“รสนา” เสนอ คสช.ยกเลิกขึ้นราคาก๊าซหุงต้มทันที ชี้เป็นนโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อน ไม่กระทบโครงสร้างราคาส่วนอื่น เพราะเงินถูกนำไปชดเชยให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จริง พร้อมแนะอย่าแค่ลดราคาน้ำมันโดยไม่แก้ไขโครงสร้างที่ข้าราชการ ก.พลังงานผูกไว้หลายชั้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นได้เพียงประชานิยมชั่วคราว
วานนี้ (25 พ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” ว่า มีข่าวร่ำลือออกมาว่า คสช.อาจจะพิจารณาลดราคาน้ำมันลงไป 30% แต่การรีบลดราคาโดยไม่ได้เข้าไปแก้ไขโครงสร้างราคาน้ำมัน ที่ข้าราชการในกระทรวงพลังงานที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงานได้ผูกไว้หลายชั้น จะทำให้การลดราคาน้ำมันเป็นเพียงการทำโปรโมชันประชานิยมแบบชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
สิ่งที่ คสช.สามารถทำได้ทันทีเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ คือ การยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มซึ่งจะทำได้ทันทีโดยไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างราคาส่วนอื่น
รัฐบาลที่แล้วได้ขึ้นราคาก๊าซหุงต้มมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 โดยทยอยปรับขึ้นราคาเดือนละ .50 บาท/กิโลกรัม ทำให้ราคาก๊าซหุงต้มต่อถัง 15 กิโลกรัมในขณะนี้มีราคาตั้งแต่ 350-390 บาท เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาอาหารและค่าครองชีพปรับสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย
ที่กล่าวว่าการยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มให้กลับมาที่ราคาเดิม คือราคาถังละ 290-300 บาท ไม่กระทบโครงสร้างอื่น เพราะเงินที่กระทรวงพลังงานเก็บเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มนั้น กระทรวงพลังงานได้นำมาเก็บไว้ในกองทุนน้ำมัน โดยอ้างว่าเพื่อจะได้ลดภาระการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน
แต่ข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริงเพราะปัจจุบันมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มจากเดิมลิตรละ 7 บาทเป็นลิตรละ 10 บาทในขณะนี้
ปตท.เคยออกมาให้ข่าวว่า ปตท.ไม่ได้รับเงินค่าก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของกระทรวงพลังงานในขณะนี้ ดังนั้น เงินที่เก็บเพิ่มขึ้นจากผู้ใช้ก๊าซหุงต้มจึงถูกนำไปกองอยู่ในกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นกองทุนที่ผิดกฎหมายตามที่คณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว
เงินจากกองทุนน้ำมันถูกนำไปชดเชยก๊าซหุงต้มที่มาจากโรงกลั่นน้ำมัน และชดเชยการนำเข้าก๊าซโพรเพน และบิวเทนที่นำไปใช้โดยตรงได้เลยในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่อ้างว่านำก๊าซทั้ง 2 ชนิดมาผสมเป็นก๊าซแอลพีจี หรือที่เรียกว่าก๊าซหุงต้ม มาขายประชาชนในราคาอุดหนุนที่รัฐบาลกำหนดให้มีราคาต่ำกว่าต้นทุนของโรงกลั่นและราคานำเข้า จึงต้องเอาเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชย
ทั้งที่ปริมาณก๊าซหุงต้มที่ผลิตจากอ่าวไทยผ่านโรงแยกก๊าซทั้ง 6 โรงมีปริมาณเกินพอสำหรับภาคครัวเรือน แต่นโยบายที่รัฐบาลสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กำหนดขึ้นใหม่เพื่อให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาใช้ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซได้ก่อนร่วมกับภาคครัวเรือน และกำหนดว่าถ้ามีก๊าซแอลพีจีเหลืออยู่จากโรงแยกก๊าซ หลังจากที่ปิโตรเคมีและภาคครัวเรือนใช้ ค่อยให้ภาคยานยนต์และภาคอุตสาหกรรมอื่นใช้ ถ้าไม่พอใช้ก็ให้นำเข้าจากต่างประเทศและเอาเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชย
ปริมาณก๊าซแอลพีจีที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซที่มาจากอ่าวไทย มีปริมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี ภาคครัวเรือนของประชาชน 65 ล้านคนใช้ก๊าซหุงต้มเพียง 2.6 ล้านตันต่อปี ถ้ารัฐบาลกำหนดนโยบายให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก๊าซหุงต้มที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซในประเทศก่อนผู้ใช้กลุ่มอื่นก็มีปริมาณเพียงพอสำหรับประชาชน 65 ล้านคนในภาคครัวเรือน โดยไม่ต้องไปใช้ก๊าซนำเข้าที่มีราคาแพงกว่าของผลิตเองในประเทศ ซึ่งการที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรจากแผ่นดินที่บรรพบุรุษของตนมีส่วนในการต่อสู้ ได้เสียเลือดเนื้อเพื่อปกป้องแผ่นดินนี้ไว้ สมควรจะได้รับการดูแลจากรัฐบาลก่อนธุรกิจเอกชนอื่นที่มุ่งแสวงหากำไรเพื่อองค์กรของตัวเอง (ดูรูปที่ 1)
ปริมาณก๊าซแอลพีจีจากทรัพยากรของเราเองในอ่าวไทยมีเพียงพอสำหรับภาคครัวเรือนโดยไม่ต้องมาขึ้นราคากับประชาชนคนส่วนใหญ่ แต่จะไม่เพียงพอเมื่อเอาปิโตรเคมีมาใช้ร่วมด้วยในโรงแยกก๊าซก่อนผู้ใช้กลุ่มอื่นเพราะปิโตรเคมีกินจุ กินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงระยะ 5-6 ปี ใช้ปริมาณเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านตัน แต่ใช้ราคาถูกกว่าผู้ใช้กลุ่มอื่น
ก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซที่เหลือจากการใช้ของภาคครัวเรือน สามารถจัดสรรให้ผู้ใช้กลุ่มอื่นในราคาที่เหมาะสม แต่ถ้าต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจี เพราะปริมาณไม่พอใช้ ก็ควรให้ภาคปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นธุรกิจแสวงหากำไรไปรับผิดชอบราคาที่นำเข้าเอง ก็จะไม่ต้องมาขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกับคนรายได้น้อยที่อยู่ในภาคครัวเรือน
อีกประการหนึ่ง การใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยก๊าซแอลพีจีจากการนำเข้า และแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศตั้งแต่ปี 2551-2555 มีมูลค่ารวมสูงถึง 84,941 ล้านบาท หากนำเม็ดเงินจากกองทุนน้ำมันที่เอาไปชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจี เปลี่ยนมาสร้างโรงแยกก๊าซในประเทศเเทน น่าจะได้โรงแยกก๊าซเพิ่มอีก 2-3 โรง (ดูรูปที่ 2)
การมีโรงแยกก๊าซเพิ่มจะทำให้สามารถรองรับก๊าซดิบจากอ่าวไทยที่ยังเหลืออยู่จำนวนมาก แต่เพราะมีโรงแยกก๊าซไม่พอ ทำให้ต้องเอาก๊าซดิบไปเผาทิ้งในโรงไฟฟ้า โดยไม่แยกก๊าซแอลพีจีออกมาก่อน เปรียบเหมือนเอาไม้สักที่ปนอยู่กับเศษไม้ไปเผาทิ้งอย่างน่าเสียดาย
ลองดูโรงแยกก๊าซ 4 โรงที่สร้างจากเงินภาษีของประชาชน ตอนแปรรูป ปตท.ถูกตีมูลค่าเพียง 3,212 ล้านบาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลายเป็นเครื่องมือทำกำไรให้กับกลุ่มทุนพลังงานแทนที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน (ดูรูปที่ 3)