xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วัดใจคสช. ยกเลิกขึ้นค่าก๊าซ เร่งแยกท่อฯ - รื้อสูตรราคาน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ชายชาติทหารที่ออกหน้าอาสามาแก้วิกฤติชาติ เกือบเสียรังวัดเป็นกิ้งกือหกคะเมนตั้งแต่ไก่โห่ เพราะดันไปเจอเล่ห์เหลี่ยมสอดใส้ลักไก่ของกระทรวงพลังงานที่ใส่พานถวายให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.ในฐานะรองประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คสช. พิจารณาอนุมัติในหลายเรื่อง ทั้งขอปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี แถมด้วยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ที่ยังไม่ได้ผ่านประชาพิจารณ์ การขอกู้เงินมาโปะกองทุนน้ำมัน รวมถึงขอไฟเขียวเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยหวังว่าช่องทางลัดจากอำนาจเต็มของครส.จะช่วยให้อะไรๆ ที่ติดขัดค้างคาอยู่ง่ายขึ้น

แต่ที่ไหนได้ ทันทีที่พล.อ.อ.ประจิน ไฟเขียวให้ปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนอีก 50 สต./กก.ในวันที่ 1 มิ.ย. 2557 ตามนโยบายเดิมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ส่งผลให้ราคาแอลพีจีครัวเรือนขยับราคาไปอยู่ที่ 23.13 บาท/กก. สูงกว่าแอลพีจีภาคขนส่งซึ่งอยู่ที่ 21.38 บาท/กก. เสียงสวดคสช.จากประชาชนดังขึ้นเซ็งแซ่ ตั้งคำถามกันทั้งเมือง แชร์กันว่อนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไหนว่าคสช.จะคืนความสุขให้ประชาชน นี่มันทุกข์ซ้ำกรรมซัดชัดๆ เพราะที่ผ่านมาประชาชนก็ค้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่าปรับราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนซ้ำเติมประชาชนเลย แต่เธอก็ไม่ฟัง ถ้าคสช.ยังจะทำตามโดยไม่เปลี่ยนแปลงแล้วจะต่างกันตรงไหน มิหนำซ้ำ พล.อ.อ.ประจิน ยังเจอเน้นๆ อีกดอกด้วยการแชร์สถานะว่า ท่านเป็นหนึ่งในบอร์ดของบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

เจอกระแสสังคมไม่ตอบรับ คสช.จึงกลับลำด้วยการตรึงราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนไว้เช่นเดิม โดยให้ชะลอการปรับขึ้นราคาเอาไว้ก่อนที่ราคา ณ วันที่ 31 พ.ค. 2557 คือ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาก๊าซแอลพีจีนั้นตามกำหนดการเดิมจะมีการปรับขึ้นเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ไปจนถึงเดือนก.ย.2557

“อยากยืนยันแนวทางที่หัวหน้าคสช. (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มอบหมายไว้ 3 ประเด็น คือ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และราคาก๊าซแอลพีจีในครัวเรือนไว้ที่ราคาปัจจุบัน และหากมีการพิจารณาปรับโครงสร้างของราคาก๊าซเมื่อไร เราจะรีบปรับให้เกิดความเป็นธรรมในทันที …… ได้ฝากให้ปลัดกระทรวงพลังงานและทางปตท. ได้เร่งดำเนินการไปแล้วเมื่อช่วงบ่าย (1 มิ.ย.) เราพยายามทำงานเต็มที่ แต่บางเรื่องต้องยอมรับว่าเราได้ข้อมูลช้าไปนิด ดังนั้นการที่ทำให้ประชาชนบรรเทาความเดือดร้อน อะไรที่เราทำได้ก็จะทำทันที” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คสช. กล่าวในวันประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2557

ส่วนการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านพลังงานเสนอขึ้นมานั้น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คสช. ยอมรับว่า แต่ละเรื่องมีความซับซ้อนต้องใช้เวลาพิจารณาพอสมควรแต่จะพยายามสรุปให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้และจะเสนอไปยังหัวหน้า คสช. เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งนโยบายด้านพลังงานคสช.จะยึดหลัก 4 ข้อ คือ ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด, ทำให้เกิดความเป็นธรรม, บริหารจัดการให้เป็นไปตามกลไกตลาด และแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับพลังงานโดยเร็ว

อาการเสียรังวัดเล็กๆ ของท่านพล.อ.อ.ประจิน ทำให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านพลังงานรีบออกมานำเสนอและผลักดันให้คสช.รับฟังความเห็นและเปิดรับข้อมูลจากทุกภาคส่วน โดยกลุ่มก้อนที่สำคัญและมีบทบาทในเวลานี้มีอยู่ 2 กลุ่ม 2 ขั้ว หนึ่งคือ กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน นำโดย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรมว.กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีภาพเป็นตัวแทนกลุ่มทุนพลังงาน นักธุรกิจการเมือง และข้าราชการ กับกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.) นำโดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กรุงเทพฯ อดีตประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมภิบาล ซึ่งมีภาพเป็นตัวแทนของภาคประชาชน

กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนนั้น อวยพล.อ.อ.ประจิน ก่อนวกเข้าสู่จุดประสงค์หลักที่ผลักดันกันมานาน คือ การปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบอย่างจริงจังเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหรือพูดง่ายๆ ก็คือ อยากจะให้ปรับราคาพลังงานอิงราคาตลาดโลกนั่นเอง อย่าได้คิดว่าปู่ย่าตายายปลูกมะม่วงไว้ในสวนแล้วลูกหลานจะได้กินมะม่วงฟรีหรือซื้อหาถูกกว่าราคาตลาด

นายปิยสวัสดิ์ ร่ายยาวว่า กรณี คสช. ให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท และสั่งลดราคาก๊าซแอลพีจีสำหรับภาคครัวเรือนลง 50 สตางค์/กก. มาอยู่ที่ 22.63 บาท/กก. อิงราคาเดือน พ.ค. 57 ว่าเป็นโอกาสดีที่ คสช.จะปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบอย่างจริงจัง ทั้งน้ำมัน ก๊าซแอลพีจี และอื่นๆ โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ซึ่งทางกลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ เห็นว่าโครงสร้างราคาพลังงานในปัจจุบันมีการบิดเบือน อาทิ เบนซิน 95 ควรปรับลดราคาลงมา และจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบไม่อาจทำเสร็จได้ภายใน 1-2 เดือน แต่อย่างน้อยให้มีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์ประเทศชาติในระยะยาว ซึ่งการปรับโครงสร้างราคาพลังงานต้องใช้เวลาและจังหวะที่เหมาะสมด้วย ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังใช้เวลา 2-3 ปีในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน

“ในส่วนของแอลพีจีจะปรับราคาเป็นเท่าไหร่นั้นคงต้องมาศึกษาทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมากำหนดราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบหรือราคาก๊าซธรรมชาติปรับมาแล้ว 40% ขณะที่ราคาแอลพีจีตลาดโลก 816 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดังนั้นราคาแอลพีจีต้องดูให้เหมาะสมเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เช่นเดียวกับดีเซลที่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้อยมากจากเดิมที่เคยจัดเก็บ 5.30 บาท/ลิตร จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ที่มีการเสียภาษีมากกว่า”

นายปิยสวัสดิ์กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปพลังงานทดแทนว่า นอกจากจะยุบคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง รง.4 แล้ว คสช.ควรกำหนดให้โรงไฟฟ้าอยู่ในโรงงานจำพวกที่ 1 ไม่ต้องขอ รง.4 ให้ขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเท่านั้น และการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟทอป) ไม่ควรจัดอยู่ในกลุ่มโรงงาน โดยให้มีการแก้นิยาม พ.ร.บ.โรงงาน เพื่อไม่ให้มีนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ในเรื่องนี้ และโครงการโซลาร์รูฟท็อปมีการติดตั้งเพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ประชาชนที่ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น ก็จะลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า

ส่วนข้อเสนอปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทฯ หรือรัฐวิสากิจที่รัฐถือหุ้นอยู่ ทางกลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ มีข้อเสนอชัดเจนว่า การแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นกรรมการในบริษัทมหาชน และรัฐวิสาหกิจ โดยอยากให้บังคับใช้ในทุกรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะพลังงานเท่านั้น โดยคำนึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

กล่าวคือ บุคคลที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล ไม่ควรเป็นกรรมการในบริษัทมหาชนที่เกี่ยวข้อง รัฐควรแยกการกำหนดนโยบายออกจากการกำกับดูแล การตั้งคนเข้าเป็นกรรมการต้องมีความโปร่งใส อิงมาตรฐานสากล ซึ่งรัฐบาลที่แล้วตั้งคนใกล้ชิดเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นโอกาสดีที่จะปรับเปลี่ยนคนใหม่ เช่น อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน มีหน้าที่ให้ใบอนุญาตปั๊มน้ำมัน คลังน้ำมัน ไม่ควรเป็นกรรมการใน บมจ.ปตท., อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ให้ใบอนุญาตสัมปทานปิโตรเลียม ไม่ควรเป็นกรรมการใน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และปลัดกระทรวงพลังงาน ไม่ควรเป็นกรรมการ บมจ.ปตท. เป็นต้น และควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับกระทรวงอื่นๆ ด้วย เช่น ปลัดกระทรวงคมนาคม ไม่ควรเป็นกรรมการใน บมจ.การบินไทย เป็นต้น

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในกลุ่มปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐสูญเสียรายได้จากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ปีละ 1 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้น 3 แสนล้านบาท และการอุดหนุนราคาแอลพีจีนำเข้าทำให้ต้องเสียเงินกองทุนน้ำมันเพื่ออุดหนุนส่วนต่างราคาไปแล้ว 2 แสนล้านบาท

น่าสังเกตว่า คราวนี้นายปิยสวัสดิ์ ไม่พูดถึงเรื่องการแยกท่อก๊าซธรรมชาติออกจาก บมจ. ปตท. มาจัดตั้งเป็นบริษัทของรัฐ และให้บุคคลที่สามมีส่วนเข้าใช้จากปัจจุบันท่อส่งก๊าซฯ ผูกขาดโดยบมจ.ปตท. แต่เพียงผู้เดียว ทั้งที่เรื่องดังกล่าวนี้นายปิยสวัสดิ์ เคยเป็นหัวหอกสำคัญในการผลักดันให้การแยกท่อก๊าซฯ ออกมาจาก ปตท. ก่อนที่จะมีการแปรรูป ปตท. ด้วยซ้ำ แต่เมื่อรัฐบาลทักษิณ 1 เข้ามาบริหารประเทศและจัดตั้งกระทรวงพลังงาน แผนการแยกท่อก๊าซฯ ถูกล้มเลิกไปด้วยเหตุผลว่า ท่อก๊าซฯ เป็นธุรกิจผูกขาดที่ทำให้บมจ.ปตท. สามารถทำกำไรจากการผูกขาดธุรกิจก๊าซฯครบวงจรเอาไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว และกำไรนั้นถูกผ่องถ่ายออกไปสู่ผู้ถือหุ้นที่มีนักการเมืองและนอมินีรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในข้อเสนอปฏิรูปพลังงานของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ระบุไว้ในข้อเสนอ ข้อ 2. ว่า “ให้กิจการที่มีการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า และให้ บมจ.ปตท.ขายหุ้นทั้งหมดในโรงกลั่นบางจากและโรงกลั่น SPRC ส่วนกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ให้แยกออกจาก บมจ.ปตท.เพื่อความโปร่งใสและง่ายแก่การกำกับดูแล และเปิดให้มีการให้บริการใช้ท่อก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สามเพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือก” ก็ต้องติดตามต่อไปว่า กลุ่มนี้จะผลักดันการแยกท่อก๊าซฯ จริงจังหรือไม่ หรือแค่สร้างภาพปฏิลวงหลอกสังคมเล่นเท่านั้น ส่วนข้อเสนออื่นๆ เช่น การปรับเปลี่ยนบอร์ด, การปฏิรูปพลังงานทดแทน หากมองอย่างใจเป็นธรรมก็เห็นว่า เป็นข้อเสนอที่จะสร้างคณูปการให้แก่วงการพลังงานไม่น้อย

สำหรับอีกกลุ่มที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2557 ก็คือ กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน ที่ยื่นข้อเสนอเร่งด่วนต่อ คสช. 4 ข้อ ประกอบด้วย

1. ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองโดยเท่าเทียมกันกับภาครัฐและภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ประเด็นการแยกโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาตั้งเป็นบริษัทใหม่และแปรรูปเป็นเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ การขายหุ้นปตท. เป็นต้น

2. ให้ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือก๊าซแอลพีจีกับประชาชน โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

2.1ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ที่ให้มีการจัดสรรก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศให้ภาคปิโตรเคมีใช้เป็นลำดับแรกร่วมกับภาคครัวเรือนออกไปเสียก่อน เนื่องจากก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศถูกภาคปิโตรเคมีใช้มากเป็นอันดับหนึ่ง จนไม่พอเพียงต่อการใช้ของภาคส่วนและต้องมีการนำเข้า โดยภาระการนำเข้าเป็นของประชาชนทั้งหมด

2.2ให้มีมติในการจัดสรรก๊าซแอลพีจีขึ้นใหม่ โดยให้ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน ต้องจัดสรรให้ประชาชนใช้ก่อนโดยเฉพาะภาคครัวเรือน ด้วยราคาตามต้นทุนที่แท้จริงบวกกำไรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิต มิใช่อิงราคาตลาดโลก เมื่อเหลือจึงให้ภาคอื่นใช้ หากไม่พอให้ภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทเป็นผู้รับภาระการนำเข้าเอง โดยให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติต้องเผยแพร่รายงานต้นทุนการประกอบการที่แท้จริง

2.3ให้ลดราคาก๊าซแอลพีจีของภาคครัวเรือนให้กลับไปเท่ากับราคาก๊าซแอลพีจีของภาคขนส่งที่ 21.38 บาท/กก. เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ข้ามประเภทระหว่าง 2 กลุ่มนี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการลักลอบใช้ก๊าซแอลพีจีของภาคอุตสาหกรรมมิให้มีการใช้ผิดประเภท และการลักลอบส่งขายต่างประเทศ

3. ให้ยกเลิกโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่อิงราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ โดยให้ยกเลิกการเก็บค่าพรีเมียม เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าความสูญเสียระหว่างการขนส่ง จากประเทศสิงคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทยซึ่งไม่มีจริง และให้รัฐบาลกำหนดราคาจำหน่ายเชื้อเพลิงสำเร็จรูปตามราคาส่งออกจากไทยซึ่งกำหนดโดยกลไกตลาดโลก และให้บริษัทน้ำมันเผยแพร่รายงานต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่น

4. ให้ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้มีตัวแทนของภาคประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย

น.ส.รสนา กล่าวว่า อยากให้การปฏิรูปพลังงานเกิดจากการพูดคุยด้วยข้อมูลที่อยู่บนหลักการของความถูกต้องไม่ใช่เป็นไปในแนวทางของประชานิยมที่พลังงานมีราคาถูกเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการไม่ผูกขาดด้วย

"หาก คสช.ต้องการคืนความสุขให้ประชาชนต้องเร่งดูแลเรื่องปากท้องของประชาชน โดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เราไม่ได้บอกว่าให้ผู้ทำธุรกิจไม่มีกำไร แต่การได้กำไรต้องอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสมไม่ใช่ผลักภาระของภาคธุรกิจทั้งหมดมาให้ประชาชน" น.ส.รสนา กล่าว

ในการยื่นหนังสือต่อคสช.ตามประเด็นดังกล่าวข้างต้น น.ส.รสนา ยังเน้นย้ำว่า ขอให้คสช.ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ให้มีการจัดสรรก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศให้ภาคปิโตรเคมีใช้เป็นลำดับแรกร่วมกับภาคครัวเรือนออกไปเสียก่อน เนื่องจากก๊าซแอลพีจีที่ได้ผลิตในประเทศถูกภาคปิโตรเคมีใช้มากเป็นอันดับหนึ่งจนไม่เพียงพอต่อการใช้ของภาคส่วนอื่น และต้องมีการนำเข้าโดยภาระการนำเข้าเป็นของประชาชนทั้งหมด

ส่วนเรื่องสัมปทานปิโตรเลียม ที่กลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงาน ยังไม่ผลักดันเป็นเรื่องเร่งด่วนเสนอ คสช.นั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตส.ว. สรรหา ได้กระทุ้งโดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “2 ด้านของเหรียญที่ต้องอยู่คู่กัน” ใจความว่า “การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานกับการปฏิรูปพลังงาน คิดให้ดีแล้วเป็น 2 ด้านของเหรียญที่ต้องอยู่คู่กัน การลงทุนต้องใช้เงินมหาศาลในขณะที่สถานการณ์ไม่เอื้อต่อการเก็บภาษีเพิ่มแต่จะใช้เงินกู้ก็มีกรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดเพดานไว้ ในขณะที่การปฏิรูปพลังงานตั้งแต่ต้นทางคือเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมในบ้านเราจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลกำไร จะทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้นพอมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยยังไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่มและไม่ต้องพึ่งเงินกู้อย่างเดียว

สมมติว่าได้ส่วนแบ่งเพิ่มมากขึ้นแค่ปีละ 1 แสนล้านบาท ก็พอทำอะไรได้ไม่น้อยแล้ว นี่ยังไม่ต้องพูดถึงผลที่ตามมาอีกว่าประชาชนในประเทศมีโอกาสบริโภคพลังงานในราคาที่เป็นธรรมด้วย

ระบบสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 2514 โดยใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้น้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาได้มีโอกาสใช้ในประเทศเลย เพราะบัญญัติไว้ในมาตรา 64(2) ว่า

“ให้ผู้รับสัมปทานได้รับหลักประกันว่า...รัฐจะไม่จำกัดการส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักร...”

43 ปีผ่านไป หลักการนี้ยังไม่เคยเปลี่ยน โดยเฉพาะกับผู้รับสัมปทานรุ่นแรกตามระบบ “THAILAND 1” ที่จะยังมีอายุสัมปทานเหลืออยู่ (บวกต่ออายุ) ถึงปี 2566

นอกจากให้สิทธิผู้รับสัมปทานส่งออกน้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาได้โดยไม่จำกัดแล้ว พ.ร.บ.ปิโตรเลียมยังระบุไว้ในมาตรา 57 (1) และ (2) ว่าหากจะขายน้ำมันดิบภายในราชอาณาจักรก็ให้ขายในราคาตลาดโลก ดังนี้

“ในกรณีที่ยังไม่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาน้ำมันดิบที่สั่งซื้อจากต่างประเทศส่งถึงโรงกลั่นน้ำมันภายในราชอาณาจักร” - มาตรา 57(1)

“ในกรณีที่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาเฉลี่ยที่ได้รับจริงสำหรับน้ำมันดิบที่ผู้รับสัมปทานทุกรายส่งออกนอกราชอาณาจักรในเดือนปฏิทินที่แล้วมา...” - มาตรา 57(2)

กฎหมายเขียนเพื่อประโยชน์ผู้รับสัมปทานเพื่อการส่งออกจริงๆ เพราะจะมีกรณีเดียวที่การขายในราชอาณาจักรจะถูกลง ก็ต่อเมื่อเกิดเงื่อนไขตามมาตรา 57(3) คือน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศมีปริมาณ 10 เท่าขึ้นไปของความต้องการใช้ในราชอาณาจักรเท่านั้น

ก่อนจะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 หลักการนี้จึงควรได้รับการทบทวน” นายคำนูณ ระบุ

กระแสปฏิรูปพลังงานร้อนแรงขึ้นและกลายเป็นข้อเรียกร้องหลักของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่เดือดร้อนกันถ้วนหน้า ต้องวัดใจคสช.ว่าจะกล้าปฏิรูปพลังงานทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้านี้จะหาญกล้ารื้อโครงสร้างราคาพลังงานทั้งก๊าซฯ น้ำมัน ที่ไม่เป็นธรรมและแพงเกินเหตุหรือไม่ ปวงประชาหน้าแห้งโปรดรอคอยและติดตามอย่างมีความหวัง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังถูกสังคมเฝ้าจับตามองในทุกฝีก้าวสำหรับนโยบายในการปฏิรูประบบพลังงานแห่งชาติ
กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน(จพป.) นำโดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กทม.ที่ติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องการปฏิรูปพลังงานอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น