xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อหลวงปู่พุทธะอิสระอาสานำทัพหน้าปฏิรูปพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การปฏิรูปพลังงานที่ภาคประชาชนผลักดันให้เกิดขึ้น ได้รับการหนุนเนื่องอย่างสำคัญจากเวที กปปส. แจ้งวัฒนะ ที่มีหลวงปู่พุทธอิสระ เป็นแกนนำปักหลักชุมนุมอย่างไม่หวาดหวั่นแม้จะถูกป่วนมาแล้วหลายรอบ เป็นการผนึกพลังร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คปท.) และ กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ที่นายสุทิน ธราทิน แกนนำที่เอาชีวิตเข้าแลกจากการชุมนุมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปพลังงานครั้งนี้

การเข้าหารือร่วมกันของเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา ที่มีบรรดาแกนนำเครือข่ายฯ เช่น ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา จากมูลนิธิผู้บริโภค และตัวแทนภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องพลังงาน ประมาณ 10 ราย ได้หารือกับหลวงปู่พุทธอิสระ ที่อาคารเรือนไทย เวที กปปส. แจ้งวัฒนะ เพื่อจัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูปพลังงานไทยและพลังงานทดแทน โดยการหารือได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างหลากหลายจากผู้ที่ทำงานติดตามแก้ปัญหาพลังงาน รวมทั้งการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีทั้งที่ใช้ในครัวเรือนและภาคขนส่งคมนาคม

ในการหารือให้ความสนใจอย่างมาก คือประเด็นที่จะเอา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลับมาเป็นกิจการของรัฐ หลังจากที่รัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แปรรูป ปตท. เป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งทำให้บทบาทขององค์กรรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของชาติแห่งนี้เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นองค์กรของรัฐ มีบทบาทหน้าที่ในการตรึงราคาน้ำมันและก๊าซฯ รวมทั้งการเกลี่ยราคาระหว่างกันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงรับมือภาวะขาดแคลน และจัดหาแหล่งพลังงานเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจโดยรวมของชาติและเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน เปลี่ยนไปดำเนินธุรกิจแบบเอกชนที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเป็นเป้าหมายหลัก ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องรับภาระการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมันอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นแลกเปลี่ยนเรื่องการให้สัมปทานปิโตรเลียมที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนแล้วรัฐเรียกเก็บค่าตอบแทนในรูปของค่าภาคหลวงและอื่นๆ ซึ่งส่วนแบ่งรายได้ที่ไทยได้จากสัมปทานปิโตรเลียมต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็น พม่า กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย จึงเสนอให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต คือ รัฐลงทุนทรัพยากร เอกชนลงทุนความรู้ขุดเจาะและเครื่องมือ ได้ผลผลิตเท่าไหร่ก็นำมาแบ่งรายได้กัน ขณะที่ทรัพยากรทั้งใต้ดิน-บนดินยังเป็นของรัฐ โดยเรื่องนี้จะมีการศึกษาเปรียบเทียบระบบบริหารจัดการกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียให้ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางปฏิรูปพลังงานของไทย

ภายหลังใช้เวลาหารือ ประมาณ 1 ชั่วโมง หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การเสนอพิมพ์เขียวปฏิรูปพลังงาน จะนำหลักการประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาเทียบเคียง โดยส่วนหนึ่งจะเสนอแก้ระบบการลงทุนด้านปิโตรเลียม - พลังงาน จากการเก็บค่าสัมปทาน เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ที่จะต้องการเสนอกฎหมายแก้ไขระบบการลงทุน ทั้งนี้จะนัดหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างละเอียดอีกครั้ง

หลังจากการปรึกษาหารือ เครือข่ายปฏิรูปพลังงาน พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา นำโดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อศึกษาการพัฒนาปิโตรเลียม โดยเข้าพบนาย Tan Sri Dato'Seri Megat Najmuddin Khas อดีตประธานปิโตรนาส ปัจจุบันเป็นประธานสถาบันบรรษัทภิบาลมาเลเซีย ( Malaysia Institute of Corporate Governance) ที่อาคารปิโตรนาส เพื่อแลกเปลี่ยนซักถามข้อมูลเกี่ยวกิจการปิโตรเลียมของมาเลเซีย

นางสาวรสนา ได้โฟสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า “ท่านตันศรีได้เล่าให้คณะฟังว่าเมื่อมาเลเซียได้รับอิสระจากระบบอาณานิคมในปี 1957 ระบบจัดการผลประโยชน์ยังคงเป็นระบบสัมปทาน จนเมื่อเกิดวิกฤติน้ำมันแพงในปี 1973 หรือปี 2516 ราคาน้ำมันแพงขึ้น 3 เท่า ทำให้รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง มาเลเซียได้ออกพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (Petroleum Act) และเปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทนระบบสัมปทานที่ใช้มาตั้งต่ยุคที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การขุดเจาะน้ำมันในรัฐซาราวักใช้ระบบสัมปทาน จนเมื่อปี 2516 รัฐบาลได้ส่งคนไปศึกษาต้นแบบกฎหมายปิโตรเลียมจากอินโดนีเซีย และเป็นต้นแบบของกฎหมายปิโตรเลียมของมาเลเซีย

“หลังปี1974 บริษัทปิโตรนัสถือกำเนิดมาพร้อมกับกฎหมายปิโตรเลียมของมาเลเซีย เป็นยุคใหม่ที่เปลี่ยนระบบการจัดการผลประโยชน์ปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ( Production Sharing ) และล่าสุดมีการใช้ระบบจ้างบริการในบางแปลง (Service Contract)

“ดิฉันถามท่านตันศรีว่า ทำไมจึงใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ท่านตอบว่า "เพราะเป็นระบบที่ประเทศเราได้รับผลประโยชน์สูงสุด"

“ดิฉันถามต่อว่าเมืองไทยมีนักวิชาการบอกว่า ระบบแบ่งปันผลผลิตใช้กับเราไม่ได้ เพราะน้ำมันของไทยเป็นกระเปาะเล็กๆ ท่านตันศรีตอบว่า " ประเทศเราก็อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน บางบ่อเราก็ขุดร่วมกัน ไม่น่าเป็นไปได้ที่ไทยจะใช้ระบบนี้ไม่ได้ ที่มาเลเซียเราก็เริ่มจากเล็กๆ ในยามเริ่มต้นเหมือนกัน"

ส.ว.รสนา สรุปความในบรรทัดสุดท้ายว่า “ปัจจุบันระบบแบ่งปันผลประโยชน์ปิโตรเลียมของมาเลเซียนับว่าก้าวหน้าที่สุด”

เป็นที่ชัดเจนขนาดนี้แล้ว ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน นักการเมือง และบรรดานักวิชาการด้านพลังงานที่ขายจิตวิญญาณ ยังจะโกหกหลอกลวงประชาชนคนไทยอย่างหน้าด้านๆ ไปอีกนานเท่าใด

ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เครือข่ายปฏิรูปพลังงานเล่าผ่านเฟซบุ๊ก โดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รายงานราคาน้ำมันที่มาเลเซีย วันที่ 26 ก.พ. 2557 ว่า ราคาเบนซิน 95 ราคาหน้าปั๊ม+บวกภาษี อยู่ที่ลิตรละ 28.49 บาท ดีเซลอยู่ที่ 28.39 บาท แต่รัฐบาลมาเลย์ยังจ่ายเงินอุดหนุนเข้าไปอีก 6.97 บ./ลิตรสำหรับเบนซิน 95 และดีเซลอุดหนุนอีก 7.89 บ./ ลิตร ทำให้ราคาน้ำมันที่หน้าปั้มลดลงไปอีก โดยเบนซิน 95 ขาย 21.52 บ./ลิตร ดีเซลขาย 20.50 บ./ลิตร (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ริงกิต = 10.25 บาท)

“เงินที่นำมาอุดหนุนมาจากรายได้ที่ได้รับจากปิโตรนาสในธุรกิจปิโตรเลียม ไม่ใช่เงินที่เก็บจากประชาชนเข้ากองทุนน้ำมันอย่างบ้านเรา ที่ปั๊มปิโตรนาส มีน้ำส้มและขนมพื้นเมืองแจกฟรีให้ผูใช้บริการอีกด้วย”

นี่ถ้ารัฐบาลไทยและ ปตท. รู้จักให้สมองคิดในเรื่องที่จะให้ประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์ถ้วนหน้าอย่างรัฐบาลมาเลเซียและปิโตรนาส บ้างจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย แทนที่จะมุ่งเอาแต่กำไรปีละเป็นแสนๆ ล้าน แล้วมาอ้างว่าส่วนหนึ่งก็นำส่งเป็นรายได้เข้าคลัง เพื่อนำไปพัฒนาประเทศให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ดีกินดี ถ้าอย่างนั้น ลดราคาน้ำมัน ลดราคาก๊าซฯ โดยตรงเลยดีกว่า ค่าครองชีพประชาชนจะได้ลดลงและจะอยู่ดีกินดีขึ้นทันตา ไม่ใช่ทำพฤติกรรมขูดรีดประชาชนแล้วไปพีอาร์ว่ามีธรรมาภิบาลดีเด่นระดับโลก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2557 น.ส.รสนา กล่าวไว้ในเวทีเสวนา ปฏิรูปพลังงานไทย : ใครได้ใครเสีย? ว่า จากตัวเลขรายได้ของบริษัท ปตท. ปี 2556 มีรายได้ถึง 2.8 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณประจำปี 2555 แต่ในทางปฏิบัติกลับจ่ายค่าภาคหลวงหรือค่าธรรมเนียมสัมปทานน้อยมาก ทำให้เกิดความไม่ธรรม รัฐควรปรับเปลี่ยนระบบสัมปทานมาเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้เกิดประโยชน์.สูงสุด และควรตั้งองค์กรกลางที่ไม่เกี่ยวข้องกับ ปตท.มาตรวจสอบดูแลกระบวนการใช้พลังงานทั้งระบบ

ผลประโยชน์จากการสัมปทานปิโตรเลียมที่ความจริงแล้วไทยได้รับน้อยมาก แต่ที่ผ่านมาประเด็นนี้ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน มักออกมาปกป้องแทนบริษัทรับสัมปทานมาตลอดว่า แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งคุณภาพปิโตรเลียมไม่ดีพอ อ้างตัวเลขผลตอบแทนของรัฐที่ค่อนข้างซับซ้อนในการคิด แล้วสรุปว่า คนไทยได้รับผลประโยชน์มากกว่าบริษัทในสัดส่วน 59 ต่อ 41 และเป็นระบบที่เหมาะสมดีแล้ว

หากพิจารณาจากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่นายประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงลานครินทร์ ที่ติดตามเรื่องพลังงานมากว่า 20 ปี ศึกษาเปรียบเทียบไว้ จะพบว่า นับตั้งแต่ปี 2524 จนถึง 2554 ประเทศไทยได้ผลิตปิโตรเลียมไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 3.42 ล้านล้านบาท โดยบริษัทรับสัมปทานได้กำไรสุทธิ (หลังหักต้นทุน ภาษีเงินได้และค่าภาคหลวงแล้ว) คิดเป็นร้อยละ 54.6 ของเงินลงทุน แต่ถ้าคิดในช่วง 5 ปีสุดท้าย จะพบว่า ผลกำไรสุทธิของผู้รับสัมปทานสูงมากเฉลี่ยร้อยละ 65.5% และใน 2 ปีสุดท้ายกลับสูงถึง ร้อยละ 73.2 และ 96.6% ของเงินลงทุน

กำไรที่งดงามจากการลงทุนสัมปทานปิโตรเลียมในไทยที่บริษัทพลังงานทั้งหลายแหล่สูบเอาไปนั้น ทำไมกระทรวงพลังงานถึงไม่เปลี่ยนแปลงการคิดส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานให้เข้ารัฐมากขึ้น ทั้งที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกเขาปรับเปลี่ยนกันไปหมดแล้ว แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานที่ผ่านมานั้น บางคนเป็นอดีตผู้บริหารของ ปตท. บางคนก็เป็นตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่ที่มีผลประโยชน์ได้เสียในสัมปทานปิโตรเลียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เบนเข็มหันมาสนใจลงทุนด้านพลังงาน
ดังที่นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ซีอีโอของเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า ทักษิณ มีส่วนเกี่ยวพันอยู่กับผลประโยชน์ด้านพลังงาน สัมปทานปิโตรเลียม และโยงใยไปถึงปตท.ด้วย “อยากให้ผู้นำม็อบและมวลชนเลิกฝันเฟื่อง ต้องเลิกเกรงใจถั่งเช่า ล้อมตึกชินวัตร รณรงค์เปลี่ยนเครือข่ายมือถือ แต่กลับเลี่ยงเรื่องพลังงาน ทั้งที่เป็นหัวใจสำคัญของระบอบทักษิณมากกว่ามือถือเสียอีก”

ธุรกิจพลังงานเป็นหัวใจของระบอบทักษิณ การขายหุ้นชินคอร์ป ก็เพราะต้องการเอาไปทุ่มให้กับธุรกิจพลังงาน ซึ่งวันนี้มีความชัดเจนออกมาแล้วเรื่องแหล่งน้ำมันนงเยาว์ ที่มีบริษัท มูบาดาลา กับ คริส เอเนอร์ยี ได้สิทธิ์เข้ามาพัฒนา เจ้าของบริษัทนี้ก็เป็นเพื่อนกับทักษิณ เป็นคนที่ซื้อสโมสรแมนแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากทักษิณในราคาหมื่นล้าน ทั้งที่ซื้อมา 5 พันล้าน แล้วทักษิณ ก็มาตั้งบริษัทนอมินีตอบแทนกันอยู่ ซึ่งนอกจากเรื่องแหล่งนงเยาว์ มีข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า จริงๆ แล้วที่ผ่านมา บริษัทพลังงานของรัฐอาบูดาบี มีการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อดำเนินการธุรกิจในประเทศไทย ในชื่อบริษัท เพิร์ลออย ประเทศไทย จำกัด สำนักงานเพิร์ลออยล์ ตั้งอยู่ที่ตึกชินวัตร 3
“ถ้า กปปส.อยากจะตัดท่อน้ำเลี้ยง ควรไปตั้งม็อบหน้าตึกชินวัตรเลย แล้วแทนที่คุณจะไปปิดสถานที่ราชการให้ไปล็อกประตูบริษัทชินวัตร หรือไปล็อกประตูบ้านยิ่งลักษณ์ หรือบ้านจันทร์ส่องหล้าก็ได้

“บริษัท เพิร์ลออย เขาบอกเลยว่าเกี่ยวเนื่องกับพลังงานของทักษิณ ชินวัตร ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะในด้านการทำธุรกิจด้านพลังงานในอ่าวไทย ทั้งที่อยู่ในเขตไทย และในเขตฝ่ายกัมพูชาอ้างสิทธิ์ โดยมีการดึงเอาบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.เข้ามาเป็นหุ้นส่วนก่อนหน้านี้แล้ว ปิดเพิร์ลออย ปิดตึกชินวัตร ไม่พอ ต้องปิด ปตท.ด้วย” นายจิตตนาถ ระบุ
กลุ่มบริษัท เพิร์ลออย ได้รับสัมปทานในประเทศไทย มีบริษัทในเครือหลายแห่ง เช่น บริษัท เพิร์ลออย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เพิร์ลออย ออฟชอร์ จำกัด บริษัท เพิร์ลออย บางกอก จำกัด บริษัท เพิร์ลออย (อมตะ) จำกัด บริษัท เพิร์ลออยล์ (อ่าวไทย) จำกัด บริษัท เพิร์ลออยล์ (ปิโตรเลียม) จำกัด บริษัท เพิร์ลออยล์ (รีซอร์สเซส) จำกัด และบริษัท เพิร์ลออยล์ ออนชอร์ จำกัด ทั้งหมดตั้งอยู่ที่ทำการเดียวกัน ที่ชั้น 31 ชินวัตรทาวเวอร์ 3 ประกอบกิจการเป็นผู้รับสัมปทานในการสำรวจ ขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ แก๊สธรรมชาติเหลว ผลิตผล และสารพลอยได้อื่นๆ

“ข้อมูลแบบนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่เห็นพูด แล้วนี่ต่างหากที่ทำธุรกิจเงียบๆ โดยไม่มีคู่แข่ง แล้วคุณก็ไม่เคยแตะเขา”
เพิ่มเติมข้อมูลให้เห็นความชัดเจนถึงผลกำไรอันงดงามของ ปตท. ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก ปตท.สผ. สักเล็กน้อย เรื่องนี้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผ้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ปี 2556 บมจ.ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการาย จำนวน 2,842,688 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จาก 2,793,833 ล้านบาทในปี 2555 มีกำไรสุทธิ 94,652 ล้านบาท ลดลง 9,956 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 จากกำไรสุทธิ 104,608 ล้านบาท ในปี 2555 โดยยอดขายหลักที่เพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจน้ำมัน

ในขณะที่กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นและรายได้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน (EBITDA) เพิ่มขึ้น 1,129 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 จาก 227,843 ล้านบาท เป็น 228,972 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นของ บมจ.ปตท.สผ. และหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับสินทรัพย์ของ ปตท.และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2556 มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 1,801,722 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 978,543 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 823,179 ล้านบาท

เห็นชัดแล้วใช่ไหมว่า กำไรของ ปตท.มาจากไหน และผู้ถือหุ้นมีส่วนแบ่งอยู่ในสินทรัพย์ของปตท.มากเพียงใด ทักษิณและพวกมีผลประโยชน์ มีส่วนได้เสียอยู่ในธุรกิจพลังงานอย่างไร แล้วจะปล่อยให้กิจการพลังงานองชาติอยู่ในอุ้งมือของคนเหล่านี้ต่อไป หรือจะรวมพลังกันปฏิรูประบบพลังงานของประเทศเพื่อลูกหลานในอนาคต



กำลังโหลดความคิดเห็น