“ทนุศักดิ์” เผย “สรรพสามิต” เตรียมกลับมาเก็บภาษีดีเซล 1.50 บาท/ลิตร คาดดีเดย์ ต.ค.นี้ เมิน “เพ้ง” อ้อน ครม. ลดการจัดเก็บ พร้อมยอมรับอุ้มดีเซลทำรายได้สูญปีละแสนล้าน “เบญจา” คึกเก้าอี้ใหม่ สั่ง “สรรพากร” เข้มรีดภาษีปี 56 ตามเป้า 1.77 ล้านล้าน แม้ช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีอาจส่อแววไม่ค่อยดี พร้อมสั่งติดตามการเสียภาษีของบริษัทใหญ่ หวังอุดรายได้ที่เสียจากนโยบายหั่นภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ของรัฐบาล
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรางการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง จะกลับมาเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.50 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 หรือ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2556 เป็นต้นไป หลังจากมีการลดจาก 5.31 บาทต่อลิตร เหลือ 0.005 บาทต่อลิตร มาเป็นเวลานานหลายปี
“การเก็บเงินภาษีดีเซล และการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็เหมือนเงินกระเป๋าเดียวกัน กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตก็ต้องทำหน้าที่ จึงไม่สามารถทำได้ตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน”
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต ได้รายงานข้อมูลให้ นายทนุศักดิ์ โดยมั่นใจว่า หากมีการขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล 1.50 บาทต่อลิตร จะทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มเดือนละ 1.5-1.7 พันล้านบาท และหากปรับขึ้นไปเก็บในอัตราเดิมที่ 5.31 บาทต่อลิตร จะทำให้เก็บภาษีได้ 9 พันล้านบาทต่อเดือน โดยการลดภาษีน้ำมันดีเซลที่ผ่านมา ทำให้สูญเงินภาษีไปกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ค่าเงินบาทที่อ่อนลงมาก ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศสูงขึ้น จึงยังต้องการให้กรมสรรพสามิตเลื่อนการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นออกไปก่อน แต่กระทรวงการคลังยืนยันว่า จะเก็บตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนปีงบประมาณ 2557
นางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพากร และกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับ นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ถึงนโยบายการทำงานแล้ว ยอมรับว่าการจัดเก็บภาษีในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีงบ 2556 มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าเป้าหมาย และคงต้องติดตามในเดือน ส.ค. ที่เป็นช่วงของการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลช่วงครึ่งปีแรกของ 2556 ที่มีการปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% โดยในการปรับลดภาษีนิติบุคคลในช่วงที่ผ่านมา กระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรค่อนข้างมาก แม้ว่ากรมฯ จะนำผลกระทบตรงนี้ไปประเมินในประมาณการการจัดเก็บภาษีแล้วแต่การจัดเก็บจริงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมายังลดต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ ยังสั่งการให้ทีมที่ดูแลการจัดเก็บภาษีรายใหญ่ (แอลทีโอ) ไปสอบถามแต่ละบริษัทว่าจะมียอดเสียภาษีเท่าใด เนื่องจากแต่ละบริษัทนั้นได้ทำบัญชีเป็นรายเดือนต้องทราบข้อมูลของบริษัทตัวอย่างดีแล้วว่าจะเสียภาษีในรอบครึ่งปีเท่าใด เพื่อนำมาประเมินแนวโน้มการจัดเก็บในปีงบ 2556 ว่าเป็นไปตามหมายของกรมฯ ที่วางไว้ 1.77 ล้านล้านบาท หรือไม่
ส่วนการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ยืนยันว่า จะเร่งผลักดันให้ทันกับที่รัฐบาลรับปากไว้ว่าจะให้มีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2556 ที่ต้องยื่นแบบแสดงภาษีในเดือน ม.ค.-มี.ค.2557 หากแก้กฎหมายไม่ทัน ก็สามารถออกเป็นกฎกระทรวง หรือใช้เป็นพระราชกฤษฎีกา แล้วค่อยมาแก้เป็น พ.ร.บ.เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ถาวร ในลักษณะเดียวกับการลดภาษีนิติบุคคล
“สำหรับการลงทุนระบบไอทีกรมสรรพากรมูลค่า 2 พันล้านบาทที่กรมฯ มีแผนไว้ ได้ให้ข้อสังเกตไปว่า การลงทุนดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อเอสเอ็มอี หากออกมาแล้วมีผลกระทบอาจต้องชะลอการใช้กฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีการออกระเบียบแล้วกระทบต่อผู้ประกอบการต้องชะลอการประกาศใช้ และจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ โดยได้ให้ข้อสังเกตไปว่าถ้าใช้ประสิทธิภาพ และคนของกรมฯ ในการดำเนินการแทนจะได้หรือไม่”
นางเบญจา กล่าวอีกว่า ในส่วนการโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ส่งออกนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบทั้งของกระทรวงการคลัง และของกรมสรรพากร หากมีข้อสรุปว่ามีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอีกรอบหนึ่ง โดยเรื่องนี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ ตนในฐานะที่ดูแลกรมภาษี 2 แห่ง จะพยายามดูว่ามีจุดไหนที่เกิดช่องโหว่ทำให้เกิดการทุจริตหรือไม่