xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม : อีก 4 ความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลจงใจเมิน!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีอีกกิโลกรัมละ 0.5 บาทต่อเดือนจนกว่าจะครบหนึ่งปี เมื่อครบหนึ่งปีคิดเบ็ดเสร็จแล้วราคาจะเพิ่มขึ้นไปจากวันนี้ถึง 37% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขึ้นราคาภายในหนึ่งปีที่สูงมาก

เหตุผลที่รัฐบาลนี้ใช้ในการขึ้นราคาครั้งนี้มี 3 ข้อ คือ

หนึ่ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำมันที่ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วนำเงินจากกองทุนมาอุดหนุนให้ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าตลาดโลก

รัฐบาลได้จำแนกแหล่งที่มาของก๊าซออกเป็น 3 แหล่ง คือ (1) จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ก๊าซจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 550 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือประมาณกิโลกรัมละ 17.05 บาทต่อกิโลกรัม (2) จากโรงกลั่นน้ำมันซึ่งใช้น้ำมันดิบจากต่างประเทศ (ความจริงก็ใช้น้ำมันดิบบางส่วนในประเทศด้วย แต่รัฐบาลบอกมาเท่านี้-จากเอกสาร “ปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ก้าวที่กล้าพลังงานไทย” วารสารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ 99 มกราคม-มีนาคม 2556) โดยมีต้นทุนที่ 764 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือประมาณกิโลกรัมละ 23.68 บาทต่อกิโลกรัม และ (3) นำเข้าจากต่างประเทศโดยมีต้นทุนที่ 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 27.90 บาทต่อกิโลกรัม

สอง เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมัน การที่ราคาก๊าซแอลพีจีมีราคาถูก (เพราะได้รับการอุดหนุน) ทำให้มีผู้นิยมใช้ก๊าซแอลพีจีมากขึ้น ภาระของกองทุนน้ำมันจึงเพิ่มขึ้นด้วย โดยอ้างว่าในช่วงปี 2551-2555 กองทุนน้ำมันได้ชดเชยไปแล้วจำนวน 1.23 แสนล้านบาท

สาม เพื่อป้องกันการลักลอบส่งออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยอ้างว่าราคาในประเทศลาว และเวียดนามกิโลกรัมละเกือบ 50 บาท ในขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศไทยอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม
เอกสารดังกล่าวสรุปว่า “กระทรวงพลังงานมีนโยบายให้ประชาชนภาคครัวเรือนใช้ก๊าซ LPG ที่สะท้อนต้นทุนก๊าซ LPG ที่ผลิตในประเทศราคา 24.82 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคามีความเหมาะสม เป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง”

ผมรู้สึกทั้งดีใจและแปลกใจที่รัฐบาลคำนึงถึงความเป็นธรรมเป็นเหตุผลแรกในการขึ้นราคาดังกล่าว เพราะความเป็นธรรมคือคุณสมบัติที่จำเป็นของสังคมอารยะ สังคมใดที่ปราศจากความเป็นธรรม สังคมนั้นจะต้องมีแต่ความวุ่นวายและนำไปสู่หายนะไม่ช้าก็เร็ว

แต่ที่แปลกใจก็คือ มันเป็นธรรมจริงหรือเปล่า หรือเป็นธรรมเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีความไม่เป็นธรรมอื่นๆ ที่กระทรวงพลังงานไม่ได้กล่าวถึงอีก 4 ประการ เรามาดูกันครับ

หนึ่ง ความไม่เป็นธรรมในการใช้เงินกองทุนน้ำมัน

สิ่งที่กระทรวงพลังงานกำลังกล่าวถึงว่าเป็นปัญหาอยู่นั้นคือความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ใช้น้ำมันซึ่งส่วนมากมักจะถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกับผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีที่มีราคาต่ำกว่าตลาดโลก โดยที่ในบางช่วงน้ำมันบางชนิดถูกเก็บเงินเข้ากองทุนถึง 6-7 บาทต่อลิตรซึ่งถือว่ามากเอาการอยู่เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันลิตรละ 30-45 บาท ประเด็นนี้ผมเห็นด้วยว่าไม่เป็นธรรมจริงๆ

ขณะเดียวกันในบางช่วงเงินกองทุนน้ำมันก็ถูกนักการเมืองนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อนโยบายประชานิยมอย่างไร้เหตุผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยการเลือกตั้ง ส่งผลให้กองทุนน้ำมันต้องติดลบมากที่สุดถึงเกือบ 8.3 หมื่นล้านบาท (ดูรายละเอียดจากกราฟประกอบ -ที่มารายงานประจำปีสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การหาชน) 2554)

ทั้งเรื่องการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันแล้วไปอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีและการใช้เงินกองทุนน้ำมัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นปี 2548 ที่ชัดเจนว่าราคาน้ำมันและราคาแอลพีจีก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก) ล้วนแล้วแต่เป็นความไม่เป็นธรรมทั้งนั้น นี่เป็นความไม่เป็นธรรมประการแรกครับ

แนวคิดของการมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็เพื่อรักษาราคาน้ำมันไม่ให้ขึ้นลงมากเกินไปซึ่งเป็นเหตุมาจากราคาตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาได้โดยการตรากฎหมายให้สามารถปรับอัตราภาษีให้มีความยืดหยุ่นได้สะดวก

การตั้งกองทุนน้ำมันจึงเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้เงินที่เก็บไปจากประชาชนโดยไม่ผ่านระบบรัฐสภา นับเป็นหลักการเดียวกันกับเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลชุดนี้กำลังพยายามอยู่นั่นเอง

จากรายงานประจำปีของกองทุนน้ำมันพบว่า มีการนำเงินไปซื้อสลากออมสินถึง 5 พันล้านบาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันได้ผลประโยชน์ต่ำกว่าการฝากธนาคาร(สลากออมสินเป็นเกมเพื่อการเสี่ยงโชคของคนมีเงินจำนวนน้อย ที่คนมีเงินมากเป็นผู้กำหนดกติกา ดังนั้นถ้าใครซื้อ 100 ล้านใบด้วยหมายเลขติดกัน ผู้ซื้อสลากจะได้ผลประโยชน์น้อยกว่าการฝากธนาคารแน่นอน)

ดังนั้น ในความเห็นของผมแล้วควรยุบกองทุนน้ำมันครับ เพื่อให้เงินที่เก็บไปจากประชาชนได้รับการตรวจสอบโดยระบบรัฐสภา

สอง ความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้รับสัมปทานกับประชาชนเจ้าของทรัพยากร

ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดดังกล่าว ผมขอกล่าวถึงธุรกิจปิโตรเลียมก่อน โดยปกติ ธุรกิจปิโตรเลียมจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

ธุรกิจต้นน้ำ ได้แก่การสำรวจและการขุดเจาะ ซึ่งประเทศไทยใช้ระบบสัมปทานให้บริษัท จากข้อมูลในรายงานประจำปีของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปี 2554 พบว่า ตลอดช่วง 40 ปีคือ 2514-2554 บริษัทที่ได้รับสัมปทานได้กำไรร้อยละ 60 ของเงินลงทุน แต่ในปี 2553 และ 2554 บริษัทได้กำไรปีละ 73% และ 97% ของเงินลงทุนในแต่ละปี ตามลำดับ มีธุรกิจใดมีกำไรมากเท่านี้บ้าง

ธุรกิจกลางน้ำ ได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งนำวัตถุดิบที่ได้จากขั้นตอนธุรกิจต้นน้ำ มาแยกหรือกลั่นให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งได้แก่ ก๊าซแอลพีจีและน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ ท่อส่งก๊าซ (ซึ่งคิดค่าผ่านท่อในอัตราผลตอบแทนร้อยละ 18 ต่อปี) และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ซึ่งกระทรวงพลังงานอ้างว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 3-40 เท่า) ก็ถูกจัดเป็นธุรกิจกลางน้ำ

วัตถุดิบที่ป้อนเข้าโรงแยกก๊าซมาจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศทั้งหมด เมื่อแยกแล้วจะได้ก๊าซแอลพีจีซึ่งรัฐบาลกำลังแก้ปัญหาอยู่ ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันใช้วัตถุดิบประมาณ 22-25% จากภายในประเทศ ที่เหลือเป็นน้ำมันดิบนำเข้า เมื่อกลั่นแล้วจะได้แอลพีจีส่วนหนึ่ง

ธุรกิจปลายน้ำ ได้แก่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธุรกิจกลางน้ำ ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน ปั๊มก๊าซ ตลอดจนคลังก๊าซต่างๆ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (ถุงขนม เก้าอี้พลาสติก ฯลฯ) ก็ถูกจัดเป็นขั้นธุรกิจปลายน้ำ

ดังนั้น เมื่อพูดถึงความเป็นธรรม (ตามที่กระทรวงพลังงานอ้าง) จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำมันกับกลุ่มผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงทุกคู่ของความสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆ ทุกขั้นตอนของธุรกิจด้วย เช่น

ในกลุ่มธุรกิจต้นน้ำ ได้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้รับสัมปทาน (ที่ได้กำไรปีละ 60-97% ของเงินลงทุน) กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียม

ครับ ผมกำลังเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดกำไรของบริษัทลงมา เพื่อให้รัฐได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ซึ่งประเทศอื่นๆ ไม่ว่า พม่า อินโดนีเซีย ตลอดจนสหรัฐอเมริกาเขาก็ทำกัน

ในกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือก็ทำนองเดียวกัน ต้นทุนในการเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติ(ที่จ่ายผลประโยชน์ให้รัฐในอัตราต่ำ) มาเป็นก๊าซหุงต้มควรจะได้ผลตอบแทนในอัตราเท่าใด จึงจะเกิดความเป็นธรรม

ถ้าบริษัทซึ่งได้รับวัตถุดิบในราคาถูกกว่าตลาดโลก เมื่อได้ผลผลิตคือก๊าซแอลพีจีมาขายในราคาตลาดโลก ผมว่ามันก็ไม่เป็นธรรม เดี๋ยวเราค่อยมาดูรายละเอียดกันหลังจากหัวข้อถัดไปนะครับ

สาม ความไม่เป็นธรรมในการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ

ความไม่เป็นธรรมในการให้ข้อมูลต่อสาธารณะของกระทรวงพลังงาน เท่าที่ผมได้ขลุกอยู่กับการขุดคุ้ยข้อมูลของกระทรวงพลังงานมานานเกือบยี่สิบปี ผมยังไม่เห็นระบบข้อมูลของกระทรวงที่อยู่ในลักษณะที่ให้คนสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ เลย เช่น ไม่มีราคาปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานขุดเจาะ (ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำ) ขายให้กับโรงแยกก๊าซและโรงกลั่น (ธุรกิจกลางน้ำ) เมื่อเทียบกับราคาในตลาดโลก ไม่มีข้อมูลว่าราคาแอลพีจีรวมทั้งราคาน้ำมันที่ผลิตในประเทศกับราคานำเข้ามีความแตกต่างกันเท่าใด ราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้เป็นที่เปิดเผยและเข้าใจได้ง่ายในประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว แต่ของประเทศไทยเราเป็นเรื่องยากส์สุดๆ ครับ

แต่มียอดกำไรตอนสิ้นปีของกิจการปลายน้ำปีละนับแสนล้านบาท แล้วจู่ๆ ทางกระทรวงพลังงานก็ยกเอาตัวเลขที่ไม่มีที่มาที่ไปออกมา (ดังเหตุผลในข้อที่ 1) เพื่อขอขึ้นราคากันเฉยๆ แล้วมันจะมีความน่าเชื่อถือได้หรือ เอาแค่เรื่องน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ดเมื่อเร็วๆ นี้ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจริงๆ แล้วน้ำมันรั่วออกมาเท่าใดกันแน่และตัวเลขนั้นประมาณการอย่างไร

ถามจริงๆ เถอะเรื่องการเปิดเคยข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นธรรมหรือธรรมาภิบาลไหม?

รัฐบาลบอกแต่เพียงว่า โรงแยกก๊าซมีต้นทุนที่ 550 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือประมาณกิโลกรัมละ 17.05 บาทต่อกิโลกรัม คำถามก็คือ ข้อมูลนี้เชื่อถือได้ไหม ในเมื่อราคาตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังที่ปรากฏมาแล้วในกราฟข้างต้น

จากข้อมูลในตารางข้างล่างนี้ ผมจะนำไปสู่ข้อสรุปว่า เราไม่อาจจะเชื่อถือตัวเลขต้นทุนการผลิตของโรงแยกก๊าซที่บอกว่ากิโลกรัมละ 17.05 บาทได้ กรุณาดูข้อมูลก่อนแล้วผมจะค่อยๆ อธิบายว่าข้อมูลเหล่านี้มาจากไหน

คอลัมน์ที่สองเป็นราคาก๊าซแอลพีจีจากแหล่งก๊าซสิริกิติ์ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเพียงแหล่งเดียวที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้นำราคามาเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยที่ในปี 2548 แหล่งนี้สามารถผลิตก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 1 แสนตันจากยอดผลิตรวมเกือบ 4 ล้านตัน สำหรับแหล่งอื่นๆ อีกหลายสิบแหล่งเขาไม่ได้ให้ข้อมูลเลยครับ

ดังนั้น ผมจึงขอสมมติว่าราคาต้นทุนการผลิตก๊าซแอลพีจีของแหล่งสิริกิติ์ซึ่งมีราคาเฉลี่ยเท่ากับ 11.67 บาทต่อกิโลกรัมเป็นต้นทุนเฉลี่ยของประเทศไทย ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ใช้คำนวณค่าภาคหลวงที่เจ้าของทรัพยากร (คือคนไทย) ได้รับ

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 ราคาแอลพีจีจากแหล่งสิริกิติ์กลับถูกลงกว่าเดิม คือเท่ากับ 9.12 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ไม่ใช่ 17.05 บาทตามที่กระทรวงพลังงานนำมาเสนอต่อสังคมอย่างไม่มีเหตุมีผล มันสูงกว่าเกือบเท่าตัวนะครับ

คอลัมน์ที่สามเป็นราคาหน้าโรงกลั่นซึ่งผมคำนวณออกมาจากข้อมูลของกระทรวงพลังงานโดยมีราคาเฉลี่ยเท่ากับ 12.70 บาทต่อกิโลกรัม เราไม่ทราบว่าทำไมราคาหน้าโรงกลั่นจึงได้แพงกว่าราคาจากแหล่งสิริกิติ์ถึง 1.03 บาทต่อกิโลกรัม หรือสูงกว่าจากแหล่งสิริกิติ์ถึง 8.8%

คอลัมน์ที่สี่เป็นราคาหน้าโรงกลั่นบวกกับค่าชดเชยจากกองทุนน้ำมัน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 15.34 บาท นั่นคือ โดยเฉลี่ยแล้วค่าอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีกิโลกรัมละ 2.60 บาท คิดเป็นมูลค่าที่อุดหนุนรวมในปีนั้นประมาณ 8,200 ล้านบาท เงินอุดหนุนนี้เข้าสู่กระเป๋าบริษัทธุรกิจกลางน้ำ

คอลัมน์ที่ห้าเป็นราคาตลาดโลกที่ผมประมาณมาจากเส้นกราฟของกองทุนน้ำมันซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนบ้าง (เพราะดูด้วยสายตา) ราคาเฉลี่ย 17.13 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับคอลัมน์สุดท้ายเป็นราคาเอฟโอบี (เพื่อการส่งออกที่ท่าเรือ (Mont Belvieu http://www.indexmundi.com/commodities/) ของประเทศสหรัฐอเมริกาเฉลี่ย 19.07 บาทต่อกิโลกรัม ผมนำมาเสนอก็เพื่อเปรียบกันหลายๆ แหล่ง

ผมหยิบเอาข้อมูลปี 2548 มานำเสนอก็เพราะเหตุผล 2 ประการคือ (1) ยังเป็นปีที่ประเทศไทยผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ ไม่มีการนำเข้าอย่างในปัจจุบัน มีแต่การส่งออกถึงเกือบ 1 ล้านตันหรือ 31% ของความต้องการภายในประเทศ และ (2) มีข้อมูลราคาแอลพีจีในตลาดโลกซึ่งอยู่ในรายงานของกองทุนน้ำมันมาเป็นตัวเปรียบเทียบ

จากการสังเกตจากตารางโดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2548 พบว่า แม้ราคาภายในประเทศจะต่ำ แต่ราคาที่บริษัทกลางน้ำได้รับเมื่อรวมกับค่าชดเชยแล้วก็ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก

ขอชัดๆ อีกทีครับ เฉพาะเดือนมกราคม ในขณะที่ราคาที่ผลิตจากประเทศไทยอยู่ที่ 11.77 บาท แต่ราคาบวกค่าชดเชยที่บริษัทได้รับเท่ากับ 14.54 บาทหรือคิดเป็น 99.3% ของราคาตลาดโลก

แล้วเงินชดเชยมาจากไหน ก็มาจากผู้ใช้น้ำมันที่กระทรวงพลังงานอ้างถึงตั้งแต่ต้น แต่กระทรวงฯ กล่าวไม่สุด คือไม่ยอมบอกด้วยว่าเงินชดเชยนี้เข้าไปอยู่ในกระเป๋าของบริษัทธุรกิจกลางน้ำ นี่คือกลลวงของรัฐบาลครับ

รัฐบาลมีความพยายามจะขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีมานานนับปีแล้ว แต่เพราะติดเทศกาลเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงต้องเลื่อนออกไป เพราะหามาตรการช่วยคนที่เดือดร้อนมากไม่ได้บ้าง แต่นับจากตอนที่คิดจะขึ้นราคา ปรากฏว่าราคาในตลาดโลกกลับลดลงมาตลอด ดังกราฟที่ผมนำมาเสนอข้างล่างนี้ (หมายเหตุ รัฐบาลอ้างราคานำเข้าที่ 900 เหรียญต่อตัน แต่ตลอดสองปีกว่ามานี้ราคาสหรัฐสูงสุดที่ 807 เหรียญเท่านั้น มั่วและโกหกชัดๆ)

แต่รัฐบาลเราจะขอขึ้นราคาอย่างเดียว และเมื่อขึ้นไปแล้วก็จะเป็นราคาคงที่อีก โดยไม่สนใจราคาตลาดโลก มันก็จะเป็นปัญหาอีก นี่คือ ความไม่เป็นธรรมในประการที่สองที่ผมได้ขอพักไว้ชั่วคราวครับ เขาซื้อทรัพยากรของเราไปในราคาถูกๆ แต่ขายให้ประชาชนในราคาสูงโดยอ้างราคาตลาดโลก มันเป็นเหตุผลที่รับได้หรือ?

สี่ ความไม่เป็นธรรมที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ใช้ก่อน(และราคาถูก)

ย้อนหลังไปประมาณ 15 ปี ประเทศไทยเราส่งออกก๊าซแอลพีจีมาตลอด แต่ในช่วง 5 ปีสุดท้าย ประเทศเราได้กลายเป็นประเทศนำเข้า ทั้งๆ ที่เราสามารถผลิตได้มากกว่าเดิมเสียอีก

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในช่วงหลังได้เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทเอกชน) ได้ใช้ก๊าซแอลพีจี (ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกว่าก๊าซหุงต้ม) ไปทำเป็นวัตถุดิบ ในอดีตภาคครัวเรือนใช้มากที่สุด แต่นับแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมา การใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้นำหน้าภาคครัวเรือนไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อเกิดปัญหาก๊าซไม่พอใช้ขึ้นมา รัฐบาลก็ไปตั้งกติกาให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ก่อน (ผ่านทางโรงแยกก๊าซโรงที่ 6) และใช้ในราคาถูกกว่าภาคยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ

นี่ก็คือความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนได้ถูกรัฐบาลปกปิดมาตลอด ทั้งๆที่ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของคนไทยทุกคน

ท่านผู้อ่านครับ เรื่องที่ผมกล่าวมาแล้ว อาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจ

เอาเรื่องที่เข้าใจง่ายกว่า ท่านเห็นว่ามีความเป็นธรรมไหม เช่น อดีตประธานบอร์ดบริษัทน้ำมันมาเป็นรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูงกระทรวงพลังงานควบตำแหน่งกรรมการบริษัท ปตท. เป็นต้น ปรากฏการณ์นี้ก็น่าจะจุดประกายให้ท่านผู้อ่านต้องหันมาสนใจในรายละเอียดของบทความนี้อีกรอบหนึ่งนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น