xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละปตท.โยงทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ขณะที่เวที กปปส. แสดงท่าทีไม่เอาปฏิรูปพลังงานเป็นวาระปฏิรูปประเทศ โดยอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ว่าข้อมูลไม่ตรงกัน ซ้ำมีรายการดีสเครดิตถึงขั้นว่าข้อมูลภาคประชาชนเป็นข้อมูลเท็จ แต่หาได้ทำให้ทีมปฏิรูปพลังงานย่อท้อในการเดินหน้าเปิดโปงกลโกงที่กลุ่มทุนพลังงานสุมหัวกับนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงสูบเลือดสูบเนื้อประชาชน

การขึ้นเวทีเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ของม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา และนักวิชาการอิสระ พร้อมด้วย นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2556 เป็นอีกครั้งที่ทั้งสองได้ชำแหละให้เห็นถึงการแปรรูปปตท.เพื่อทักษิณ อย่างจะแจ้ง

นายอิฐบูรณ์ เล่าว่า เมื่อตุลาคม 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินหน้าแปรรูป ปตท. ซึ่งมีโรงกลั่น ท่อส่งก๊าซ และอำนาจผูกขาดที่ได้มาจากตอนที่เป็นรัฐวิสาหกิจ คือการเป็นพ่อค้าคนกลางในการจัดหาจำหน่ายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พอแปรรูปก็ได้ยึดอำนาจผูกขาดนี้ทั้งหมดไปด้วย

เดิมทีขณะที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ ปตท.สผ.จะทำหน้าที่เรียนวิชาการสำรวจเจาะหาก๊าซ-น้ำมัน แต่เมื่อทักษิณเอามา แทนที่จะหาขุดเจาะในไทยกลับไปหาต่างประเทศ ส่วนท่อส่งก๊าซ 2 พันกว่ากิโลเมตรอันนี้ก็ได้ไป แต่ที่สำคัญคืออำนาจผูกขาดที่ได้รับข้อยกเว้นว่ารัฐวิสาหกิจไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ทำให้หน่วยงานรัฐเวลาจะซื้อน้ำมันก็ต้องไปซื้อกับ ปตท.ทั้งหมด ฉะนั้นหลังแปรรูป ปตท.ก็ได้สิทธินี้ไปด้วย

ปี 2545 มีการจัดตั้งกระทรวงพลังงาน ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการปิโตรเลียมและการขายน้ำมัน-ก๊าซทั้งหมด กระชับอำนาจด้วยการให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการกำหนดราคาเชื้อเพลิงผ่านทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. แล้วดึงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่แต่เดิมอยู่กับกระทรวงการคลัง มาอยู่กับสถาบันบริหารกองทุนพลังงานที่ตั้งขึ้นให้ดูเหมือนเป็นหน่วยงานอิสระ แต่อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน นอกจากนั้นยังได้ประกาศเพิ่มอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้มีอำนาจ ดังนี้ 1. กำหนดเกณฑ์ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น 2. กำหนดราคาน้ำมันขายปลีก 3. จัดเก็บเงินชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 4. กำหนดค่าการตลาดของน้ำมันขายปลีก

ดังนั้น เวลาถาม ปตท.ว่าทำไมน้ำมันแพง เขาจะตอบว่าเขาไม่ได้เป็นคนกำหนด แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นคนกำหนด แต่คนชงก็คือ ปตท.นั่นแหละ

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า พ.ต.ท.ทักษิณฉลาดมาก ปี 2543 เป็นปีแรกที่ไทยส่งออกน้ำมันดิบไปต่างประเทศ พอปี 2544 แปรรูป ปตท.เลย ที่สำคัญในอดีตเป็นรัฐวิสาหกิจใครอยากลงทุนอะไรก็ชวน ปตท.หมด มีสิทธิพิเศษเหนือเอกชนทั่วไป พอแปรรูปผู้ถือหุ้นก็ได้สิทธินี้ไปหมดเลย เช่น การถือหุ้นใหญ่ใน 5 โรงกลั่น จากทั้งหมด 6 โรงกลั่น ปตท.บอกไม่ผูกขาด ถือหุ้นแค่ 49 เปอร์เซ็นต์ แต่ 49 เปอร์เซ็นต์นี่ ตั้งกรรมการบริษัทดูแลทั้งบริษัทได้แล้ว

แล้วต้องคิดดีๆ ช่วงแปรรูป ตอนนั้นเกิดเหตุเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด เราควรหยุดเอาเข้าตลาดหุ้น เพราะหุ้นกำลังตก ขายได้ราคาไม่ดี แต่คนที่ได้หุ้นแจกหุ้นจองดีทุกคน ซึ่งคนที่ไปฟ้องเรื่องนี้เป็นคนแรก คือ นายวีระ สมความคิด โดยฟ้องว่าข้าราชการที่ทำหน้าที่แบ่งสมบัติได้หุ้นหมดทุกคน ฉะนั้น ปตท.ก็ได้แต่สมบัติดีๆ ไปหมด แล้วเขาเขียนกฎหมายไว้ก่อนด้วยว่าคนทำงานกับรัฐสามารถถือหุ้นได้ ตรงนี้เลยฟ้องไม่ได้

ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ช่วงนั้นบอกจะได้ 40 กว่าบาทต่อหุ้น ปรากฏว่าเข้าได้ 33 บาท หายไปกว่า 10 บาท ไม่มีใครรับผิดชอบเลย แต่คนได้หุ้นไปยิ้ม เพราะมูลค่าที่แท้จริงมันสูงกว่านั้น ที่บอกว่าทำไมไม่พูดถึงตอนช่วงที่ถือแล้วขาดทุนบ้าง ไปดูกราฟปรากฏว่าราคาต่ำแค่วันเดียวคือวันที่ตลาดเมืองนอกมีปัญหา นอกนั้นขึ้นสูงหมดเลย

นายอิฐบูรณ์ ร่วมถลกหนังต่อว่า สันดานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตอนแปรรูป ปตท. ในหนังสือชี้ชวนบอกจะแยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจากระบบของบริษัท ปตท. เพื่อให้หน่วยงานอื่นดูแล แต่พอได้ไปแล้วทำเนียน จนทุกวันนี้ก็ยังไม่แยก ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญของ ปตท.เลย ไม่ต้องไปยึด ปตท.คืน แต่ยึดท่อก๊าซออกมาก็จะไม่มีเส้นเลือดใหญ่แล้ว

วิธีการหากินของระบบอบทักษิณอีกอย่างคือจัดหานำเข้าพลังงาน อย่างก๊าซแอลพีจี แต่ก่อนมีเพียงพอต่อการใช้ของคนไทย พอปี 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นั่งเป็นนายกฯ เวลาสั้นมาก แต่ประชุมครั้งหนึ่งมีมติให้จัดสรรก๊าซแอลพีจีให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ใช้เป็นอันดับแรกร่วมกับภาคครัวเรือน หากไม่พอให้ ปตท.นำเข้ามาแต่เพียงรายเดียว แล้วทีนี้ภาคปิโตรเคมีขยายตัวเร็วมาก จนวันนี้ปิโตรเคมีแซงภาคครัวเรือนไปแล้ว ภาคประชาชนใช้ 3 ล้านกิโลกรัม ปิโตรเคมีใช้เกิน 3 ล้านกิโลกรัม เป็น 6 ล้านเศษ กำลังผลิตในไทยจากโรงกลั่นได้ 2 ล้านกิโลกรัม จากโรงแยกได้ 4 ล้านกิโลกรัม รวมเป็น 6 ล้านกิโลกรัม ฉะนั้นภาคอื่นภาคยานยนต์, ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ไม่พอใช้ จึงต้องนำเข้า แล้วผลักภาระการนำเข้าให้ภาคอุตสากรรม โดยโดนเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 10 บาท/กก. ภาคยานยนต์ 3 บาท ภาคประชาชน 3 บาท แล้วจะเพิ่มเป็น 6 บาท ส่วนภาคปิโตรเคมีสั่งเรียกเก็บ 1 บาท ทั้งๆ ที่ใช้มากสุด

ม.ล.กรกสิวัฒน์ ร่วมขย่มต่อว่า เรื่องโรงแยกก๊าซ ปตท.ผูกขาด 100 เปอร์เซ็นต์ ก๊าซที่ขุดขึ้นมาจากแผ่นดินจะมีก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีปนกัน ฉะนั้นต้องแยกก๊าซ คนใช้ก๊าซฯมีบริษัทลูกปตท.ด้วย เขาจะให้ลูกใช้ก่อนประชาชนตรงๆ ก็น่าเกลียด เลยเขียนกฎหมายใหม่ โดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ภาคปิโตรเคมีใช้พร้อมภาคครัวเรือน ส่วนภาคยานยนต์ กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ไปนำเข้า แล้วราคาที่จ่ายก็ถูกมากคือ 17 บาท/กก. แต่ลูกชาวบ้าน 25 บาท/กก. ภาคอุตสาหกรรมจ่าย 30 บาท/กก.

มาถึงราคาหน้าปั๊ม ก่อนปี 48-49 เราจะเห็นมีปั๊มน้ำมันมากมายหลายยี่ห้อ แต่ทำไมถึงตายหมด นั่นก็เพราะ ปตท.ทำค่าการตลาดติดลบ ทำราคาขายให้ถูกเพื่อทำลายคู่ต่อสู้ให้ตายหมด แล้วยังสร้างภาพได้ด้วยว่าต้องการช่วยประชาชน เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว แล้วมันก็มาเอาคืนตอนหลัง วันนี้น้ำมันบางชนิดค่าการตลาด 5 บาท สูงกว่าที่ควรจะเป็นมาก จากที่ควรอยู่ที่ 1 บาท

ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยกกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่ขุดได้ไปให้เอกชนทั้งหมด เหมือนกับว่าเรายกสวนให้เขาฟรีๆ ได้เท่าไหร่เอาไปขาย เอาแค่เศษตังค์มา นั่นคือค่าภาคหลวง แล้วพอเจ้าของสวนอยากได้ผลไม้ก็ต้องยอมซื้อในตลาดโลก ส่วนประเทศอื่นในอาเซียนใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกันทั้งนั้น นั่นคือมีต้นทุนเท่าไหร่หักไป แล้วกำไรมาแบ่งกัน โดยบางประเทศได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

ส่วนเรื่องที่บอกว่าไทยมีปิโตรเลียมไม่เยอะ ไม่รู้ด้วยสติปัญญาหรือขี้โกง ในเมื่อเราเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน มากกว่าบรูไน 3 เท่า โดยประเทศที่อยู่อันดับ 1. อินโดนิเซีย 2. มาเลเซีย อันดับที่มีปิโตรเลียมน้อยกว่าเราใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะน้ำมันบ่อใหญ่ เล็ก เป็นกระเปาะ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตได้หมดเลย เพราะเป็นธรรมที่สุดแล้ว พวกฝ่ายสนับสนุน ปตท.มักบอกว่าระบบสัมปทาน รัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงเลย ก็อยากจะบอกว่าระบบแบ่งปันผลผลิตรัฐก็ไม่ต้องรับความเสี่ยงหมือนกัน

ม.ล.กรกสิวัฒน์ยังบอกด้วยว่าไม่ต้องเอา ปตท.คืน เพราะมันเป็นของเราแต่ต้นแล้ว แต่ต้องแก้นิสัยเสียของเขา เอาสิทธิพิเศษที่เคยได้รับคืน เช่น 1. เอาคืนท่อก๊าซให้องค์กรใหม่ดูแล 2. การผูกขาดขายน้ำมันให้รัฐแต่ผู้เดียวจะทำไม่ได้ ต้องประมูล 3. การถือหุ้นใหญ่มากถึง 5 โรงกลั่นจะทำไม่ได้

"ตอนนี้กลุ่มทุนพลังงานกำลังดิ้นพล่าน บอกข้อมูลพวกเราไม่จริง แต่เชิญขึ้นเวทีเดียวกันไม่เคยมาเลย ฉะนั้นเราต้องเผยแพร่ข้อเท็จจริง ตนยอมรับความเห็นต่าง แต่ต้องมาคุยกันบนเวที ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าตนผิดจะยอมรับ" ม.ล.กรกสิวัฒน์ ท้าทาย

ส่วนแนวทางปฏิรูปพลังงานนั้น นายอิฐบูรณ์ เสนอว่า 1. ต้องเขียนใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้ชัดเจนว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น ห้ามตีความอย่างอื่น 2. หลักในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียม ยกเลิกระบบสัมปทานออกไปแล้ว ให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการทันที และวิธีให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแหล่งต่างๆ ต้องให้ประมูล ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเท่านั้น 3. จัดตังบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือจะเรียกว่าองค์การปิโตรเลียมแห่งชาติ โดยเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้สังกัดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเด็ดขาด ส่วนปลายน้ำนั้น 1. ยุติการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม 2. มีมติ ครม.ให้ภาคประชาชนใช้ก๊าซแอลพีจีอันดับแรก ส่วนปิโตรเคมีใช้ทีหลัง ไม่พอให้นำเข้าและรับภาระไปเอง ถ้าทำอันนี้ได้จะไม่ต้องขึ้นราคาก๊าซและน้ำมันเลย 3. ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทันที

ชัดๆ เน้นๆ เนื้อๆ แถมท้าทายด้วยว่า ถ้าเป็นข้อมูลเท็จ ก็มาดีเบตกัน แลกเปลี่ยนกัน ให้รู้ถูกผิดใครกันแน่ที่บิดเบือน และสาธารณชนจะได้รู้ได้เข้าใจว่าระบอบทักษิณใช้ปตท.เป็นเครื่องมือขูดรีดประชาชนแค่ไหน

การเคลื่อนไหวให้ข้อมูลของภาคประชาชนต่อสังคมของทีมปฏิรูปพลังงาน ไม่ได้ทำเพราะมีผลประโยชน์ส่วนตนอยู่เบื้องหลัง แต่พวกที่คอยกีดกัน ใส่ความ เพื่อดีสเครดิตนั่นแหละที่น่าสงสัยว่า รักชาติ รักปตท. จนน้ำลายไหล
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา

กำลังโหลดความคิดเห็น