“สรรพากร” จับมือ “ตร.เศรษฐกิจ” รวบแก๊งออกใบกำกับภาษีปลอม มูลค่าสินค้าเกือบ 3 พันล้าน คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 207 ล้านบาท และนิติบุคคล 900 ล้านบาท ถือเป็นรายใหญ่สุดในรอบ 2 ปี แฉทำเป็นขบวนการ-สร้างความเสียหายให้รัฐ ระบุกลุ่มธุรกิจที่ชอบใช้บริการยังเป็นหน้าเดิม ทั้งก่อสร้าง และอสังหาฯ
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร และ พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุม นายพิสิษฐ์ ประจักษ์ชัยกุล พร้อมของกลางใบกำกับภาษีปลอม เป็นมูลค่าสินค้ารวม 2,965 ล้านบาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ประมาณ 207 ล้านบาท คิดเป็นภาษีนิติบุคคล 900 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการจับกุมล็อตใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี
สำหรับการจับกุมผู้ต้องหาออกใบกำกับภาษีปลอมครั้งนี้ หลังจากมีพลเมืองดีแจ้งเบาะแสว่า พบกลุ่มบุคคล และนิติบุคคลมีพฤติการณ์กระทำความผิดด้วยการออกใบกำกับภาษีโดยไม่ได้มีการซื้อขายสินค้าจริง ถือเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการกระทำร่วมกันเป็นขบวนการ สร้างความเสียหายให้แก่รัฐ จึงร่วมกันดำเนินการสืบสวนสอบสวน และติดต่อล่อซื้อใบกำกับภาษีจากผู้ต้องหาดังกล่าว รวมทั้งตรวจค้นพื้นที่สงสัย 10 จุด จนสามารถจับกุมตัวได้
นอกจากนี้ จะมีการขยายผลไปยังผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม โดยเจ้าหน้าที่สามารถสืบค้นจากเอกสาร และข้อมูลไอทีที่จับกุมได้ ซึ่งกลุ่มที่ซื้อใบกำกับภาษีปลอมยังเป็นกลุ่มธุรกิจเดิมๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ผู้ที่กระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา โดยในเดือนพฤษภาคมได้ส่งผู้กระทำผิดในเรื่องปลอมใบกำกับภาษีให้ตำรวจไปแล้วไม่น้อยกว่า 50 ราย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังเฝ้าติดตามพฤติกรรมอีกหลายกลุ่มที่เข้าข่าย
นายสาธิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี 2 ปี (2557-2558) กรมสรรพากรจะให้ความสำคัญกับเรื่องการปราบปรามการทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบกำกับภาษีปลอม หรือการขายใบกำกับภาษีโดยไม่มีการประกอบการจริง ซึ่งมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา โดยเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้นำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี เป็นความผิดตามมาตรา 90/4(7) แห่งประมวลรัษฎากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
พ.ต.อ.ชัยณรงค์ รอง ผบก.ปอศ. กล่าวว่า ขอเตือนผู้ที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม มีเจตนาฉ้อโกงภาษี ดังนั้น อย่านำไปใช้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอมส่วนใหญ่จะยอมมาจ่ายค่าปรับ 2 เท่าของตัวภาษี
นายสาธิต กล่าวถึงผลการจัดเก็บภาษีสรรพากร ในเดือนพฤษภาคม 2556 ว่า กรมสามารถจัดเก็บภาษีรวมแล้วทั้งสิ้น 291,488 ล้านบาท ลดลงจากที่ประมาณการเอาไว้ 13,020 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.28% แต่ยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 13,775 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.96% โดยได้รับผลกระทบมาจากการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% โดยภาษีนิติบุคคลต่ำกว่าประมาณการถึง 25,112 ล้านบาท คิดเป็น 18.03% ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีก่อนถึง 7,556 ล้านบาท คิดเป็น 6.21% ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าประมาณการ 4,591 ล้านบาท คิดเป็น 7.56% ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 102 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.18%
สำหรับการจัดเก็บภาษีในช่วง 8 เดือนปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม-พฤษภาคม 2556)จัดเก็บได้ 1.112 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 29,432 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.72% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 127,341 ล้านบาท คิดเป็น 12.92% โดยในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ต่ำกว่าประมาณการ 19,372 ล้านบาท คิดเป็น 6.27% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 21,813 ล้านบาท คิดเป็น 8.15%
ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรเป็นห่วงการจัดเก็บรายได้ภาษีในปีงบประมาณ 2556 เพราะในครี่งปีหลังจะมีผลจากการยื่นภาษีนิติบุคคลที่ลดเหลือ 20% จึงได้มีการกำชับผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วประเทศไม่ให้ประมาทในการจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยให้ตรวจสอบก่อนประเมินภาษี (Preaudit) ให้แน่ชัดว่า ผู้ประกอบการเสียภาษีถูกต้อง โดยตรวจสอบยอดขายจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อโยงกับยอดรายได้การยื่นภาษีนิติบุคคลว่าใกล้เคียงกันหรือไม่ ทั้งให้เร่งดำเนินการระบบไอที โดยเฉพาะระบบเชื่อมโยงตรวจสอบใบกำกับภาษี และเน้นการปราบปรามเพื่อขยายฐานภาษีสู่ผู้ที่ยังอยู่นอกระบบมากขึ้น