xs
xsm
sm
md
lg

ปิดประตูล๊อบบี้ถกพลังงาน จี้ ‘เทือก’อย่าหมกเม็ดปฎิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เสวนาปฏิรูปพลังงานวุ่น! ขวางสื่อมวลชนเข้าฟัง “ม.ล.กรกสิวัฒน์”ตะลึง วิทยากรปกป้องนายทุนพลังงาน แฉลดเวลาพูดคุยจาก 7 ชั่วโมงเหลือแค่ชั่วโมงเดียว “พิชาย” ชี้ “สุเทพ” เลิกห่วงผลประโยชน์ของพรรคพวก ถึงจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง “รสนา” โต้กลับ “ดร.ไพรินทร์” ซีอีโอ ปตท.

ที่ห้องศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มีการจัดเสวนาสานพลังสู่การปฏิรูปในหัวข้อการปฏิรูปด้านพลังงาน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเข้าร่วม อาทิ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ พนักงาน ปตท. องค์กรอิสระด้านพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเข้าร่วม โดยมีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเสวนาไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเก็บภาพ เนื่องจากต้องการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ บริเวณหน้าห้องเสวนาเกิดเหตุชุลมุนขึ้น เมื่อมีประชาชนต้องการเข้าฟังแต่ไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งมีการกระทบกระทั่งกับการด์ กปปส. ยิ่งทำให้ประชาชนที่ต้องการเข้าฟังไม่พอใจ และมีการรวมตัวประท้วง รวมทั้งตำหนิว่าเป็นการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริง โดยที่เจ้าหน้าที่พยายามชี้แจงเหตุผลที่เข้าฟังไม่ได้ เนื่องจากห้องมีความคับแคบไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ที่ต้องการเข้ารับฟัง สุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเปลี่ยนห้องเสวนาเป็นห้องที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ทุกคนเข้ารับฟัง

วานนี้(12 ก.พ.) เมื่อเวลา 19.36 น. ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา และนักวิชาการอิสระ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ คุยกับหม่อมกร ถึงการเสวนาสานพลังสู่การปฏิรูป ประเด็นการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหนคร เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเสวนาลับไม่ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมว่า

“พอย้ายมาห้องประชุมใหญ่ ผมก็เปิดด้วยการชี้แจงว่าที่ผมได้ไม่ขึ้นเวทีปทุมวันนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับลุงกำนันและผู้ใหญ่บ้านสาทิตย์เลย แต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่เท่านั้น(แต่ผู้ที่แอบอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้เป็นใคร ผมจะเปิดเผยให้ทราบต่อไปครับ) จากนั้นผมก็ต่อด้วยเรื่องที่มีคนดิสเครดิตภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวด้านพลังงาน โดยกล่าวว่า ถ้าเห็นภาคประชาชนพูดไม่ถูกต้องตรงไหนขอให้คุณอนิก(เมียนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์)และดร.รักษ์ไทย ช่วยชี้แนะกันตรงๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่ถูกต้อง

“เริ่มที่ ดร.รักษ์ไทย กล่าวว่าน้ำมันแพงเพราะภาษี และราคาหน้าโรงกลั่นไม่แพงเลย!!! ผมถึงกับตะลึงในคำตอบ เพราะเป็นคำตอบของ ปตท.นั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นคนรู้จริงก็จะทราบว่าราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายคนไทยนั้นแพงกว่าราคาส่งออกขายต่างชาติ โดยระบุในหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของโรงกลั่นทุกโรง ที่บอกว่าราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายคนไทยใช้ราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ จึงสามารถบวกค่าใช้จ่ายเทียม ทั้งค่าขนส่งจากสิงคโปร์ ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างขนส่งได้ ทั้งที่มันบวกไปแล้ว 1 รอบในการนำเข้าน้ำมันดิบ ส่วนการส่งออกให้ใช้ราคาส่งออก ซึ่งราคาทั้ง 2 แตกต่างกันมาก สรุปว่ากลั่นเมืองไทย มลภาวะอยู่เมืองไทย แต่คนไทยจ่ายแพงกว่าส่งออก”

“ส่วนที่บอกว่าแพงเพราะภาษีก็ไม่จริงอีก เพราะภาษีมิได้สูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่สิ่งที่บวกเข้าไปแล้วไม่ควรบวกคือ กองทุนน้ำมัน ที่ปิโตรเคมีลูกของบริษัทพลังงานได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ในการซื้อก๊าซหุงต้มราคาต่ำเพียงประมาณ 17 บาทต่อกิโลกรัม โดยใช้สิทธิพิเศษที่มีมติออกมาสมัย นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์“

“สรุปว่าที่กล่าวหาภาคประชาชนว่าข้อมูลไม่ตรงกับเขา ก็เป็นความจริงครับ เพราะเราใช้ข้อมูลมากกว่าที่ปรากฏในเว็บไซต์ของ ปตท.และกระทรวงพลังงานครับ“

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำรุ่นที่ 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ว่า หลังจากประชาชนเข้าไปฟังได้ จึงมีการตัดการประชุมเสวนาเรื่องพลังงานจากเดิม 10.00 น.-17.00 น. เหลือเพียงแค่ครึ่งวัน 11.30 น. เลิกเวลา 12.30 น.(1 ชั่วโมง) เนื่องจากมีเข้าผู้ร่วมเสนาหลายคน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ได้พูดแค่ 7 นาที การเสวนาไม่มีข้อสรุป ที่ไม่ชัดเจนว่าจะยอมรับการปฏิรูปพลังงานอย่างไร และจะให้พูดนำเสนอบนเวทีหลักโดยให้มีการถ่ายทอดสดหรือไม่ แต่ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สรุปตอนท้ายว่า "ให้ล้มทักษิณก่อน" เป็นการเสวนาลับที่จบแบบน่ากระอักกระอ่วนใจอย่างยิ่ง ม.ล.กรกสิวัฒน์ให้ความเห็นกับผมว่า "ถ้าคิดว่าข้อมูลที่ตนนำเสนอไม่ถูก ก็ควรจะให้ประชาชนรับรู้เพื่อที่จะได้แก้ไข ไม่ใช่ปิดลับแบบนี้"

จี้”เทพ”พูดเรื่องพลังงาน

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในรายการ “เกาะติดชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ทางเอเอสทีวี ตอนหนึ่งว่า มีการตั้งข้อสงสัยว่าทำไม กปปส.ไม่คุยเรื่องพลังงาน โดยมีการบอกว่าเพราะข้อมูลของวิทยากรไม่ตรงกัน ตนแนะนำว่าให้ตั้งกรรมการชุดหนึ่ง มีสมาคมวิชาชีพและภาคประชาชนไปสำรวจดูเลยโดยอาศัยหลักวิชาการครบถ้วนโปร่งใส เมื่อนั้นทุกคนก็จะยอมรับตามข้อเท็จจริงที่ได้

นายพิชาย กล่าวต่อว่า เรื่องพลังงานยังไงก็จำเป็นต้องพูดเพราะเป็นที่ต้องการของประชาชนจำนวนมาก แล้วตนก็คาดว่า นายสุเทพ ต้องพูดสักวัน เพราะกระแสมาแรงมากขึ้นๆ ตอนนี้เวทีต่างๆ ของ กปปส.ที่ไม่ใช่เวทีหลัก ก็มีการพูดกันแล้ว นายสุเทพ มีอิทธิพลสูง พูดออกมาจะทำให้ประชาชนมีความหวัง และจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น นายสุเทพ ถึงจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ที่ไม่ต้องกังวลว่าพรรคพวกตัวเองจะเสียผลประโยชน์

“รสนา” โต้ “บิ๊กปตท.”

นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” เมื่อวันที่ 11 ก.พ. เพื่อตอบโต้บทสัมภาษณ์ของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่เผยแพร่เป็นสกู๊ปหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.พ. 2557 โดยมีรายละเอียดสรุปดังนี้

“อภินิหารน้ำมันไทยแพงเพราะใครผูกขาด”

1) ในบทสัมภาษณ์นั้น ดร.ไพรินทร์ ยกประเด็นเรื่องราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยว่าต้อง “อิงราคาสิงคโปร์” เพราะสิงคโปร์เป็นตลาดกลางการส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่สิ่งที่ ดร.ไพรินทร์ ไม่พูดให้หมดคือ “เราไม่ได้แค่อิงราคาสิงคโปร์” เท่านั้น แต่เราใช้ “ราคานำเข้าจากสิงคโปร์” มาเป็นราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปให้กับคนไทยต่างหาก

การมีโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลง แต่ปรากฏการณ์อภินิหาร คือคนไทยต้องใช้น้ำมันแพงกว่าคนต่างประเทศที่ซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากไทย และคนไทยยังต้องแบกรับมลภาวะจากการกลั่นน้ำมันอีกด้วย

2) ข้ออ้างเรื่องกลไกตลาดของน้ำมันไทยนั้นไม่มีอยู่จริงตามที่อ้าง เพราะ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นน้ำมัน 5 โรงจากจำนวน 6 โรง ซึ่งมีกำลังการกลั่นถึง 85% ของที่กลั่นได้ในประเทศ ปตท.จึงผูกขาดการกำหนดราคาน้ำมันโดยปริยาย

3) ข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากกว่าร้อยละ 80 ดร.ไพรินทร์ ไม่ได้บอกข้อมูลว่าคนไทยใช้น้ำมันวันละประมาณ 600,000 บาร์เรล เรามีเองประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้นความต้องการใช้ของคนในประเทศจึงต้องการนำเข้าเพียงวันละ 300,000 บาร์เรล แต่การนำเข้าถึง 800,000 บาร์เรลต่อวันตามที่ ปตท.อ้าง จึงไม่ใช่ความต้องการใช้ของคนไทยทั้งหมดการ

4) โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่ ดร.ไพรินทร์ ระบุว่า มี 3 ส่วน คือเนื้อน้ำมัน ค่าการตลาด และภาษี + กองทุน โดยอ้างว่าเป็นค่าการตลาด 3-4 บาทต่อลิตร ข้อมูลที่ได้จากเจ้าของปั๊มคือค่าการตลาดที่ปั๊มได้ต่อลิตรคือประมาณ 1 บาท ไม่ว่าค่าการตลาดจะสูงแค่ไหน ปั๊มก็จะได้เท่านั้น

ส่วนกองทุนน้ำมันนั้นก็เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงเกินเหตุ และกองทุนน้ำมันไม่ใช่รายได้ของรัฐ แต่เป็นกองทุนประกันกำไรของปตท. เป็นส่วนที่ทำให้ราคาน้ำมันบิดเบือน

5) ผู้ว่าการ ปตท.โอดครวญว่ากำไรของ ปตท.ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับบริษัทน้ำมันระดับโลก ซึ่งเป็นความจริง เมื่อเปรียบเทียบรายได้ของ ปตท.กับปิโตรนาสในปี 2555 รายได้ ปตท.2.845 ล้านล้านบาท ได้กำไร 1.72 แสนล้าน ในขณะที่ปิโตรนาสมีรายได้ 2.91 ล้านล้านบาท แต่มีกำไรถึง 8.91 แสนล้านบาท สูงกว่า ปตท.5 เท่า ทั้งที่ขายน้ำมันถูกกว่าประเทศไทยมากกว่าครึ่ง คำถามคือ เหตุใดกำไรของ ปตท.จึงน้อยกว่ามาก เพราะมีการผ่องถ่ายกำไรด้วยการใส่ค่าใช้จ่ายเทียมเข้ามาหรือไม่ หรือเป็นเพราะการบริหารด้อยประสิทธิภาพ

6) ข้ออ้างที่ว่า ปตท.ได้ส่งเงินเข้ารัฐเป็นจำนวนมากนั้น ในข้อเท็จจริง ปตท.นำส่งเงินปันผลให้รัฐน้อยลงทุกปี ในขณะที่มีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปีและน้อยกว่า กฟผ. ปตท.ส่งเงินเข้ารัฐจากปี 2551-2555 ในจำนวน 25,587.32 ล้านบาท, 8,759.32 ล้านบาท, 13,503.95 ล้านบาท, 16,788.69 ล้านบาท และ 17,518.63 ล้านบาท

7) ข้อโต้แย้งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือการบริหารจัดการปิโตรเลียมด้วยระบบสัมปทานที่ด้อยกว่าระบบแบ่งปันผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศไทยใช้ระบบสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2514 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทย ทั้ง พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ล้วนเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต

ข้อแตกต่างของระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิต คือระบบสัมปทานกรรมสิทธิ์ของปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชน ประเทศไทยต้องซื้อน้ำมันและก๊าซทึ่ได้จากแผ่นดินไทยในราคานำเข้า ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตกรรมสิทธิยังเป็นของรัฐ อุปกรณ์การขุดเจาะตกเป็นของรัฐในวันแรกที่ทำสัญญา เอกชนสามารถหักค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะตามจริง ผลผลิตที่เหลือนำมาแบ่งกัน โดยรัฐจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชนประมาณ 80:20
กำลังโหลดความคิดเห็น