xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” โต้ ปตท.ย้ำชัดน้ำมันแพงเพราะผูกขาด ไม่ใช่ตามกลไกตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รสนา” โต้กลับ “ดร.ไพรินทร์” ซีอีโอ ปตท.ย้ำน้ำมันแพงเพราะการผูกขาดไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาดตามที่อ้าง ชี้ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ 5 โรงกลั่น มีกำลังการผลิตถึง 85% ซึ่งเป็นการผูกขาดการกำหนดราคาน้ำมันไปโดยปริยาย ซัดบอกความจริงไม่หมดทั้งการอิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ทั้งที่กลั่นในประเทศ ซ้ำนำเข้าน้ำมันเกินความต้องการคนไทยเพื่อนำไปเอื้อกิจการของ ปตท.เอง

วันนี้ (11 ก.พ.) นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” เพื่อตอบโต้บทสัมภาษณ์ของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่เผยแพร่เป็นสกู๊ปหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.พ. 2557 โดยมีรายละเอียดดังนี้

“อภินิหารน้ำมันไทยแพงเพราะใครผูกขาด”

สกู๊ปหน้าหนึ่งของ นสพ.ไทยรัฐ เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.พ. 2557 ลงบทสัมภาษณ์ผู้ว่าการ ปตท. ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร จั่วหัวเรื่องว่า “อภินิหารน้ำมันไทย แพงตามกลไกตลาด” ดิฉันเห็นว่าราคาน้ำมันของไทยแพงเพราะการผูกขาด มิใช่แพงตามกลไกตลาดเสรีอย่างแน่นอน

ดิฉันจะขอแสดงข้อมูลอีกด้านหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณา ดิฉันชื่นชม นสพ.ไทยรัฐ ที่มักลงความเห็น และข้อมูล 2 ด้านเสมอ หากว่าบทสัมภาษณ์ในสกู๊ปหน้าหนึ่งนี้ไม่ใช่หน้าโฆษณา ดิฉันก็หวังว่า นสพ.ไทยรัฐ จะพิจารณานำข้อมูลโต้แย้งของดิฉันไปลงเปรียบเทียบด้วยค่ะ

1) ในบทสัมภาษณ์นั้น ดร.ไพรินทร์ ยกประเด็นเรื่องราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยว่าต้อง “อิงราคาสิงคโปร์” เพราะสิงคโปร์เป็นตลาดกลางการส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่สิ่งที่ ดร.ไพรินทร์ ไม่พูดให้หมดคือ “เราไม่ได้แค่อิงราคาสิงคโปร์” เท่านั้น แต่เราใช้ “ราคานำเข้าจากสิงคโปร์” มาเป็นราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปให้กับคนไทยต่างหากค่ะ คือมีการบวกค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากสิงค์โปร์มาไทย ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะน้ำมันกลั่นในประเทศเหลือใช้จนสามารถส่งออก

น้ำมันดิบที่นำเข้าก็บวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทางไปแล้ว พอมากลั่นในเมืองไทย ก็มาบวกค่าใช้จ่ายเทียมเหล่านี้เข้ามาในราคาน้ำมันสำเร็จรูปอีกรอบหนึ่ง ซึ่งโสหุ้ยเทียมเหล่านี้มีราคาบวกลบประมาณ 1 บาทต่อลิตร และยังมีการบวกค่าปรับปรุงคุณภาพอีกส่วนหนึ่ง โดยอ้างว่าราคาน้ำมันของสิงคโปร์ที่เราอิงราคาของเขาเป็นน้ำมันเกรดยูโร 2 แต่น้ำมันของไทยเป็นเกรดยูโร 4 จึงต้องบวกเพิ่มการปรับปรุงคุณภาพอีกลิตรละประมาณ 1 บาท ทั้งที่ก็เป็นสเปกของโรงกลั่นอยู่แล้ว สมมติว่าราคาน้ำมันสิงคโปร์ลิตรละ 20 บาท ราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายคนไทยจะเป็น 22 บาท/ลิตร

การมีโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลง แต่ปรากฏการณ์อภินิหาร คือคนไทยต้องใช้น้ำมันแพงกว่าคนต่างประเทศที่ซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากไทย และคนไทยยังต้องแบกรับมลภาวะจากการกลั่นน้ำมันอีกด้วย แต่เมื่อโรงกลั่นส่งออกน้ำมัน นอกจากจะบวกต้นทุนเทียมเหล่านี้ไม่ได้แล้ว ราคาน้ำมันส่งออกที่โรงกลั่นจะได้รับต้องหักค่าขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพประมาณลิตรละ 2 บาท กลายเป็นว่าเวลาส่งออกโรงกลั่นต้องขายน้ำมันเกรดยูโร 4 ในราคาเกรดยูโร 2 โรงกลั่นจะได้เงินเพียงลิตรละ 18 บาทเท่านั้น แต่กลับขายคนไทยลิตรละ 22 บาท

ยังไม่เคยมีปรากฏว่ามีสินค้าอะไรที่ผลิตในประเทศไทย แต่ตั้งราคาขายคนไทย โดยไปอ้างอิงราคานำเข้าสินค้าชนิดนั้นจากต่างประเทศ จะมีก็แต่อภินิหารน้ำมันไทยนี่แหละ

2) ข้ออ้างเรื่องกลไกตลาดของน้ำมันไทยนั้นไม่มีอยู่จริงตามที่อ้าง เพราะ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นน้ำมัน 5 โรงจากจำนวน 6 โรง ซึ่งมีกำลังการกลั่นถึง 85% ของที่กลั่นได้ในประเทศ ปตท.จึงสามารถตั้งกรรมการของตนเข้าไปควบคุมนโยบายโรงกลั่นได้ ทั้ง 5โรงกลั่น จึงทำให้โรงกลั่นไม่เกิดการแข่งขันกันตามกลไกตลาดเสรี เท่ากับเป็นการผูกขาดการกำหนดราคาน้ำมันโดยปริยาย

3) ข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากกว่าร้อยละ 80 ดร.ไพรินทร์ ไม่ได้บอกข้อมูลว่าคนไทยใช้น้ำมันวันละประมาณ 600,000 บาร์เรล เรามีเองประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้นความต้องการใช้ของคนในประเทศจึงต้องการนำเข้าเพียงวันละ300,000 บาร์เรล แต่การนำเข้าถึง 800,000 บาร์เรลต่อวันตามที่ ปตท.อ้าง จึงไม่ใช่ความต้องการใช้ของคนไทยทั้งหมดการนำเข้าเกินมา 500,000 บาร์เรลต่อวัน จึงเป็นการนำเข้าเพื่อทดแทนน้ำมันดิบของไทยที่ถูกส่งออกไป และเพื่อทดแทนคอนเดนเซทของเราที่ถูกนำไปใช้ในกิจการปิโตรเคมีของ ปตท.นอกนั้นก็เป็นการนำเข้าเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก

4) โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่ ดร.ไพรินทร์ ระบุว่า มี 3 ส่วน คือเนื้อน้ำมัน ค่าการตลาด และภาษี + กองทุน โดยอ้างว่าเป็นค่าการตลาด 3-4 บาทต่อลิตร เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องแบ่งกันระหว่างบริษัทผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของปั๊มน้ำมัน ข้อมูลที่ได้จากเจ้าของปั๊มคือค่าการตลาดที่ปั๊มได้ต่อลิตรคือประมาณ 1 บาท ไม่ว่าค่าการตลาดจะสูงแค่ไหน ปั๊มก็จะได้เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นของบริษัทผู้ค้าน้ำมัน

ส่วนกองทุนน้ำมันนั้นก็เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงเกินเหตุ และกองทุนน้ำมันไม่ใช่รายได้ของรัฐ แต่เป็นกองทุนประกันกำไรของปตท. เป็นส่วนที่ทำให้ราคาน้ำมันบิดเบือน มีการนำกองทุนน้ำมันไปชดเชยให้ E85 ถึง 11.60 บาท/ลิตร ด้วยการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นของ E85 ให้สูงกว่าราคาเบนซิน 95 และมีค่าการตลาดถึงลิตรละ 5 บาท เป็นการทำราคาให้สูงมาก เพื่อล้วงเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยให้มาก ทั้งที่เคยอ้างเหตุผลว่าไม่ควรอุดหนุนการใช้ก๊าซหุงต้มของคนหาเช้ากินค่ำที่เป็นภาคครัวเรือนเพราะเป็นการสร้างภาระให้กับคนใช้น้ำมัน แล้วมีเหตุผลใดที่รัฐต้องออกหลักเกณฑ์เอากองทุนน้ำมันมาอุดหนุนคนใช้ E85

น้ำมันทางเลือกอย่าง E85 หากมีราคาแพงกว่าน้ำมันเบนซินล้วนๆเสียแล้ว ก็เป็นธุรกิจที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ควรส่งเสริมด้วย กองทุนน้ำมันยังคงนำไปอุดหนุนให้ปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซแอลพีจีในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกของแอลพีจีถึง 40%

5) ผู้ว่าการ ปตท.โอดครวญว่ากำไรของ ปตท.ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับบริษัทน้ำมันระดับโลก ซึ่งเป็นความจริง เมื่อเปรียบเทียบรายได้ของ ปตท.กับปิโตรนาสในปี 2555 รายได้ ปตท.2.845 ล้านล้านบาท ได้กำไร 1.72 แสนล้าน ในขณะที่ปิโตรนาสมีรายได้ 2.91 ล้านล้านบาท แต่มีกำไรถึง 8.91 แสนล้านบาท สูงกว่า ปตท.5 เท่า ทั้งที่ขายน้ำมันถูกกว่าประเทศไทยมากกว่าครึ่ง คำถามคือ เหตุใดกำไรของ ปตท.จึงน้อยกว่ามาก เพราะมีการผ่องถ่ายกำไรด้วยการใส่ค่าใช้จ่ายเทียมเข้ามาหรือไม่ หรือเป็นเพราะการบริหารด้อยประสิทธิภาพ

6) ข้ออ้างที่ว่า ปตท.ได้ส่งเงินเข้ารัฐเป็นจำนวนมากนั้น ในข้อเท็จจริง ปตท.นำส่งเงินปันผลให้รัฐน้อยลงทุกปี ในขณะที่มีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปีและน้อยกว่า กฟผ. ปตท.ส่งเงินเข้ารัฐจากปี 2551-2555 ในจำนวน 25,587.32 ล้านบาท, 8,759.32 ล้านบาท, 13,503.95 ล้านบาท, 16,788.69 ล้านบาท และ 17,518.63 ล้านบาท ในขณะที่กฟผ.ส่งเงินเข้ารัฐระหว่างปี 2551-2555 จำนวน 13,307 ล้านบาท, 12,463 ล้านบาท, 12,318 ล้านบาท, 17,715 ล้านบาท และ 22,643 ล้านบาท ซึ่ง กฟผ.ส่งเงินสูงขึ้นในแต่ละปี ในขณะที่ ปตท.ส่งเงินเข้ารัฐต่ำลงเรื่อยๆ จากปี 2551 เป็นต้นมา

7) ข้อโต้แย้งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือการบริหารจัดการปิโตรเลียมด้วยระบบสัมปทานที่ด้อยกว่าระบบแบ่งปันผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศไทยใช้ระบบสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2514 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทย ทั้ง พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ล้วนเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ประเทศไทยยังคงยืนหยัดจะใช้ระบบสัมปทานต่อไป ซึ่งเป็นวิธีการคิดส่วนแบ่งที่ล้าหลังตามแบบยุคอาณานิคม

ข้อแตกต่างของระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิต คือระบบสัมปทานกรรมสิทธิ์ของปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชน ประเทศไทยต้องซื้อน้ำมันและก๊าซทึ่ได้จากแผ่นดินไทยในราคานำเข้า ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตกรรมสิทธิยังเป็นของรัฐ อุปกรณ์การขุดเจาะตกเป็นของรัฐในวันแรกที่ทำสัญญา เอกชนสามารถหักค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะตามจริง ผลผลิตที่เหลือนำมาแบ่งกัน โดยรัฐจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชนประมาณ 80:20

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ ดร.ไพรินทร์ ไม่พูดถึงคือ ระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมยังเป็นของรัฐ ซึ่งรัฐสามารถกำหนดนโยบายเรื่องราคาที่เป็นธรรมให้กับประชาชน หากขายพลังงานในราคาถูก ประชาชนและระบบเศรษฐกิจได้ประโยชน์ หากขายแพงขึ้น รายได้ก็ตกเป็นของรัฐเป็นงบประมาณแผ่นดินต่อไป ไม่ใช่พลังงานราคาแพง แต่ผลประโยชน์ตกอยู่กับเอกชน

อภินิหารราคาน้ำมันไทยขอบอกว่าไม่ได้แพงเพราะกลไกราคาตลาดแต่แพงเพราะการผูกขาด...เพื่อใคร?

รสนา โตสิตระกูล
สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพ
11 ก.พ 2557

อ่านบทสัมภาษณ์ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร “อภินิหารน้ำมันไทย แพงตามกลไกตลาด”


กำลังโหลดความคิดเห็น