“ดร.รักไทย” งดตอบสาเหตุน้ำมันแพง หลังถูก “มล.กร” พาดพิงว่าตอบเหมือน ปตท. ชี้มองคนละอย่างเลยไม่ขอลงลึก แต่ยันทุกคนในเวทีเสวนา กปปส.เห็นตรงกันว่าต้องลดราคาน้ำมันให้สอดคล้องกับประชาชน พร้อมเสนอแนวทางปฏิรูปพลังงาน ต้นน้ำ-ให้โรงกลั่นรวมกลุ่มกันซื้อน้ำมันดิบ จะได้เพิ่มอำนาจต่อรองได้ราคานำเข้าที่ถูกลง กลางน้ำ-เลิกผูกขาดการขายน้ำมันในประเทศ หรือ ปตท.ต้องชัดเจนจะเป็นรัฐหรือเอกชน ปลายน้ำ-ปรับโครงสร้างภาษีให้ราคาน้ำมันใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้าน
วันนี้ (13 ก.พ.) จากกรณีที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา และนักวิชาการอิสระ พาดพิงว่า ดร.รักไทย บูรพ์ภาค อาจารย์พิเศษวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมประจำสำนักใหญ่ธนาคารโลก กล่าวในเวทีเสวนาของ กปปส.ว่าน้ำมันแพงเพราะภาษี ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นไม่ได้แพง ซึ่งเป็นคำตอบที่เหมือนกับ ปตท. ทำให้หลายคนต้องตั้งข้อสงสัยในจุดยืน ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 01.20 น. ดร.รักไทย ได้ชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "Ruktai Ace Prurapark" ดังนี้
“ร่างเสนอแนวทางปฏิรูปพลังงานไทยจาก ดร. รักไทย บูรพ์ภาค (อาจารย์พิเศษวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมประจำสำนักใหญ่ธนาคารโลก)
“ก่อนอื่นผมคงต้องขอใช้สิทธิ์ชี้แจ้งเรื่องที่พาดพิงผมก่อนจาก ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นะครับ แน่นอนครับ ผมเห็นท่านโพสต์เฟซบุ๊กและพาดพิงผมเต็มๆ ก็ขอน้อมรับครับ หลักๆ ที่ท่านพาดพิงผมก็เป็นเรื่องของราคาน้ำมันขายปลีกนะครับ ขอสรุปเลยละกันครับว่า ท่านบอกว่าคำอธิบายของผมเกี่ยวกับเรื่องราคาน้ำมันนั้น ผมตอบเหมือนกับ ปตท. และกระทรวงพลังงาน คือ ราคาน้ำมันแพงเพราะปัจจัยภาษีเป็นหลัก ซึ่งทาง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี มองเป็นอีกอย่าง ก็ไม่เป็นไรครับ ผมคงไม่ไปลงลึกประเด็นเรื่องนี้กับท่านในประเด็นนี้ เพราะตราบใดที่เราทั้งสองเห็นตรงกันว่า ราคาน้ำมันแพงและต้องหาทางลดเพื่อให้สอดคล้องกับประชาชนนั้น ก็ถือว่าเราทั้งสองคนยังคงมองเป็นทิศทางเดียวกันนะครับ ซึ่งก็ขอขยายความจากตรงนี้เลยครับว่าประเด็นนี้ก็คือ ประเด็นหลักที่ทุกท่านเห็นตรงกันในเวทีเสวนา ในที่ประชุมนั้นหลายๆ ท่านรวมทั้งผมด้วยนะครับ คราวนี้ทำอย่างไรให้น้ำมันที่ประชาชนใช้มันถูก มันก็ต้องมองภาพรวมเป็นทั้งระบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ต้นน้ำ
ในต้นน้ำนั้นผมได้เสนอไปในที่ประชุมว่าประเทศเรานั้นได้ขาดกการดีลตรงกับกลุ่มประเทศ OPEC ท่านทราบไหมครับว่า โรงกลั่น 5-6 โรงในไทยนี้ (ของกลุ่ม ปตท.เป็นส่วนใหญ่) ดีลเองผ่านเอเยนต์ทั้งนั้น หมายความว่าต่างคนต่างดีล เพราะฉะนั้นราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามาก็แพงน่ะสิครับ เพราะต้องผ่านนายหน้าหลายเจ้ากว่าจะเข้ามาถึงประเทศไทยอำนาจต่อรองก็น้อย เพราะถ้ารวมกันซื้อแล้วอำนาจต่อรองก็จะมากกว่า จริงๆ แล้วส่วนใหญ่น้ำมันดิบมากกว่าครึ่งที่เรานำเข้านี้เราใช้น้ำมันชนิด “Murban Crude” จาก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลักการดีลตรงนี้ ผมได้แนวคิดมาจากตอนที่ไปประชุม OPEC ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพราะประเทศนำเข้าน้ำมันหลายประเทศก็ทำวิธีเดียวกันนี้กับกลุ่มประเทศ OPEC และไม่ใช่แค่เราจะได้ใช้น้ำมันดิบถูกอย่างเดียวนะครับ เรายังสามารถใช้สินค้าอื่นแลกกับน้ำมันดิบได้อีกด้วย ไม่แน่โครงการข้าวไทยแลกน้ำมันดิบ อาจจะดีกว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลก็ได้นะครับ ซึ่งก็จะสามารถแก้ปัญหาการหาตลาดข้าวในระยะยาวได้อีกด้วยครับ รวมไปถึงผมเห็นด้วยในการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งพลังงานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งนำข้อมูลที่ได้จากการทำคลื่นสั่นสะเทือน (Seismic) จากที่ทางกระทรวงพลังงานมีอยู่แล้ว และนำมาทำเป็นฐานข้อมูลน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสำรองทั้งประเทศ โดยที่สามารถเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงได้ แล้วจะได้ใช้ข้อมูลนี้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงตัวเดียวกันเพื่อลดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลกันนะครับ
กลางน้ำ
เกี่ยวกับระบบตลาดการแข่งขันในประเทศ ถ้าเรามีการแข่งขั้นการขายน้ำมันในประเทศแบบเสรีโดยที่ไม่มีเจ้าใดผูกขาดนั้น ก็จะทำให้กลไกลตลาดน้ำมันในประเทศสามารถดึงราคาน้ำมันต่ำลงมาได้ หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ การปฏิรูป หรือ Reorganization ของบริษัท ปตท.เอง สำหรับผมแล้ว ผมเสนอว่า ปตท.ต้องวางบทบาทชัดเจนกว่านี้ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน หรือเป็นของรัฐ ถ้าให้ผมเสนอ ปตท.ใหญ่นั้นสัดส่วนการถือหุ้นควรจะเป็นของรัฐเป็นหลัก เพื่อจะช่วยดึงราคาน้ำมันภายในประเทศให้ถูกที่สุด โดยที่องค์กร ปตท.ใหญ่ อยู่ได้และประชาชนรับได้นะครับ ส่วนบริษัท ปตท.สำรวจและผลิต ซึ่งเป็นบริษัทลูกน่าจะเป็นเอกชนเต็มตัว เนื่องจากว่าได้ลงทุนขุดเจาะในต่างประเทศอยู่แล้วซึ่งก็สามารถหากำไรแล้วนำเงินและพลังงานเข้าประเทศได้
ปลายน้ำ
แน่นอนครับการปรับโครงสร้างภาษีน้ำมันและก๊าซเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ถ้าถามว่าแล้วราคาน้ำมันที่ขายให้ประชาชนควรเป็นอย่างไร ผมก็เสนอว่าน่าจะใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ เรา เช่น มาเลเซีย อินโดเนเซีย เป็นต้น แต่คงไม่ต้องถึงขนาดมาเลเซีย และ อินโดนีเซียนะครับ เพราะประเทศพวกนี้รัฐบาลเข้าให้เงินช่วยเหลือ (subsidize) ด้วยนะครับ แต่ควรจะต้องถูกพอที่จะให้ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านตามหลักของเศรษฐศาสตร์ปิโตรเลียม ทำไมน่ะรึครับ เพราะถ้าน้ำมันบ้านเราแพงไปจะเกิดน้ำมันเถื่อนไหลเข้ามาในประเทศ และถ้าน้ำมันของเราถูกไปน้ำมันก็จะไหลออกนอกประเทศน่ะสิครับ
สำหรับมุมมองผมนั้นโดยส่วนตัว จากการสัมมนานั้นได้ฟังข้อมูล คุณรสนาและทาง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นั้นก็ต้องยอมรับครับว่าท่านสองคนนี้มีข้อมูลตรงจุดนี้แน่นพอสมควร อีกทั้งอยู่ในอำนาจที่ทำได้เนื่องจากอยู่ในวุฒิสภา ตรงนี้ผมคงขอเสนอความคิดเห็นกลับไปทางท่านทั้งสองและทีมงาน รวมทั้งท่านผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ด้วยนะครับ ว่าตรงนี้จะแก้ไขได้อย่างไร
สุดท้ายนี้อันนี้ก็เป็นแค่ร่างที่ผมเสนอนะครับ ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ รบกวนช่วยแชร์ด้วยนะครับถ้าคิดว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่อยากปฏิรูปพลังงานไทยนะครับ” ดร.รักไทยระบุ
คลิกอ่าน "หม่อมหลวงกร” โพสต์เฟซบุ๊กเผยบรรยากาศเสวนาพลังงาน