xs
xsm
sm
md
lg

เอาแน่!ปรับโครงสร้างพลังงาน ชงคสช.สัปดาห์หน้า จปพ.เสนอ4แนวทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ประจิน"เดินหน้าปรับโครงสร้างพลังงาน เร่งรวบรวมข้อมูลทั้งจากกระทรวงพลังงานและปตท. คาดแล้วเสร็จสัปดาห์นี้ ก่อนเสนอ คสช. เคาะสัปดาห์หน้า ยังไม่พูดเรื่องโละบอร์ด ปตท. ด้านเครือข่ายประชาชนและนักวิชาการเปิดตัวกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.) ชง 4 แนวทางเร่งด่วนให้ คสช. พิจารณา เน้นลดราคาแอลพีจีครัวเรือน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เลิกโครงสร้างราคาน้ำมันที่บิดเบือน และเปิดให้ประชาชนร่วมกำหนดนโยบายพลังงาน "คำนูญ" ชำแหละ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมไม่เป็นธรรมต่อคนไทย แนะทบทวนก่อนเปิดสัมปทานรอบใหม่

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังเข้าหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพลังงานและผู้บริหารระดับสูงบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) วานนี้ (4มิ.ย.) ว่า ได้หารือการปรับโครงสร้างพลังงานภาพรวม ซึ่งจะเร่งรวบรวมข้อมูลให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อส่งมอบให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะหัวหน้าคสช. พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) คาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ แต่ไม่มีการพูดเรื่องการปรับบอร์ด ปตท. แต่อย่างใด

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรุงเทพมหานคร กล่าวหลังการเปิดตัวกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย(TER Watch) หรือจปพ. ว่า จปพ.ต้องการเสนอเรื่องเร่งด่วนให้ คสช. เร่งดำเนินการ 4 เรื่องสำคัญคือ 1.ให้ลดราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันมีราคา 22.63 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) มาเท่าภาคขนส่งที่ 21.38 บาทต่อกก. เพื่อความเป็นธรรมและลดความเหลี่ยมล้ำของราคาเพื่อป้องกันการลักลอบการใช้ผิดประเภท และขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อ19 พ.ย.2551 ที่มีการจัดสรรแอลพีจีที่ผลิตในประเทศให้กับกลุ่มปิโตรเคมีใช้เป็นลำดับแรกร่วมกับครัวเรือนออกไป เพราะกรณีดังกล่าว ทำให้มีการนำเข้าแอลพีจีและผลักภาระให้ประชาชนผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับภาระแทน แล้วให้จัดสรรแอลพีจีใหม่ที่ผลิตได้ในอ่าวไทย ต้องจัดสรรให้ประชาชนก่อน หลังจากนั้นให้ดูโครงสร้างราคาภาพรวม เพื่อให้เกิดเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

2.ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองโดยเท่าเทียมกันกับภาครัฐและภาคธุรกิจ เช่น การแยกท่อก๊าซฯ ของปตท. ขณะนี้มีการแยกเฉพาะท่อบนบก แต่ท่อทางทะเลกลับไม่คืน ทั้งที่มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไปแล้ว และมีการเสนอให้แยกท่อก๊าซฯ เพื่อลักไก่แปรรูปเป็นเอกชน จึงเห็นว่าควรจะชะลอออกไปก่อน และให้หาแนวทางดำเนินการร่วมกันที่เป็นประโยชน์สูงสุดอีกครั้ง เป็นต้น

3.ให้ยกเลิกโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่อิงราคาสิงโปร์แล้วบวกค่าพรีเมี่ยม เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าความสูญเสียระหว่างการขนส่งจากสิงคโปร์มายังโรงกลั่นไทย เพราะมันไม่มีจริง และให้บริษัทน้ำมันเผยแพร่รายงานต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

4.ให้ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้มีตัวแทนภาคประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้ภาคประชาชนได้ร่วมกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาพลังงานของไทย และไม่ควรจะมีบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา สมุทรสงคราม กล่าวว่า กลุ่ม จปพ. ไม่ได้เน้นเรื่องราคาพลังงานให้ถูกลงตามที่หลายฝ่ายระบุ แต่ต้องการให้ราคาเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมา มีการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม และกลุ่ม จปพ. ที่เกิดจากการรวมตัวของภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะไม่ต้องการให้อีแอบมากระซิบ เพื่อกำหนดนโยบายให้เป็นไปในทิศทางที่บิดเบือน

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพลังงาน กล่าวว่า กรณีของราคาแอลพีจีที่ให้มีราคาต่ำ นับเป็นกับดักให้นำไปอ้างให้เห็นว่ามีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ใช้น้ำมันไปจ่ายชดเชย ซึ่งกรณีนี้ หากมีการทำโครงสร้างราคาให้เหมาะสมทั้งครัวเรือน ขนส่ง ปิโตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะปิโตรและอุตสาหกรรมควรรับภาระนำเข้า เพราะถือเป็นธุรกิจที่ควรจะมีการแข่งขันแบบเสรี ก็จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ไม่ต้องจ่ายชดเชย ที่สุดก็ลดราคาน้ำมันได้ และท้ายสุดก็สามารถยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ ได้ ซึ่งรายละเอียดทางกลุ่มจะได้มีการชี้แจงอีกครั้ง

สำหรับกลุ่ม จปพ. เบื้องต้นที่รวมตัว 11 คน และอนาคตจะมีเพิ่มขึ้นอีก ประกอบด้วย 1.นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด 2.นายประสาท มีแต้ม 3.นายไพบูลย์ ช่วงทอง 4.นายศุภกิจ นันทะวรการ 5.นายสันติสุข โสภณสิริ 6.มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี 7.น.ส.จริยา เสนพงศ์ 8.นายธารา บัวคำศรี 9.นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา 10.น.ส.รสนา โตสิตระกูล 11.น.ส.บุญยืน ศิริธรรม

วันเดียวกันนี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “คำนูณ สิทธิสมาน” ภายใต้หัวข้อ “2 ด้านของเหรียญที่ต้องอยู่คู่กัน” ใจความว่า การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานกับการปฏิรูปพลังงาน คิดให้ดีแล้วเป็น 2 ด้านของเหรียญที่ต้องอยู่คู่กัน การลงทุนต้องใช้เงินมหาศาลในขณะที่สถานการณ์ไม่เอื้อต่อการเก็บภาษีเพิ่ม แต่จะใช้เงินกู้ ก็มีกรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดเพดานไว้ ในขณะที่การปฏิรูปพลังงานตั้งแต่ต้นทาง คือ เปลี่ยนระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมในบ้านเราจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลกำไร หรือ profit sharing จะทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้นพอมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยยังไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่มและไม่ต้องพึ่งเงินกู้อย่างเดียว สมมติว่าได้ส่วนแบ่งเพิ่มมากขึ้นแค่ปีละ 1 แสนล้านบาท ก็พอทำอะไรได้ไม่น้อยแล้ว นี่ยังไม่ต้องพูดถึงผลที่ตามมาอีกว่าประชาชนในประเทศมีโอกาสบริโภคพลังงานในราคาที่เป็นธรรมด้วย

ระบบสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 2514 โดยใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้น้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาได้มีโอกาสใช้ในประเทศเลย เพราะบัญญัติไว้ในมาตรา 64(2) ว่า “ให้ผู้รับสัมปทานได้รับหลักประกันว่า รัฐจะไม่จำกัดการส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักร”

43 ปีผ่านไป หลักการนี้ ยังไม่เคยเปลี่ยน โดยเฉพาะกับผู้รับสัมปทานรุ่นแรกตามระบบ “THAILAND 1” ที่จะยังมีอายุสัมปทานเหลืออยู่ (บวกต่ออายุ) ถึงปี 2566

นอกจากให้สิทธิผู้รับสัมปทานส่งออกน้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาได้โดยไม่จำกัดแล้ว พ.ร.บ.ปิโตรเลียมยังระบุไว้ในมาตรา 57 (1) และ (2) ว่าหากจะขายน้ำมันดิบภายในราชอาณาจักรก็ให้ขายในราคาตลาดโลก ดังนี้

"ในกรณีที่ยังไม่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาน้ำมันดิบที่สั่งซื้อจากต่างประเทศส่งถึงโรงกลั่นน้ำมันภายในราชอาณาจักร” - มาตรา 57(1)

“ในกรณีที่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาเฉลี่ยที่ได้รับจริงสำหรับน้ำมันดิบที่ผู้รับสัมปทานทุกรายส่งออกนอกราชอาณาจักรในเดือนปฏิทินที่แล้วมา” - มาตรา 57(2)

กฎหมายเขียนเพื่อประโยชน์ผู้รับสัมปทานเพื่อการส่งออกจริงๆ เพราะจะมีกรณีเดียวที่การขายในราชอาณาจักรจะถูกลง ก็ต่อเมื่อเกิดเงื่อนไขตามมาตรา 57(3) คือน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศมีปริมาณ 10 เท่าขึ้นไปของความต้องการใช้ในราชอาณาจักรเท่านั้น

"ก่อนจะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 หลักการนี้ จึงควรได้รับการทบทวน” นายคำนูณระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น