำมันจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน จังหวะของการจัดเก็บคือ ช่วงที่ราคาน้ำมันปรับลดลง ในเมื่อราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการจัดเก็บภาษีออกไปก่อน ยิ่งปลายปีน้ำมันยิ่งแพง เพราะความต้องการใช้มีมากขึ้น ดังนั้น มีแนวโน้มว่าจังหวะที่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีอีกครั้งคือ ในช่วงกลางปีหน้า 2557 ที่ปกติน้ำมันจะถูกสุดในรอบปี

ทั้งนี้ อยากให้กระทรวงพลังงาน ทำงานมากขึ้น และใช้ฝีมือในการบริหารจัดการราคาน้ำมันให้มากกว่านี้ ไม่ใช่คอยแต่จะพึ่งพากลไกจากกองทุนน้ำมันในการจัดการไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงเกิน 30 บาทต่อลิตร เพราะกระทรวงการคลัง ช่วยในเรื่องภาษีมานานกว่า 2 ปี สูญเงินไปกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้น ต้องพิจารณาคืนภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้กระทรวงการคลังบ้างแล้ว

โดยก่อนหน้านี้ กรมสรรพสามิตเสนอให้เก็บคืนภาษีน้ำมันดีเซล 1.50 บาทต่อลิตร จะทำให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 1.5-2.0 พันล้านบาท หรือปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 0.005 บาทต่อลิตร ลดลงจากเดิมที่เคยเก็บ 5.31 บาทต่อลิตร ซึ่งการลดภาษีดีเซลให้รัฐต้องสูญเสียรายได้เดือนละกว่า 9 พันล้านบาท หรือปีละกว่า 1 แสนล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น